xs
xsm
sm
md
lg

ทีเส็บร่วม ม.ขอนแก่นระดมสมองหาแนวทางยกระดับขอนแก่นสู่เมืองประชุมนานาชาติ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - ทีเส็บร่วมศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์ฯ  ม.ขอนแก่นเร่งเครื่องปลุกแนวร่วมทุกภาคส่วนในท้องถิ่นขับเคลื่อนขอนแก่นให้เป็นเมืองไมซ์ซิตี้อย่างเป็นรูปธรรม นัดระดมสมองหาแนวทางยกระดับสู่การเป็นเมืองประชุมนานาชาติ เผยลำพังทีเส็บทำฝ่ายเดียวไม่สำเร็จ ทุกองค์กรเครือข่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือร่วมใจและลงมือทำ


เมื่อเร็วๆ นี้ ณ ห้องวังเลิศ ชั้น 1 คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) สำนักภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเวนต์เชิงธุรกิจ ม.ขอนแก่น จัดเวิร์กชอปในหัวข้อ “แนวทางการยกระดับขอนแก่นไมซ์ซิตี้สู่การเป็นเมืองประชุมนานาชาติ”

สำหรับขอนแก่นเป็น 1 ใน 10 จังหวัด (กรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ขอนแก่น นครราชสีมา อุดรธานี สงขลา สุราษฎร์ธานี และพิษณุโลก) ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บ ให้เป็นเมืองศูนย์กลางการจัดประชุมสัมมนาและแสดงสินค้าในภาคอีสาน รองรับลูกค้าที่เดินทางมาจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าจากกลุ่มประเทศอินโดจีน และจีนตอนใต้ ด้วยศักยภาพอันโดดเด่นของเมืองในแทบทุกด้าน

ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์ฯ ม.ขอนแก่น กล่าวถึงการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการในครั้งนี้เพื่อหารือแลกเปลี่ยนความเห็น ข้อเสนอแนะร่วมกันอันจะนำไปสู่การปลดล็อกปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อเร่งยกระดับเมือง MICE ขอนแก่นไปสู่เมืองที่พร้อมรับการจัดประชุมสัมมนาหรือการจัดแสดงงานระดับนานาชาติ รวมถึงการสร้างโอกาสให้ได้รับทุนสนับสนุนในการจัดงานประชุมนานาชาติ ทั้งแบบ in kind และ in cash พร้อมทั้งร่วมกันสร้างเครือข่ายผู้จัดงานและซัปพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง

ผู้ที่เข้าร่วมเวิร์กชอปครั้งนี้มาจากหลากหลายองค์กรที่เกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนจากท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดขอนแก่น หอการค้าจังหวัดขอนแก่น สมาคม ATSME รร.บายาสิตา รร.พูลแมน บ.Win Win Smile คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ม.ขอนแก่น Mekong Institute และคณะหรือหน่วยงานในมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่มีการจัดงานประชุมระดับนานาชาติ, เจ้าภาพงาน ผู้จัดงาน หน่วยงานที่มีการจัดงานประชุมระดับนานาชาติ รวมถึงบุคคลทั่วไปที่สนใจ


น.ส.นุช หอมรสสุคนธ์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมการจัดประชุมนานาชาติ สสปน. กล่าวว่า เวิร์กชอปที่จัดขึ้นครั้งนี้ได้มีการหารือร่วมกับกลุ่มผู้ประกอบการ กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่อยู่ในพื้นที่ขอนแก่นว่าเรามีแนวทางใดบ้างที่จะช่วยกันผลักดันให้มีการจัดงานประชุมสัมมนาระดับนานาชาติ แนวทางการทำงานไม่จำเป็นต้องมาจากทางทีเส็บแต่ฝ่ายเดียว ทีเส็บไม่สามารถขับเคลื่อนผลักดันเองหมดได้สำเร็จ ต้องมาแชร์ข้อมูล แชร์ประสบการณ์ร่วมกันว่าเมืองที่มีศักยภาพจัดงานระดับนานาชาติต้องมีอะไรบ้าง เช่นปัจจัยพื้นฐานที่ดึงดูดด้านใดบ้าง องค์ประกอบที่จะทำให้งานประสบความสำเร็จควรประกอบด้วยเหตุปัจจัยใด และการที่องค์กรระดับนานาชาติจะเลือกขอนแก่นเป็นสถานที่จัดประชุมหรือกิจกรรม สถานที่หรือเมืองนั้นๆ ต้องพร้อมด้วยปัจจัยแวดล้อมด้านใดบ้าง ประเด็นต่างๆ เหล่านี้เป็นเงื่อนไขเชิงโครงสร้างที่ทุกภาคส่วนต้องหาคำตอบและเดินไปด้วยกัน

