xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในไทย วัดแก่นจันทร์เจริญเตรียมตักบาตรขนมครก 10 ก.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




สมุทรสงคราม - หนึ่งเดียวในไทย วัดแก่นจันทร์เจริญ เตรียมจัดงาน “ตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย” ที่สืบทอดกันมาเกือบ 100 ปี ในวันที่ 10 ก.ย.นี้ พร้อมยังมีการแข่งขูดมะพร้าว และปิดตาป้อนขนมครก เพื่อสร้างสีสันให้งาน


พระครูวิมลสมุทรกิจ เจ้าอาวาสวัดแก่นจันทร์เจริญ ต.บางพรม อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เผยว่า ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมจัดงาน “ตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย” ที่วัดแก่นจันทร์เจริญได้ยึดถือปฏิบัติและจัดมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ.2473 โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด อบจ.สมุทรสงคราม อบต.บางพรม และ ททท.สำนักงานสมุทรสงคราม ตลอดจนชาวบ้านร่วมหารือ โดยปีนี้กำหนดจัดงานในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ซึ่งตรงกับวันอังคารที่ 10 ก.ย.67 ที่ลานวัดแก่นจันทร์เจริญ เริ่มตั้งแต่เวลา 06.00-11.00 น.

สำหรับที่มาของประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ผู้ที่ริเริ่มจัดงานทำบุญนี้ ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ซึ่งขณะนี้มีเพียงวัดเดียวใน จ.สมุทรสงคราม ที่ยังสืบทอดประเพณีนี้อยู่ คือพระครูสุนทรสุตกิจ (หลวงปู่โห้) อดีตเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดแก่นจันทร์เจริญ เมื่อปี พ.ศ.2473 เนื่องจากสมัยนั้นคลองหน้าวัดแก่นจันทร์เจริญ มีแม่ค้าพายเรือมาขายขนมหลายลำ ส่วนใหญ่เป็นขนมครกเพราะทำง่ายขั้นตอนไม่ยุ่งยาก แต่คนซื้อมีน้อย

เนื่องจากชาวบ้านต่างมีฐานะค่อนข้างยากจน หลวงปู่โห้ อยากช่วยเหลือแม่ค้า จึงได้นัดแม่ค้าให้ทำเฉพาะขนมครกมาขายที่ศาลาท่าน้ำหน้าวัดปีละครั้ง ในวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 ของทุกปี เพื่อให้ญาติโยมได้ซื้อขนมครกและน้ำตาลทรายมาถวายพระ และได้ถือปฏิบัติตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาทุกปีไม่ว่าวันขึ้น 8 ค่ำเดือน 10 จะตรงกับวันอะไรก็ตาม ส่วนน้ำตาลทรายที่ถวายคู่กันนั้นเนื่องจากพระบางรูปชอบหวานจึงมีน้ำตาลทรายให้มาด้วย นอกจากนี้ยังนำน้ำตาลทรายไปทำอย่างอื่นได้จนกลายเป็นประเพณีสืบทอดเรื่อยมาจนปัจจุบัน

นายวรพงษ์ วรทัศน์ นายก อบต.บางพรม กล่าวถึงที่มาของประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ว่า มีตำนานเล่าขานต่อๆ กันมาว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เหตุเกิดที่ อ.บางปะหัน จ.พระนครศรีอยุธยา มีชายหญิงคู่หนึ่งชอบพอกัน ฝ่ายชาย ชื่อ “กะทิ” ส่วนฝ่ายหญิง ชื่อ “แป้ง”พ่อของแป้ง เป็นผู้ใหญ่บ้านไม่ชอบกะทิ จึงหาทางขัดขวางไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับลูกสาว และยังยกลูกสาวให้แต่งงานกับปลัดอำเภอหนุ่มจากกรุงเทพฯ และเมื่อพ่อของแป้ง รู้ว่ากะทิจะมาขัดขวางงานแต่งงานของลูกสาว จึงขุดหลุมพรางไว้เพื่อดักฝังกะทิทั้งเป็น จนกลางคืนกะทิกับแป้งได้นัดมาพบกันและเกิดพลัดตกลงไปในหลุมพรางทั้งคู่ ลูกน้องของผู้ใหญ่บ้านนึกว่ากะทิตกหลุมพรางคนเดียว จึงนำดินมาฝังกลบทั้งคู่จนตายทั้งเป็น

รุ่งเช้าผู้ใหญ่บ้านรู้เข้าจึงเกิดความเศร้าโศกเสียใจจึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นอนุสรณ์แด่คนทั้งสอง ต่อมาชาวบ้านรู้ข่าวและเห็นใจในชะตาชีวิตของหนุ่มสาวคู่นี้ จึงนำขนมที่ทำจากกะทิและแป้งเรียกว่า “ขนมคู่รักกัน” มาเซ่นไหว้ ต่อมาได้มีผู้เห็นว่าชื่อเรียกยากไปจึงตัดเอาตัวอักษรแต่ละคำคือเอาตัว ค ควาย ร เรือ และ ก ไก่ มารวมกันจึงอ่านว่า “ครก” หรือขนมครกนั่นเอง

สำหรับการจัดงานปีนี้ นอกจากจะมีชาวบ้านในพื้นที่มาช่วยกันขูดมะพร้าว คั้นกะทิ โม่แป้ง และหยอดขนมครก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเตาถ่านไม่น้อยกว่า 20 เตา ตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อให้นักท่องเที่ยวซื้อตามกำลังศรัทธาพร้อมน้ำตาลทรายนำไปใส่บาตรพระแล้ว ยังมีการแข่งขันขูดมะพร้าว การแข่งขันปิดตาป้อนขนมครก เพื่อสร้างสีสันให้งานอีกด้วย จึงขอเชิญผู้ที่สนใจไปเที่ยวงานประเพณีตักบาตรขนมครกและน้ำตาลทราย ที่วัดแก่นจันทร์เจริญ ตามวันและเวลาดังกล่าว










กำลังโหลดความคิดเห็น