xs
xsm
sm
md
lg

ทม.อ่างศิลาพร้อมยกระดับท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม หลังปรับปรุงพระตำหนักมหาราช-ราชินีแล้วเสร็จ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


พระตำหนักราชินี (ตึกเหลือง)
ศูนย์ข่าวศรีราชา - เทศบาลเมืองอ่างศิลา ทุ่มงบก้อนใหญ่ปรับปรุงพื้นที่รอบพระตำหนักมหาราช-ราชินี หลังปรับปรุงตัวอาคารแล้วเสร็จ เล็งยกระดับท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คืนชีพตลาดชุมชนพื้นบ้านอนุรักษ์อาหารโบราณ คู่จุดขายใหม่ “หินโผล่” อายุกว่า 2 ล้านปี

นายวินัย พ้นภัยพาล นายกเทศมนตรีเมืองอ่างศิลา เผยว่าหลังจากที่เทศบาลเมืองอ่างศิลาได้ปิดพื้นที่โดยรอบพระตำหนักมหาราช (ตึกขาว) และพระตำหนักมหาราชินี (ตึกแดง) ที่สร้างมาตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2440 เพื่อปรับปรุงให้กลับมามีความสวยงามดังเดิมหลังอยู่ในสภาพทรุดโทรมอย่างหนัก โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีภายใต้งบประมาณดำเนินการ 17 ล้านบาท ที่ได้รับจากกรมศิลปากร ภายใต้การสนับสนุนของนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งขณะนี้ได้แล้วเสร็จเป็นที่เรียบร้อย

และได้เริ่มเปิดให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวได้เข้ามาศึกษาประวัติศาสตร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งกรมศิลปากรได้ทำการเปลี่ยนสีตึกมหาราช จากเดิมที่เป็นสีขาวให้เป็นสีแดงตาม เดิมและเปลี่ยนสีพระตำหนักราชินี จากสีแดงให้เป็นสีเหลืองตามที่กรมศิลปากรตรวจพบ

และหลังจากนี้เทศบาลยังมีแผนที่จะปรับปรุงพื้นที่โดยรอบพระตำหนักทั้ง 2 แห่งให้มีความทันสมัย สวยงามและร่มรื่นเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต โดยได้มอบหมายให้กรมศิลปากรเป็นผู้ออกแบบการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบทั้งหมดภายใต้งบดำเนินการ 30 ล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาอีก 2 ปีจึงจะแล้วเสร็จ รวมทั้งการปรับเปลี่ยนรั้วโดยรอบพระตำหนักทั้งหมด

รอยพระพุทธบาทภายในพื้นที่พระตำหนัก
แต่จะยังคงต้นไม้เก่าแก่ที่มีอายุนับร้อยปีไว้ให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้จัก เช่น ต้นจันทร์กะพ้อ และต้นโพธิ์ทะเล รวมทั้งต้นมะขามที่อยู่ด้านหน้าพระตำหนักราชินี ซึ่งในหลวง ร.9 และสมเด็จพระพันปีหลวง ได้เคยเสด็จพระราชดำเนินมาปลูกไว้

“นอกจากพระตำหนักเหลืองและพระตำหนักแดงที่จะกลับมาเป็นจุดขายทางการท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์แล้ว วันนี้เรายังได้รับการยืนยันจากนักธรณีวิทยา มหาวิทยาลัยสุรนารี จ.นครราชสีมา ว่าหินที่อยู่โดยรอบพระตำหนักหรือที่ชาวบ้านอ่างหินในอดีตเรียกกันว่า “หินโผล่” ซึ่งเป็นหินที่มีความแข็งแรงและมีประกายระยิบระยับดุจเพชรเป็นหินที่มีอายุมากกว่า 2.2 ล้านปีและมีก่อนยุคไดโนเสาร์ ซึ่งเราจะใช้เป็นจุดขายในการเชิญชวนให้นักท่องเที่ยวให้เข้าชมคู่กับหินหน้าคนที่ชายทะเล ”

หินโผล่ ที่มีลักษณะคล้ายหน้าคน
นายกเทศมนตรีเมืองอ่างศิลา ยังบอกอีกว่าในอดีตเมืองอ่างหิน หรือเมืองอ่างศิลา เป็นเมืองแฝงที่มีเรือกลไฟของชาวจีนเข้ามาจอดเทียบท่าอยู่เป็นประจำเนื่องจากไม่มีคลื่นลม อีกทั้งในหลวง รัชกาลที่ 5 ยังได้เสด็จมาประพาสและพำนักที่เมืองอ่างหินก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินไปยังเกาะสีชัง จึงทำให้ในพื้นที่มีวัดเก่าแก่มากมาย

เช่น วัดเสม็ด วัดอ่างศิลา และวัดเตาปูน ที่เคยเป็นที่พักทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อครั้งเดินทัพมาจากวัดใหญ่อินทราราม และได้สร้างเตาปูนไว้จนกลายเป็นชื่อวัดเตาปูนในปัจจุบัน นอกจากนั้น ในวัดแห่งนี้ยังมีองค์หลวงพ่อปากแดง ที่มีประชาชนและนักท่องเที่ยวเข้ามากราบไหว้เป็นจำนวนมากอีกด้วย

