เชียงใหม่-สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่จับมือสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 นำทุกภาคส่วนจัดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม Kick off กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” สกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก เผยตั้งแต่ 1 ม.ค.-30ก.ค.67 พบผู้ป่วยแล้ว 2,015 ราย เน้นย้ำประชาชนใช้ยาทากันยุงช่วยป้องกันตัวเองจากการถูกยุงกัด
วันนี้(9ส.ค.67) ที่บริเวณลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ นายวรวิทย์ ชัยสวัสดิ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม “จิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม Kick off กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย” จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 โดยมีนายแพทย์กิตติพันธุ์ ฉลอม ผู้ช่วยนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวรายงานวัตถุประสงค์การจัดกิจกรรม พร้อมได้รับความร่วมมือจากภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้รวมทั้งสิ้นกว่า 400 คน
ทั้งนี้นายแพทย์กิตติพันธุ์ เปิดเผยว่า สถานการณ์โรคไข้เลือดออกของจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่ 1 ม.ค.– 30 ก.ค.67 พบผู้ป่วยทั้งสิ้น 2,015 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 169.87 ต่อแสนประชาชน โดยเมื่อเทียบกับปีที่แล้วในช่วงเวลาเดียวกันจะเห็นว่าพบผู้ป่วยน้อยลง 2.1 เท่า และพบผู้เสียชีวิต 3 ราย ส่วนอำเภอที่มีอัตราป่วยต่อแสนประชากรสูงสุด 5 อำเภอแรก ได้แก่ อำเภอแม่วาง อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอสันทราย อำเภอเวียงแหง และอำเภอแม่แตง
ขณะที่ผลข้อมูลการสำรวจค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายในสถานที่สำคัญ ได้แก่ ชุมชน วัด โรงเรียน โรงพยาบาล รวมถึงสถานที่ต่างๆ ยังคงพบค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายเกินเกณฑ์มาตรฐาน หากไม่ดำเนินการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายอย่างต่อเนื่อง อาจทำให้มีการระบาดของโรคติดต่อนำโดยยุงลาย ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตเพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่ และสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 1 เชียงใหม่ จึงได้จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนาสิ่งแวดล้อม Kick off กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ในครั้งนี้ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันจัดการสิ่งแวดล้อม และทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายในสถานที่ต่างๆ ทั้งในชุมชน วัด โรงเรียน และสถานที่สำคัญอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้อยากเน้นย้ำให้ประชาชนทายากันยุงเพื่อป้องกันตนเองจากการถูกยุงกัด โดยเฉพาะผู้ป่วยไข้เลือดออก เพื่อป้องกันการกระจายเชื้อไข้เลือดออกในตัวผู้ป่วยสู่ชุมชน เพราะผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกหากถูกยุงลายกัดสามารถส่งต่อเชื้อไข้เลือดออก (หลังผ่านระยะฟักตัวในยุง) ให้ผู้อื่นได้ ซึ่งการทายากันยุงในผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จะช่วยตัดวงจรดังกล่าว และลดการระบาดของโรคไข้เลือดออกได้
โดยหากประชาชนมีอาการป่วยน่าสงสัยว่าจะเป็นไข้เลือดออก เช่น มีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง มีผื่น มีจุดเลือดที่ลำตัว ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยยาลดไข้ที่ปลอดภัยคือยาพาราเซตามอล และควรหลีกเลี่ยงยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน ไดโคลฟีแนค แอสไพริน รวมถึงยาชุดซึ่งอาจมีผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง ทั้งนี้หากรับประทานยาลดไข้หรือเช็ดตัวแล้ว ไข้ไม่ลดภายใน 1-2 วัน ควรรีบไปพบแพทย์ทันที โดยสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 หรือ โทร.053-211048-50 กลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเชียงใหม่