นครพนม - คณะเกษตรและเทคโนโลยี ม.นครพนมบูรณาการองค์ความรู้เชิงวิชาการร่วมยกระดับการทำเกษตรแปลงใหญ่ปลูกผักปลอดสารพิษริมน้ำโขง ต.น้ำก่ำ เพิ่มผลผลิตเพิ่มมูลค่าให้เกษตรกรมีรายได้มากกว่าเดิม ทั้งเล็งพัฒนาให้เป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดภัยและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ อ.ธาตุพนมในอนาคตอันใกล้
ใน ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม เป็นพื้นที่สามารถปลูกผักได้ตลอดทั้งปี จะเว้นการปลูกเพื่อพักหน้าดินเฉพาะช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ระหว่างการพักหน้าดินเกษตรกรก็จะปลูกพืชอายุสั้นอื่นๆ เพื่อปรับปรุงดิน เช่น การปลูกถั่วลิสง การรวมกลุ่มของสมาชิกในโครงการ “แนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกผักริมโขง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม” ทำให้สมาชิกกลุ่มมีกิจกรรมร่วมกันอย่างต่อเนื่อง โดยมหาวิทยาลัยนครพนมได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน ทำให้เกษตรกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกผักริมโขงของ ต.น้ำก่ำ มีความรู้ และมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น
ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่ที่รวมกลุ่มทำเป็นเกษตรกรรมแปลงใหญ่ มีเครือข่ายสมาชิกกลุ่มกว่า 50 คน ครอบคลุมพื้นที่ 4 หมู่บ้านของตำบลน้ำก่ำ ได้แก่ หมู่ 1 หมู่ 4 หมู่ 5 หมู่ 10 หมู่ 17 และหมู่ 13 และแผนอนาคตในการพัฒนาอาจยกระดับพื้นที่ให้เป็นแหล่งผลิตพืชผักปลอดภัยและการท่องเที่ยวเชิงเกษตรของ อ.ธาตุพนม ต่อไป
นางบังอร ภิญโญพันธ์ อายุ 57 ปี เกษตรกรชาวบ้านน้ำก่ำ หมู่ที่ 10 ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เล่าว่า ที่ผ่านมาตนและเพื่อนบ้านในพื้นที่ของ ต.น้ำก่ำ ได้พากันปลูกผักทำเกษตรริมโขงส่งขายให้ร้านค้าชุมชนและพ่อค้าคนกลางมาหลายสิบปี เมื่อมีความต้องการจากตลาดมากขึ้น การผลิตเพื่อส่งออกจะต้องได้ปริมาณที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน และสิ่งที่เกษตรกรต้องทำคือการพึ่งสารบำรุงพืช เพื่อเร่งผลผลิตให้ทันต่อการขาย องค์ความรู้ส่วนหนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดจาก ม.นครพนม เราได้นำมาปรับใช้กับเครือข่ายสมาชิกการทำเกษตรแบบเดิม บูรณาการกับความรู้การทำเกษตรแบบใหม่ที่อาศัยเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต ภายใต้เงื่อนไขต้องเป็นเกษตรปลอดภัยที่ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
ด้วยลักษณะพื้นที่ของ ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ประกอบกับการศึกษาเชิงพื้นที่ของกลุ่มนักวิชาการคณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม พบว่า เดิมพื้นที่ดังกล่าวมีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารในดินอยู่แล้ว หากจะยกระดับการทำเกษตรริมโขงน่าจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ จึงได้ประชุมหารือกับกลุ่มเกษตรกรเพื่อพัฒนาคุณภาพของสินค้าและมูลค่าของผลผลิต ทำให้เกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการ
