xs
xsm
sm
md
lg

“กรณ์” ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งอันดับ 9 ของโลก จับตาการทำงานรัฐบาลใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา - “กรณ์” ห่วงหนี้ครัวเรือนไทยพุ่งติดอันดับ 9 ของโลก ขณะการลงทุนจากต่างประเทศลดเหลือไม่ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ จับตาการทำงานของรัฐบาลใหม่มีความชัดเจนด้านนโยบายเพียงใด เชื่อ EEC มีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืน

วันนี้ (4 ก.ย.) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “วิกฤตเศรษฐกิจไทยในวันที่ต้องรอด” ในงานประชุมใหญ่สมาคมอสังหาริมทรัพย์ฉะเชิงเทรา ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมวันธาราเวลเนส รีสอร์ท แอนด์ โฮเทล ต.คลองนา อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา โดยมีสมาชิกสมาคมอสังหาริมทรัพย์จากทั่วประเทศเข้าร่วม

โดย นายกรณ์ ได้กล่าวถึงหนี้รัฐบาลว่ายังถือเป็นเรื่องที่น่าจะแบกรับได้ เมื่อเทียบกับภาระการชดใช้ดอกเบี้ยและเงินต้นของรัฐบาล ที่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะอยู่ที่ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

แต่สิ่งที่กำลังเป็นปัญหาของรัฐบาลคือการที่หนี้ภาคครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ ซึ่งหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในปี 2554-2556 พบว่าหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นจาก 50 เปอร์เซ็นต์ของ GDP เป็น 80 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ในระยะเพียง 5 ปี ถือว่าเร็วที่สุดเมื่อเทียบกับเกือบทุกประเทศในโลก


ขณะที่ในวันนี้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ที่ประมาณ 86.9 เปอร์เซ็นต์ของ GDP ซึ่งติดอยู่ในกลุ่มหนี้ครัวเรือนที่สูงที่สุดในโลก หรือติดอยู่ในลำดับที่ 9 ใน 10 ของโลก และที่น่าแปลกใจคือ ประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุด คือ สวิตเซอร์แลนด์ ที่เคยถูกมองว่าเป็นประเทศที่ร่ำรวยและไม่คิดว่าประชากรของประเทศนี้จะกู้หนี้ยืมสินมากเป็นอันดับ 1 ของโลก คือ 128.3 เปอร์เซ็นต์ของ GDP

“แต่เหตุใดคนสวิตจึงไม่เดือดร้อนในเรื่องของปัญหาหนี้ครัวเรือน นั่นก็เพราะ 99 เปอร์เซ็นต์ของหนี้สินคนสวิตคือ หนี้ซื้อบ้านซึ่งเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ประเทศไทย หนี้ภาคครัวเรือนเป็นหนี้ที่ยืมมาเพื่อใช้จ่าย อีกทั้งรายได้ของประเทศไทยยังน้อย จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้กำลังซื้อของคนไทยหายไป”

นายกรณ์ ยังเผยอีกว่า ที่ผ่านมาตนได้เคยฝากความเห็นไปยังรัฐบาล “เศรษฐา” เกี่ยวกับเรื่องที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทย แก้ปัญหาเรื่องหนี้ว่าปัญหาหนี้ต้องแก้ด้วยเงิน และกระทรวงที่มีเงินคือ กระทรวงการคลัง ที่มีธนาคารของรัฐอยู่ในมือจึงเหมาะจะเป็นเจ้าภาพ ทั้งธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส.

แต่ไม่ได้หมายความว่าเรื่องหนี้จะแก้ได้โดยง่าย เพราะเป็นปัญหาที่สะสมมานาน และที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาหนี้ไม่ใช่การพักหนี้หรือยกหนี้ให้ แต่เป็นการเพิ่มรายได้ให้แก่ลูกหนี้ ด้วยการทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้นเราจะสามารถแบกรับภาระหนี้เหล่านี้ได้

“หาก GDP โตสัดส่วนหนี้ต่อ GDP จะค่อยๆ ลดลงไปเอง วิธีการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนที่สุด คือทำให้ GDP โต ฉะนั้นประเด็นคือเราจะทำให้เศรษฐกิจของเราโตขึ้นได้อย่างไร ซึ่งจะต้องรอดูและให้เวลาต่อรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะขับเคลื่อนอย่างไร เช่น การมีนโยบายส่งเสริมพัฒนาส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ EEC ต่อหรือไม่ หรือจะหันไปสนใจในเรื่องแลนด์บริดจ์ที่เป็นนโยบายของรัฐบาลนี้โดยตรง”


ทั้งนี้ เหตุผลหลักที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตเมื่อ 40 ปีก่อนคือการที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาที่ไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีปัญหาด้านการค้ากับอเมริกา ขณะที่เงินเยนแข็งค่าเกินไปจึงต้องการส่งออกสินค้ากับประเทศที่มีอัตราแลกเปลี่ยนเทียบกับสหรัฐฯ ที่ไม่ได้มีการปรับในระดับเดียวกับญี่ปุ่น

ซึ่งเงินบาทของไทยในขณะนั้นยังผูกอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ จึงตรงกับความต้องการของนักลงทุนญี่ปุ่น อีกทั้งยังมีการก่อสร้างทางอุตสาหกรรม จึงมีแรงงานที่เป็นปัจจัยในทางบวกกับประเทศไทยอย่างมาก

แต่ในวันนี้การลงทุนจากต่างประเทศของไทยลดลงเหลือแค่เพียงประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น EEC จึงมีความสำคัญในการดึงการลงทุนให้ไหลกลับคืนเข้ามา


กำลังโหลดความคิดเห็น