xs
xsm
sm
md
lg

เตือน 2 อำเภอ จ.กาญจน์ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - เตือน 2 อำเภอ จ.กาญจน์ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ส่วนถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากเสี่ยงเกิดภัยให้แจ้งเตือน-ปิดกั้นพื้นที่ห้ามเข้าเด็ดขาด


วันนี้ (26 ส.ค.) นายอธิสรรค์ อินทร์ตรา รองผู้ว่าราชการจังหวัด ปฏิบัติราชการแทนผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี/ผู้อำนวยการจังหวัด เปิดเผยว่า ด้วยกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลางแจ้งว่าได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 1 (149/2567) ลงวันที่ 25 ส.ค.67 เวลา 19.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 26-28 ส.ค.67 ร่องมรสุมจะเลื่อนลงมาพาพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน

ในขณะที่มีหย่อมความกดอากาศตำบริเวณสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทยและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้นและฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 26-29 สิงหาคม 2567 โดยจังหวัดกาญจนบุรี เป็นจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง ได้แก่ อำเภอสังขละบุรี และอำเภอทองผาภูมิ

เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ จึงให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเทศบาล กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนตำบล และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยดำเนินการ ติดตามสถานการณ์และแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เฝ้าระวัง ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารของทางราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

โดยเฉพาะกรณีพื้นที่ที่มีฝนตกหนักสะสมในพื้นที่ พร้อมทั้งประสานการปฏิบัติกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น ทหาร ตำรวจ หน่วยงานชลประทาน สถาบันการศึกษา มูลนิธิ อาสาสมัคร เตรียมความพร้อมกำลังพล วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องจักร และยานพาหนะ ให้พร้อมปฏิบัติงาน อำนวยความสะดวก สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติโดยเฉพาะถ้ำ น้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง

ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันสาธารณภัย เตรียมความพร้อมในการออกปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชนตามแผนเผชิญ เช่น การกำจัดวัชพืช ขยะตามเส้นทางน้ำ การพร่องน้ำในแหล่งน้ำ การเร่งระบายน้ำ การเปิดทางน้ำออกจากพื้นที่ชุมชนที่ประสบปัญหาน้ำท่วม การระบายน้ำ ส่งน้ำไปกักเก็บในแหล่งน้ำที่มีน้ำน้อย โดยประเมินสถานการณ์ที่อาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิดพร้อมทั้งตรวจสอบความมั่นคงเรือแพ โป๊ะเรือ ท่าเทียบเรือและจุดเสี่ยงพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ ถ้าไม่มีความมั่นคนคงแข็งแรง พิจารณาแล้วเป็นอันตรายให้แก้ไขโดยด่วน รวมทั้งใช้ประโยชน์จาก "มิสเตอร์เตือนภัย" ที่ประจำอยู่ในหมู่บ้านเสี่ยงภัยแจ้งข้อมูลสถานการณ์ภัยที่เกิดขึ้น

ให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทุกระดับ และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ประสานหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบการก่อสร้าง บำรุงรักษาถนน ในการตรวจสอบ ปรับปรุง กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาโครงการที่ส่งผลกระทบต่อปัญหาการระบายน้ำในช่วงฝนตกหนัก พร้อมทั้งให้จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกการจราจร ติดตั้งป้าย สัญญาณจราจรแจ้งเตือนประชาชนใช้ความระมัดระวัง หรือหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าวให้ชัดเจน




กำลังโหลดความคิดเห็น