xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านร้อง! จอกหูหนูยักษ์ระบาดเต็มเขื่อนน้ำอูน แน่นปิดสปิลเวย์ห่วงกระทบระบบนิเวศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


สภาพเขื่อนน้ำอูน จ.สกลนคร ณ ปัจจุบัน มีจอกหูหนูยักษ์ แพร่กระจายเต็มไปหมด
สกลนคร-ชาวบ้านรอบเขื่อนน้ำอูนร้อง! วัชพืชจอกหูหนูยักษ์แพร่พันธุ์กระจายเต็มเขื่อน เผยปริมาณหนาแน่นจนปิดสปิลเวย์ บดบังทัศนีภาพ ด้านนายอำเภอพังโคนเผยหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยืนยันไม่นิ่งนอนใจ เร่งหาทางกำจัด ชี้ไม่กระทบระบบนิเวศโดยรวม


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์น้ำเขื่อนน้ำอูน ต.แร่ อ.พังโคน จ.สกลนคร พบว่าปริมาณน้ำในเขื่อนน้ำอูน ยังสามารถรองรับน้ำได้อีกมาก ล่าสุดปริมาณน้ำอยู่ที่ 353 ลูกบาศก์เมตร หรือร้อยละ 68 จากความจุเก็บกัก 520 ลบ.ม. ซึ่งยังสามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อป้องกันปัญหาอุทกภัยจนกว่าจะผ่านพ้นฤดูฝนปีนี้

อย่างไรก็ตามประชาชนที่อาศัยรอบๆเขื่อนน้ำอูนต่างกังวลใจ เพราะพบวัชพืชจอกหูหนูยักษ์ ได้แพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว โดยพบการแพร่ระบาดมาตั้งแต่ต้นปี 2566 จอกหูหนูยักษ์บางจุดได้ไปปิดเส้นทางเข้าออกเรือประมงชาวบ้าน ต่อมาพอถึงฤดูฝนแรงลมได้พัดเอาจอกหูหนูยักษ์ลอยมายังบริเวณปากกระโถนหรือสปิลเวย์ของเขื่อนน้ำอื่น

เมื่อมองมาบริเวณสปิลเวย์ จะเห็นเป็นภาพสีเขียวทึบบดบังทัศนียภาพที่สวยงามของเขื่อน เพราะบริเวณดังกล่าวถือเป็นจุดที่นักท่องเที่ยว มาชมทัศนียภาพถ่ายภาพ เที่ยวพักผ่อนหย่อนใจอีกแห่งของ ชาว อ.พังโคน ซึ่งเดิมไม่เจอเหตุการณ์นี้มาก่อน ประชาชนจึงกังวลใจว่าหากปล่อยไว้ในอนาคต หวั่นจะเกิดปัญหาต่อภาพรวมระบบนิเวศน์ของเขื่อนน้ำอูนได้

นายสมเจตน์ พิมพานนท์ นายอำเภอพังโคน กล่าวว่าปัญหาดังกล่าวจากการพูดคุยกับ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูน ทราบว่าทางโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาน้ำอูนไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ติดตามสถานการณ์ปัญหามาตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่พบจอกหูหนูดังกล่าว เริ่มแรกมีปริมาณ 4,000 ไร่ ปัจจุบันพบมากขึ้นถึง 8,000 ไร่ กำลังศึกษาวิจัยหาแนวทางกำจัด ถึงวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด






ก่อนหน้านี้ชาวบ้านออกมาช่วยนำจอกหูหนูยักษ์ไปกำจัด โดยทำเป็นปุ๋ยพืชสด พอเก็บได้ 2 เดือน ปรากฎว่าจอกหูหนูยักษ์มีปริมาณเกินความต้องการชาวบ้าน จนหยุดนำไปทำปุ๋ย ซึ่งขณะนี้กำลังศึกษาว่าจะใช้สารอินทรีย์มากำจัดและไม่สร้างผลกระทบ

ส่วนประชาชนที่กำลังกังวลใจในปัญหาระยะยาวนั้น ไม่ต้องกังวลใจ เพราะปัญหาการระบาดจอกหูหนูยักษ์นั้น ส่งผลต่อระบบออกซิเจนน้อยมาก เพราะจอกหูหนูยักษ์ยังไม่ก่อตัวหนาและถูกกระแสลมพัดลอยวนไปมา ไม่ได้แช่เป็นเวลานาน อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังเร่งแก้ไขปัญหานี้อยู่


กำลังโหลดความคิดเห็น