ผศ.ดร.เสาวคนธ์ เหมวงษ์ คณบดีคณะเกษตรและเทคโนโลยี หัวหน้าโครงการ “แนวทางการพัฒนาและบริหารจัดการกลุ่มแปลงใหญ่ผู้ปลูกผักริมโขง ต.น้ำก่ำ อ.ธาตุพนม จ.นครพนม” บอกว่า ความรู้และประสบการณ์ทางด้านการผลิต เกษตรกรจะมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว ทีมนักวิชาการเราแค่นำองค์ความรู้ทางวิชาการมาช่วยจัดการบริหารกลุ่ม เพื่อต่อยอดให้สินค้าของเกษตรกรมีคุณภาพมากขึ้น มีระบบการจัดการที่ดี มีรายได้ และสามารถต่อรองราคาด้านการตลาดได้มากกว่าเดิม เหมือนเราได้แลกเปลี่ยนกัน เพราะชาวบ้านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการปลูกผักเป็นทุนเดิม ขณะที่ทางเราจะเข้าไปช่วยในเรื่องของกระบวนการจัดการ เช่น ให้ชาวบ้านรู้จักการวิเคราะห์ปัญหา ทำอย่างไรถึงจะแก้ไขปัญหาได้ ชาวบ้านไม่มีการรวมกลุ่ม หรือมีการรวมกลุ่ม แต่ไม่มีการปันผล ผลผลิตก็จะส่งขายให้พ่อค้าคนกลางแล้วรับเงินมา มันสะดวกและเร็วกว่า
“แต่ปัญหาคือราคาของผักขึ้นอยู่กับพ่อค้าคนกลางเป็นคนคุมราคา เราเลยกลับมาวิเคราะห์ว่าจะทำอย่างไรให้ชาวบ้านขายในราคาที่สูงขึ้นจากผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มมูลค่า หรือจะทำอย่างไรให้สินค้าของเกษตรกรสามารถนำไปขายในห้างสรรพสินค้าได้”
การดำเนินโครงการได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ และร่วมดำเนินงานโดยสถาบันวิจัยและพัฒนา, คณะเกษตรและเทคโนโลยี และวิทยาธาตุพนม มหาวิทยาลัยนครพนม โดยมีกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่เป็นนักวิจัยร่วม มีแม่บังอร ภิญโญพันธ์ เป็นประธานกลุ่ม เพราะสำนักงานการวิจัยแห่งชาติมองว่างานวิจัยในการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชนหรือชาวบ้านนี้จะช่วยให้ชาวบ้านเข้าใจถึงปัญหาและหาแนวทางแก้ไขด้วยตนเอง ประกอบกับประสบการณ์ของเกษตรกรที่มีอยู่แล้ว
การรวมกลุ่มของเกษตรครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันกับนักวิชาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกัน โดยมหาวิทยาลัยนครพนมทำหน้าที่ส่งเสริมความรู้ทางวิชาการ กระบวนการผลิต การหาแหล่งทุน ช่องทางการตลาด และการประชาสัมพันธ์
ถ่ายทอดองค์ความรู้มาให้กับสมาชิกกลุ่ม รวมถึงแหล่งทุน เราช่วยเรื่องการตลาด สื่อสาร การสร้างภาพลักษณ์ให้กับกลุ่มเกษตรกร ที่นี่เป็นผักปลอดสารเคมี มีผลิตภัณฑ์คุณภาพและปลอดภัย ปัจจุบันเราได้แหล่งตลาดใหญ่ที่ยกระดับกลุ่มเกษตรกร นั่นก็คือห้างสรรพสินค้า แรกๆ อาจมีคำถามถึงความมั่นใจของโครงการจากสมาชิกบางคน แต่วันนี้เราทำประสบความสำเร็จแล้ว น่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสมาชิกกลุ่มของเรา เพราะขณะนี้เรามีเกษตรกรที่มาร่วมกลุ่มเป็นสมาชิกกว่า 50 คน
นางบังอร ภิญโญพันธ์ ประธานกลุ่มสมาชิกเกษตรริมโขง กล่าวเพิ่มเติมว่า กระบวนการผลิตพืชผักของสมาชิกกลุ่มในปัจจุบัน เน้นการใช้ชีวภัณฑ์ น้ำหมัก หรือปุ๋ยหมักจากชีวภาพทั้งหมด นำวิถีเกษตรพอเพียงกลับมาสู่เกษตรปลอดภัย พืชบางตัวผ่านการรับรองเกษตรปลอดภัย (GAP) เช่น มะเขือเทศ สลัด หอมแบ่ง ต้นหอม และมะเขือเทศสีดา เป็นต้น
กลุ่มลูกค้าของเรายังเป็นตลาดในชุมชนที่มีความต้องการสูง และมีห้างสรรพสินค้าบางส่วน ถือเป็นการยกระดับของกลุ่มเกษตรเรา สามารถควบคุมการผลิต ควบคุมราคาได้ด้วยตนเอง และข้อดีของสินค้ากลุ่มเรา คือ ผักทุกชนิดสามารถคงทนและเก็บรักษาได้นาน เนื่องจากเราไม่ได้เน้นสารเคมีในกระบวนการผลิต