“เมืองอ่างหิน หรืออ่างศิลาในอดีตถือเป็นเมืองที่มีชุมชนอยู่ 3 ชุมชนคือ ชุมชนบ้านกลาง ชุมชนบ้านจีน และชุมชนบ้านไทย จึงทำให้ในพื้นที่มีวัดจีนอยู่เป็นจำนวนมาก และมีประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจโดยเฉพาะกำเนิดของครกหินอ่างศิลา ที่ในวันนี้มีราคาสูงสุดถึงใบละ 5 พันบาท และชาวจีนในอดีตได้ใช้หินโผล่ทำเป็นครกแทนหินไม้ เพราะมีความแข็งแกร่งและตำได้แหลกจึงได้รับความนิยมที่สำคัญหินโผล่ในปัจจุบันได้กลายเป็นหินที่หายากแล้ว”

สำหรับแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวของเมืองอ่างศิลานับจากนี้ เทศบาลยังจะส่งเสริมให้ตลาดประมงพื้นบ้านและตลาดสะพานปลาเป็นที่รู้จักมากขึ้น หลังในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาตลาดแห่งนี้เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมากเนื่องจากการเดินทางที่สะดวก


โดยเฉพาะในช่วงวันเสาร์ อาทิตย์ และเทศกาลต่างๆ ที่จะมีนักท่องเที่ยวพากันออกมาหาซื้ออาหารทะเลที่มีความสด สะอาดและราคาไม่แพง ซึ่งเทศบาลได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจหาสารเคมีในสัตว์ทะเลที่นำมาขายสัปดาห์ละหลายครั้งจึงทำให้นักท่องเที่ยวมีความมั่นใจในความปลอดภัยของอาหาร

“หลังจากที่ปรับปรุงให้เรือประมงพื้นบ้านสามารถนำอาหารทะเลขึ้นมาขายให้พ่อค้าแม่ค้าในตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลาได้ทันทีโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ทำให้ความเป็นอยู่ของชาวบ้านและการค้าขายดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลต่างๆ ตลาดประมงพื้นบ้านอ่างศิลามีเงินสะพัดหลายสิบล้านบาทจากการค้าขาย”

นอกจากนั้น เทศบาลยังมีแผนที่จะปลุกตลาด 103 ปีอ่างศิลาให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง หลังการพัฒนาพื้นที่โดยรอบพระตำหนักแล้วเสร็จ ซึ่งจะเปิดให้ชาวบ้านได้นำอาหารพื้นถิ่น เช่น ขนมลำเจียก ขนมเรไร และอาหารทะเล รวมทั้งสินค้าพื้นเมืองเข้ามาขาย 

และยังจะทำน้ำตก รวมทั้งพัฒนาแอ่งน้ำที่ ในหลวงรัชกาลที่ 5 ได้สร้างไว้ให้ชาวบ้านได้มีน้ำใช้ที่ขณะนี้อยู่ในสภาพทรุดโทรมให้กลับมาสวยงามเหมาะกับการเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ

บ่อน้ำที่ไม่เคยขาดน้ำ
อนึ่ง ตึกมหาราช หรือตึกขาวในอดีต เป็นตึกเก่าโบราณที่รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นพระตำหนักของในหลวงรัชกาลที่ 5 หรือพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้นสีขาวหลังคาทรงปั้นหยา เอียงลาดมาทางด้านหน้าเป็นจั่วมุงกระเบื้อง ไม่มีชายคายื่นจากผนังโดยรอบ ไม่มีกันสาดบังแดดฝนให้แก่หน้าต่าง

ใช้ซุ้มโค้งครึ่งวงกลมตรงชั้นล่าง ส่วนหน้ามุข มีบันไดทางขึ้นแยกเป็น 2 ทางขึ้นสู่มุขตรงกลางอาคาร รูปแบบทางสถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบไทย

ส่วนตึกมหาราชินี หรือตึกแดงในอดีต เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น ตั้งอยู่ริมทะเลปากทางเข้าตลาดเก่าอ่างศิลา ปัจจุบันเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา ตึกแดงหรือตึกเหลืองในปัจจุบัน นับเป็นที่พักตากอากาศแห่งแรกไทยสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และบูรณะปฏิสังขรณ์โดยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในระหว่างที่ทรงสำเร็จราชการแทนพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จประพาสยุโรป

โดยตึกแดง หรือตึกเหลืองในปัจจุบัน มีส่วนที่เป็นระเบียงติดกับพื้นดินรองรับส่วนหน้าของอาคารที่สัมพันธ์กับพื้นที่ดินที่เอียงลาด หลังคาทรงปั้นหยายกจั่ว ส่วนหน้าของอาคารหันหน้าออกทะเล มีมุขยื่นออกมาทั้งชั้นล่างและชั้นบน ชั้นล่างบริเวณมุขเป็นผนังทึบ มีประตูรูปซุ้มโค้งตามกรอบ

ส่วนบนเป็นกระจก ส่วนล่างเป็นบานลูกฟักไม้ หน้าต่างบานคู่ ส่วนบนเป็นกระจกช่องแสง ลูกกรง และระเบียงเป็นปูนปั้นลูกมะหวด

ตึกมหาราช หรือตึกขาวในอดีต ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นสีแดง

ลานหินโผล่ขนาดใหญ่ส่องประกายแวววาวเมื่อถูกแสงแดด




กำลังโหลดความคิดเห็น