xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) เพิ่งตื่น!? ป.ป.ช.ภาค 6 ยกคณะขึ้น “เขาค้อ” ตรวจปมนายทุนรุกป่า-ใช้ที่ราชพัสดุผิดวัตถุประสงค์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบูรณ์ - ป.ป.ช.ภาค 6 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำกำลังเข้าตรวจสอบกลุ่มนายทุนบุกรุกที่ราชพัสดุและพื้นที่ป่าเขาค้อ หวังการป้องปรามที่เป็นรูปธรรม


เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ภาค 6 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ลงพื้นที่ตรวจสอบพื้นที่ราชพัสดุ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ระหว่าง 26-27 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังพบปัญหาการจัดหาประโยชน์บนที่ดินราชพัสดุผิดวัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการก่อสร้างเปิดร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ฯลฯ

พบว่าพื้นที่ตำบลเข็กน้อยส่วนใหญ่เป็นภูเขา บางแห่งมีความลาดชันสูง บางส่วนเป็นพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง พื้นที่ป่าไม้ ที่ราชพัสดุ และยังพบว่ามีการแผ้วถางพื้นที่เพื่อทำการเกษตร การปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างเส้นทาง สิ่งปลูกสร้างบนภูเขา

ทั้งๆ ที่พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่อุทยานฯ ทุ่งแสลงหลวง ซึ่งกระทรวงมหาดไทยอนุมัติให้นำที่ดินของรัฐในพื้นที่ ต.น้ำชุน อ.หล่มสัก จำนวน 1 แปลง เนื้อที่ประมาณ 20,000 ไร่ ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้ในราชการกองทัพบก เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2517 แต่ปรากฏว่าพื้นที่ดังกล่าวมีการบุกรุก เข้าไปยึดครองโดยกลุ่มบุคคลอื่นๆ จนเป็นที่มาของการก่อสร้างร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ โดยกรณีนี้ ป.ป.ช.ภาค 6 อยู่ระหว่างประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าตรวจสอบอย่างละเอียด

นอกจากนี้ยังมีการเข้าตรวจสอบกรณีที่มีการก่อสร้างถนนคอนกรีตในพื้นที่ ต.ทุ่งสมอ อ.เขาค้อ ซึ่งสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นเนินเขาสลับกับที่ราบ บางแห่งมีความลาดชัน จากการตรวจสอบข้อมูลพื้นที่บริเวณใกล้เคียงทุ่งกังหันลม เป็นเนินเขาสลับกับพื้นที่ราบ บางส่วนเป็นพื้นที่อุทยานแห่งชาติทุ่งแสลงหลวง และเป็นพื้นที่เขตป่าไม้ถาวรตามมติคณะรัฐมนตรี


แต่เนินเขาบางแห่งมีการไถปรับพื้นที่เป็นขั้นบันได และพบมีการใช้เครื่องจักรกลหนักตัดถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขึ้นบนเนินเขา ทั้งที่ยังคงมีสภาพบำสมบูรณ์ โดยองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งสมอเป็นผู้รับผิดชอบโครงการก่อสร้างถนน และเมื่อพิจารณาจากข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม (Google earth) จะพบว่าสภาพพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบันพื้นที่ป่าลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน

จากทั้ง 2 กรณีจึงเป็นที่มาในการหารือเพื่อป้องปรามการทุจริต/ความเสี่ยงที่อาจถูกร้องเรียนในการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบร่วมกัน ซึ่งเป็นการปฏิบัติงานป้องกันเชิงรุกเพื่อปิดช่องโหว่ต่างๆ ภายใต้กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นต่อไปภายในอนาคต

ดังนั้น การกำหนดมาตรการหรือแนวทางการแก้ไขปัญหาการทุจริตในพื้นที่จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เนื่องจากส่วนราชการในระดับพื้นที่และประชาชนในพื้นที่จะเป็นผู้ที่ทราบข้อมูลและความต้องการที่แท้จริง รวมทั้งปัญหาการทุจริตภายในพื้นที่ดีที่สุด




กำลังโหลดความคิดเห็น