“เป็นโจทย์ที่เราต้องตีให้แตกว่าจะทำอย่างไรให้งานอีเวนตฺใหญ่ๆ จากต่างประเทศเลือกขอนแก่นเป็นสถานที่จัดงาน ปัจจัยร่วมมีอะไรบ้าง มีใครหรือองค์กรใดในท้องถิ่นที่ต้องเข้ามาทำงานสอดประสานรับกันเป็นทอดๆ เพื่อให้ได้งานเข้ามาจัดในขอนแก่น แต่ก่อนอื่นเราอาจต้องมองหางานภายในประเทศระดับภูมิภาคก่อน ว่าจะดึงเขามาได้อย่างไร จริงๆ แล้วมันไม่มีสูตรสำเร็จ เราต้องลงแรงร่วมกัน” น.ส.นุชให้ความเห็น และระบุอีกว่า

จากรายงานการจัดอันดับประเทศและเมืองเจ้าภาพด้านการจัดประชุมนานาชาติ ประจำปี 2566 ที่จัดทำโดยสมาคมการประชุมนานาชาติ (ICCA) ในแถบเอเชียแปซิฟิก ประเทศไทยเป็นอันดับ 6 จากเดิมเมื่อปี 2565 อยู่ในอันดับ 7 และล่าสุดได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 26 ของโลก จากเดิมอยู่อันดับที่ 32 ก้าวกระโดดขึ้นมาถึง 6 อันดับโลกภายในหนึ่งปี ถือได้ว่าอันดับขยับดีขึ้นเรื่อยๆ


ซึ่งอิกก้าแรงกิ้งระดับโลกดังกล่าวที่จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ก็น่าจะเป็นผลมาจากปริมาณงานประชุมสัมมนาจากต่างประเทศที่เลือกเมืองไทยเป็นสถานที่จัดงาน ประมาณการได้ว่าจัดงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร 60% ที่เหลือก็ลดหลั่นกันไป คือ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ส่วนขอนแก่นดูเหมือนจะแผ่วไปเลย

“ดังนั้น หลังจากนี้เราต้องร่วมกันคิดร่วมกันทำแล้วว่าจะทำอย่างไร มีวิธีการไหนบ้างที่จะให้องค์กรผู้จัดงานประชุมระดับนานาชาติเหล่านั้นหันมามองจังหวัดขอนแก่นเป็นอีกตัวเลือกหนึ่ง นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เชียงใหม่ พัทยา ภูเก็ต ซึ่งอาจจะต้องชูภูมิภาคลุ่มน้ำโขงเป็นจุดขายเสริม เป็นจุดหมายปลายทางในการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวภายหลังจากเสร็จสิ้นทริปประชุมสัมมนาในขอนแก่นแล้ว” น.ส.นุชกล่าว


ขณะที่ น.ส.อารีรัตน์ มนตรีปรีชาชัย ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สสปน.กล่าวเสริมว่า ทีเส็บมีภารกิจที่จะต้องผลักดันให้จังหวัดขอนแก่นเป็นไมซ์ซิตี้ ให้สามารถขายศักยภาพตัวเองได้ ควบคู่ไปกับอีก 2 จังหวัด คือ จ.อุดรธานีและนครราชสีมา เราจะพยายามประมูลสิทธิงานนานาชาติเข้ามาในพื้นที่ ไม่ให้กระจุกอยู่ในเฉพาะกรุงเทพฯ เพื่อให้เกิดการกระจายงานกระจายรายได้ทั่วอีสาน

“ผู้ประกอบการจะต้องได้รับการพัฒนา ได้รับการบ่มองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมสัมมนาหรืองานอีเวนต์ขนาดใหญ่หลากหลายมิติ ให้มีความพร้อมในการรับจัดงานในมาตรฐานสากล เราต้องพร้อมที่จะยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้เป็นตัวเลือกเป็นจุดหมายปลายทางของลูกค้าผู้จัดงาน”

น.ส.อารีรัตน์กล่าวย้ำว่า ทีเส็บยังคงดำเนินการชูกลยุทธ์ 3 ส เพื่อให้เป้าหมายไมซ์อีสานบรรลุผลอย่างยั่งยืน ประการแรก การสร้างงาน ที่มีศักยภาพตามนโยบายขับเคลื่อนอัตลักษณ์การตลาดเชิงพื้นที่และความต้องการของภาคธุรกิจ, การส่งเสริมงาน ทางทีเส็บจะพยายามดึงงานที่เป็นที่รู้จักระดับนานาชาติเข้ามาจัดในพื้นที่ขอนแก่น นครราชสีมา และอุดรธานี ให้บรรดาองค์กรธุรกิจหรือลูกค้าเป้าหมายสามารถปักหมุดเป็นจุดหมายปลายทางในพื้นที่อีสานได้อย่างรวดเร็ว และ ส อีกตัว การสนับสนุนการจัดงานในพื้นที่ให้เจริญเติบโตและยกระดับให้เป็นงานระดับภูมิภาค พัฒนาต่อยอดสู่การเป็นสถานที่จัดงานระดับนานาชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น