ศูนย์ข่าวขอนแก่น-ศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์ฯ ม.ขอนแก่นจัดเวิร์คช้อปเข้มเปิดโลกแฟชั่นงานหัตถศิลป์
เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ด้วยอุตสาหกรรม MICE เน้นกลุ่มเป้าหมาย นักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบให้เห็นความสำคัญของการใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือทำธุรกิจ รุกตลาดพรีเมี่ยมทั้งในและต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ภาคอีสานเป็นแหล่งผลิตผ้าทอพื้นเมือง ผ้าไหมขึ้นชื่อ เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยเฉพาะจังหวัดขอนแก่นมีการสืบทอดการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมมายาวนาน โดดเด่นมากก็ที่อำเภอชนบท เป็นแหล่งผลิตเส้นไหมใหญ่สุดในภูมิภาค มีเกษตรกรปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเกือบหมี่นราย ผ้าไหมที่ผลิตในอำเภอชนบทและอีกหลายอำเภอของขอนแก่นจึงได้รับความไว้วางใจของตลาดผู้ใช้ผ้าไหมทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อหลายปีก่อน สภาหัตถกรรมโลก ยกให้ขอนแก่น เป็นเมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้าไหมมัดหมีแห่งแรกในเอเชีย ซึ่งเครดิตที่ได้จากสภาหัตถกรรมโลกดังกล่าวช่วยให้การพัฒนาต่อยอดธุรกิจเกี่ยวกับผ้าไหมของขอนแก่นหรือของไทยในตลาดสากลง่ายขึ้น
ล่าสุดที่ห้องที่ห้องวังเลิศ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี มหาวิทยาลัยขอนแก่น สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ องค์การมหาชน ร่วมกับศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์ฯ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่นได้จัดเวิร์คช้อป เปิดโลกแฟชั่นงานหัตถศิลป์ เมืองหัตถกรรมโลกแห่งผ้ามัดหมี่ ด้วยอุตสาหกรรม MICE ขึ้น โดยมีนักเรียน นักศึกษา และผู้ประกอบการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากผ้าไหม ผ้าไทยและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับผ้าเข้าร่วมอบรมอย่างหนาตา
โดยในงานนี้ นักศึกษาที่สนใจรับทุนการศึกษาต่อประเทศอิตาลี ด้านแฟชั่น ดีไซน์ การออกแบบฯลฯยังได้รับคำแนะนำวิธีการยื่นขอทุนเพื่อเดินทางศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลีอีกด้วย เป็นสิทธิพิเศษสำหรับนักศึกษาที่เข้าร่วมเวิร์คช้อป
ผศ.ดร.ดลฤทัย โกวรรธนะกุล ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศอุตสาหกรรมไมซ์และอีเว้นท์เชิงธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจและการบัญชี ม.ขอนแก่น กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการด้านการศึกษา แฟชั่น และไมซ์ เพื่อให้ความรู้กับกลุ่มผู้ประกอบการ นักเรียน นักศึกษา และผู้สนใจทั่วไปที่สนใจด้านแฟชั่น ด้านไมซ์ เพราะวิทยากรแต่ละท่านที่มาบรรยายและแลกเปลี่ยนข้อมูลล้วนแต่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจไมซ์และแฟชั่นฯ ทั้งจากสำนักส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ,สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมด้านการเดินทางท่องเที่ยว,ศูนย์ข้อมูลและแนะแนวการศึกษาต่อต่างประเทศ DP -Education
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์เรื่องของทุนไปศึกษาต่อที่ประเทศอิตาลี่ โดยเราได้มีความร่วมมือกับ DP Education ตัวแทนอย่างเป็นทางการของสถาบัน Istituto Marangoni, Domus Academy และ NABA, ITALY เป็นสถาบันการคึกษาชั้นนำด้านทัศนศิลป์ แฟชั่น การออกแบบ สิ่งทอ รวมถึงการจัดการธุรกิจสินค้าระดับหรูหรา
