xs
xsm
sm
md
lg

“รมต.จิราพร”นำร่องเปิดงานกองทุนหมู่บ้านมันคงฯภาคอีสาน ตอกย้ำชุมชนเข้มแข็งพึ่งพาตนเองยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น-“รมต.จิราพร” ลงพื้นที่เปิดกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน” เดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองในพื้นที่ภาคอีสานเป็นการนำร่อง ก่อนขยายจัดในอีก 3 ภูมิภาค ตอกย้ำความสำเร็จชุมชนเข้มแข็งและการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน


วันนี้(10 ส.ค.) ณ ห้องคอนเวนชั่นฮอลล์ (ชั้น 2) ศูนย์ประชุมอเนกประสงค์กาญจนาภิเษก มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) จัดกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็ง อย่างยั่งยืน” และการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม พร้อมด้วยนายยุทธพร พิรุณสาร รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดขอนแก่นเข้าร่วม

นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ ได้ดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปี 2544 และในปีนี้ได้ก้าวสู่ปีที่ 23 สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจฐานราก ตามแนวคิดการพัฒนา Local Economy โดยมุ่งที่จะพัฒนาศักยภาพกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ทั้งในด้านกฎหมาย ระบบบัญชีการเงิน พัฒนาธุรกิจ และเทคโนโลยี รวมถึงความเข้าใจถึงความสำคัญในหน้าที่และความรับผิดชอบของตนให้ถ่องแท้ ร่วมกันคิด ร่วมกันทำ ด้วยความสุจริตและถือประโยชน์ของส่วนร่วมและประชาชนเป็นหลัก


ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการดำเนินงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองเข้มแข็ง จะเป็นกลไกการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนอย่างยั่งยืน ให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเอง มีความคิดริเริ่ม แก้ไขปัญหาต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และสังคม การจัดสรรและบริหารเงินกองทุน จำนวน 1 ล้านบาท ให้เกิดการหมุนเวียนในชุมชนและหมู่บ้าน ผ่านการบริหารจัดการอย่างมีระบบและยั่งยืน นอกจากนี้ ยังสามารถตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างแท้จริง

“เราคาดหวังว่าการพัฒนากองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองให้มีศักยภาพและเป็นองค์กรที่เข้มแข็ง จะสามารถช่วยแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำและยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็งและมั่นคง กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองยังเป็นกลไกที่สำคัญในการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน เพื่อนำพาประเทศไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน”นางสาวจิราพรกล่าว


สำหรับการจัดกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” และการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ในครั้งนี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์หลัก ที่ต้องการขับเคลื่อนการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองภาคอีสาน เพื่อเป็นกลไกในการการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชนให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน สร้างการรับรู้ให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองที่ประสบความสำเร็จ สามารถส่งต่อและแลกเปลี่ยนแนวคิดการบริหารจัดการกองทุนฯ ในวงกว้าง

รวมถึงการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ให้กับครัวเรือนของสมาชิกฯ พร้อมมอบรางวัลกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองปลอดหนี้ต้นแบบ จำนวน 5 รางวัล

นางสาวจิราพรกล่าวถึงการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นกิจกรรมแรกของปี และจะขยายการจัดกิจกรรมดังกล่าวไปยังพื้นที่อื่น ๆ อีก 3 ภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ สงขลา และพระนครศรีอยุธยา ภายใต้การส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ เพื่อให้กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองต้นแบบที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ส่งต่อแนวคิดการบริหารกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอื่น ๆ


ด้านนายเบญจพล นาคประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (สทบ.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรม “กองทุนหมู่บ้านมั่นคง ชุมชนเข้มแข็งอย่างยั่งยืน” ภายใต้โครงการส่งเสริมการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างยั่งยืนในหมู่บ้านและชุมชนเมือง และการประชุมเชิงปฏิบัติการเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง ภาคตะวันอีสาน เป็นการดำเนินการเพื่อให้กองทุนและชุมชนเมืองต้นแบบ ที่ประสบความสำเร็จในการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ ได้มีโอกาสส่งต่อแนวคิดการบริหารสู่กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองอื่นๆ ทั้งยังเป็นเวทีในการแลกเปลี่ยน เรียนรู้ แนวทาง ข้อเสนอแนะ และปัญหาอุปสรรคต่างๆ ของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง


สำหรับภายในงานช่วงบ่าย มีกิจกรรมหลากหลาย เช่น การเสวนาในหัวข้อ “สถานการณ์และการแก้ไขปัญหาหนี้นอกรับบอย่างยั่งยืน” และ หัวข้อ “ไขกลยุทธ์ สู่อิสระทางการเงิน โดยกองทุนหมู่บ้านฯ ต้นแบบ” โดยผู้แทนสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมถึงผู้ทรงคุณวุฒิ เช่น คุณอาจิน จุ้งลก ที่ปรึกษาโครงการและประธานมูลนิธิเพื่อการปฏิรูปสิทธิลูกหนี้ คุณอังศุเกติ์ วิสุทธิ์วัฒนาศักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามหนี้นอกระบบ และอำนวยความเป็นธรรม กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และผู้เชี่ยวชาญด้านการให้สินเชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีการออกบูธจากกองทุนต่างๆ บูธให้บริการคำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ บูธคลินิกแก้หนี้ และบูธจากสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เพื่อการเกษตร และธนาคารออมสิน รวมถึงการจัดนิทรรศการของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับความสำเร็จของการดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น