xs
xsm
sm
md
lg

ประมงสมุทรสงคราม ลงแขกลงคลอง ระดมทุกภาคส่วนปราบ "ปลาหมอคางดำ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม – กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมงและสำนักงานประมงจังหวัดสมุทรสงคราม ขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์บูรณาแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ผนึกพลังทุกภาคส่วนภาครัฐ “ลงแขกลงคลอง” ครั้งที่ 6 กำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่ง

นายบัณฑิต กุลละวณิชย์ ประมงจังหวัดสมุทรสงคราม กล่าวว่า ประมงสมุทรสงคราม จัดกิจกรรมลงแขกลงคลองอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมีนาคม 2567 เป็นต้นมา เพื่อกำจัดและควบคุมปริมาณปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติทุกแห่ง โดยบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงชาวประมง และชาวบ้านในพื้นที่ พร้อมทั้งได้ใช้เครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพในการจับปลาดีขึ้น ซึ่งอธิบดีกรมประมงได้อนุญาตให้ประมงสมุทรสงครามใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำบางประเภท และปรับเปลี่ยนวิธีการที่เหมาะสมกับพื้นที่สามารถจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้มากขึ้น รวมทั้งมีการปล่อยปลานักล่าในแหล่งน้ำเพื่อตัดวงจรปลาหมอคางดำ ส่งผลให้ปริมาณปลาชนิดนี้ในแหล่งน้ำธรรมชาติลดลงอย่างเห็นได้ชัด

สำหรับกิจกรรมลงแขกลงคลอง ครั้งที่ 6/2567 จัดขึ้นบริเวณคลองหมื่นหาญ ตำบลบางแก้วอำเภอเมืองสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่ประชาชนช่วยแจ้งเบาะแสว่าพบปลาหมอคางดำอยู่ปริมาณมาก ประมงจังสมุทรสงคราม ร่วมกับหน่วยงานภาคี รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดสมุทรสงคราม (ท) รองผู้อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดสมุทรสงคราม ผู้บัญชากลางเรือนจำกลางสมุทรสงคราม หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงทะเลบ้านแหลม (เพชรบุรี)

ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดเพชรบุรี ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงทะเลสมุทรปราการ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน (เพชรบุรี), ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดราชบุรี ด่านตรวจประมงสมุทรสงคราม, ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งสมุทรสงคราม นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางแก้ว กำนันตำบลบางแก้ว ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1-10 ตำบลบางแก้ว พร้อมกับตัวแทนจากภาคเอกชนลงพื้นที่ร่วมแรงร่วมใจไล่ล่าจับปลา นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนเครื่องจับสัตว์น้ำ อาหารและเครื่องดื่มสำหรับผู้ร่วมงาน จากบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) อีกด้วย

การจัดกิจกรรมลงแขก-ลงคลองในครั้งนี้ สามารถจับสัตว์น้ำได้จำนวน 2,412 กก.พบว่าเป็นปลาหมอคางดำ ร้อยละ 98.75 ปลากระบอก ร้อยละ 1.25 โดยส่งมอบเข้าโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 2,177 กิโลกรัม เรือนจำกลางสมุทรสงคราม จำนวน 200 กิโลกรัม และประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมนำกลับไปบริโภค จำนวน 35 กิโลกรัม ” นายบัณฑิตกล่าว

ทั้งนี้ กิจกรรมลงแขกลงคลอง เป็นแนวทางการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ซึ่งเป็นมาตรการเร่งด่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการควบคุมและลดการแพร่กระจายของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมแรงร่วมใจจากทุกภาคส่วนช่วยกันขับเคลื่อนการจับปลาชนิดนี้ ทั้งนี้ ประมงสมุทรสงคราม จึงขอเชิญชวนพี่น้องประชาชนในพื้นที่ ช่วยกันแจ้งเบาะแสการพบปลาหมอคางดำให้กับกรมประมง เพื่อจัดทีมไล่ล่าปลาหมอคางดำในครั้งถัดไป










กำลังโหลดความคิดเห็น