ผศ.ดร.ดลฤทัย กล่าวย้ำอีกว่าการจัดงานครั้งนี้เราได้บูรณาการกิจกรรมทั้งด้าน ไมซ์ แฟชั่นและการศึกษาเข้าด้วยกัน เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับการอบรมสามารถถอดบทเรียนจากข้อมูล ประสบการณ์จากวิทยากรไปใช้ประโยชน์ได้ เช่น น้องๆนักเรียน นักศึกษาได้รับความรู้จากวิทยากรบรรยายรวมถึงโอกาสที่จะได้ไปเรียนต่อที่อิตาลี่แบบได้รับทุนการศึกษาจากทั้ง 3 สถาบันชื่อดัง ส่วนผู้ประกอบการด้านผ้าท้องถิ่นที่เข้าร่วมเวิร์คช้อปครั้งนี้ ก็ได้รับความรู้เกี่ยวกับการเจาะกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มพรีเมี่ยม โดยเอาไมซ์หรือการจัดงานแสดงสินค้าเป็นเครื่องมือในการทำตลาดเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ง่ายขึ้น
น.ส.ธนพร ศิริลักษณ์ ผู้จัดการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ(สสปน.)ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือทีเส็บ เป็นหน่วยงานภาครัฐที่มีบทบาทหลักในการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไมซ์ในทุกมิติ ทั้งการประชุม อบรม สัมมนา, งานแสดงสินค้า รวมถึงการส่งเสริมการจัดงานอีเวนท์และเทศกาลระดับนานาชาติ ทั้งยังเป็นหน่วยงานจัดทำข้อเสนอยื่นประมูลสิทธิเป็นเจ้าภาพการจัดงานไมซ์นานาชาติเข้าสู่ประเทศไทย นั่นหมายความว่าทีเส็บเป็นผู้สร้างโอกาส ในการดึงงาน สร้างงานตลอดจนซัพพลายเชนในการกระจายรายได้จากการจัดงานไปในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยเฉพาะไมซ์ซีตี้
น.ส.ธนพรบอกอีกว่าหลายปีที่ผ่านมา ทีเส็บได้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนขอนแก่นซิลค์ซิตี้ ช่วยส่งเสริมผู้ประกอบการ สนับสนุนผู้จัดแสดงสินค้าเกี่ยวกับผ้าไหมและบ่มเพาะประกอบการให้มีความสามารถในการผลิตและการทำตลาดเพิ่มมากขึ้น ยกระดับสินค้าให้เป็นผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยม และเราได้ เตรียมจัดงานแสดงสินค้าร่วมกับจังหวัดขอนแก่น คืองานขอนแก่นเอ็กซิบิชั่น 2524 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ ภายในงานจะมีการเจรจาธุรกิจผู้ซื้อกับผู้ขายจากต่างประเทศ
“เราหวังว่าการใช้ไมซ์เป็นแพล็ตฟอร์มยกระดับสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ผ้าและไหมของขอนแก่นในระดับเวทีโลกจะบรรลุเป้าหมาย ซึ่งทุกภาคส่วนงานต้องร่วมมือร่วมใจกัน
ขณะที่ น.ส.ปัณพร วงษ์จันทร์เพ็ญ นายกสมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมด้านการเดินทางท่องเที่ยว(ไทย) กล่าวเสริมว่า การพัฒนาสินคัาท้องถิ่นหรือ Local product สู่ผลิตภัณฑ์พรีเมี่ยมหรูหราระดับสากล (Golbal) นั้น สิ่งสำคัญที่สุดผู้ผลิตหรือเจ้าของ ผู้ประกอบการ ต้องทำความเข้าใจ ศึกษาทำความรู้จักตัวสินค้าของตัวเองให้ถ่องแท้ เพื่อดึงจุดเด่นออกมาชูเป็นจุดขาย โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทผ้าท้องถิ่น ผ้าทอ ผ้าไหม ความประณีตของการถักทอด้วยมือจะช่วยให้อัพราคาขายได้มาก
นอกจากนี้ต้องไม่ลืมว่าสินค้าระดับพรีเมี่ยมที่ตลาดเป็นชาวต่างชาตินั้น แหล่งที่มาของสินค้าหรือแหล่งซึ่งได้มาของวัตถุดิบหรือที่เรียกว่าเรื่องราวอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์(story)สำคัญมากเช่นกัน ยิ่งสินค่ามีเรื่องเล่ามีความเป็นตำนานนานมากเท่าไหร่ ยิ่งเพิ่มมูลค่าได้มาก เป็นสิ่งพิเศษที่ผู้ซื้อมีความภูมิใจได้เป็นเจ้าของ แม้ราคาจะสูงก็ไม่ใช่ปัญหา