xs
xsm
sm
md
lg

หนึ่งเดียวในโลก! ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอกสร้างรูปเหมือนหลวงพ่อใหญ่ ผู้ก่อตั้งวัดถ้ำกระบอกด้วยหินลาวา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สระบุรี - หนึ่งเดียวในโลก! ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอก สร้างรูปเหมือนหลวงพ่อใหญ่ ผู้ก่อตั้งวัดถ้ำกระบอกด้วยหินลาวา หน้าตัก 16 เมตร สูง 22 เมตร เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้ก่อตั้งและเป็นพยานของหลักธรรมโลกุตตระธรรมของศาสนา

วัดถ้ำกระบอก อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี นอกจากเป็นวัดที่มีชื่อเสียงในประเทศไทยมาอย่างยาวนาน มีทั้งเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา และเรื่องการรักษาสัจจะวาจา รวมถึงเป็นสถานที่บำบัดผู้ป่วยติดยาเสพติด และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีพระหินลาวาองค์ใหญ่ตั้งอยู่กลางภูเขา มีพระพุทธรูปที่สูงเฉียดฟ้า 2 องค์ ตั้งอยู่ และเมื่อเดินบันไดขึ้นไปจะเห็นลานพระพุทธรูปหินลาวา สีดำ รายล้อมไปด้วยพระพุทธรูปต่างๆ หลายสิบองค์ เรียงรายกันเป็นวงกลม เมื่อมีนักท่องเที่ยวเดินเข้าไปใกล้ตัวจะเล็กลงมากจนเหลือตัวเล็กนิดเดียว

จากการบอกต่อๆ กันมาว่าที่วัดถ้ำกระบอกมีการจัดสร้างวิหารและสร้างองค์พระขนาดใหญ่ด้วยหินลาวา ผู้สื่อข่าวจึงได้เดินทางไปที่วัดดังกล่าว พบกับพระอาจารย์บุญส่ง ฐานจาโร ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอกและประธานสงฆ์วัดถ้ำกระบอก พร้อมด้วยพระลูกวัด ดำเนินการเผาหินลาวา ด้วยเตาเผาความร้อนสูงที่สร้างขึ้นมา 2 เตา เพื่อหลอมละลายหินลาวา แล้วนำไปเทหล่อองค์พระขนาดใหญ่ ที่มีหน้าตัก 16 เมตร สูง 22 เมตร เทหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อใหญ่ องค์เขตะมารัจจะ ผู้ก่อตั้งถ้ำกระบอกองค์แรกที่สร้างไว้บนวิหารสร้างใหม่

พระอาจารย์บุญส่ง ฐานจาโร ประธานมูลนิธิถ้ำกระบอกและประธานสงฆ์วัดถ้ำกระบอก ได้เล่าถึงวัตถุประสงค์ที่ดำเนินการจัดสร้างองค์หลวงพ่อใหญ่รวมถึงขั้นตอนการหลอมละลายหินลาวา ว่า หลวงพ่อใหญ่เป็นผู้ก่อตั้งที่นี่ สำนักสงฆ์ถ้ากระบอก เป็นผู้ก่อตั้งขึ้นมา และตอนนี้เราได้ทำสถานที่เพื่อนำสังขารหลวงพ่อนำขึ้นไปเก็บไว้ ที่ มณฑป แล้วจะสร้างรูปเหมือนของท่านเป็นองค์ใหญ่ เป็นอนุสรณ์สถาน รำลึกถึงผู้ก่อตั้งและเป็นพยานของหลักธรรมโลกุตตระธรรมของศาสนา ท่านเป็นผู้นำคำสอนของพระพุทธเจ้าให้พวกเราได้ปฏิบัติธรรมกันตรงนี้ เราระลึกถึงพระคุณ จึงได้สร้างรูปเหมือนท่านเป็นอนุสาวรีย์ไว้เป็นอนุสรณ์สถาน มีขนาดหน้าตักประมาณ 16 เมตร สูงประมาณ 22 เมตร เป็นรูปเหมือนของท่าน

โดยการหล่อด้วยหินลาวา และพระที่บนหลักเราหล่อด้วยหินลาวาทั้งหมดและหลักกลางเป็นหินลาวา ธรรมจักรเป็นหินลาวา ซึ่งหินลาวาจะไม่มีการผุกร่อน แต่ถ้าเป็นทองเหลืองหรือเป็นอะลูมิเนียมนานๆ ไปจะผุกร่อน ถ้าเป็นหินลาวาจะไม่มีการผุกร่อนเลยและถ้าทำเสร็จแล้ว หินเจีย หรืออื่นๆ ไม่สามารถทำให้กระทบกระเทือนได้ ไม่มีการขึ้นสนิม ไม่มีการผุกร่อนใดๆ จะอยู่เป็นหมื่นๆ ปีก็ไม่เป็นไร

โดยที่ผ่านมาได้ทดลองทำมา 2-3 ปีแล้ว ถือหนึ่งเดียวในโลกก็ว่าได้ เพราะว่าการหล่อหลอมไม่มีที่ไหนทำได้ หรือไปหาช่างที่ไหนบอกว่าทำไม่ได้กันทั้งนั้น คือการหล่อหลอมหินพวกนี้หรือเป็นเหล็กเป็นอะลูมิเนียมพวกนี้ เขาบอกว่าถามมาหลายที่แล้วไม่สามารถทำได้ คือมันจะไม่ประสานกัน แต่ของเราอยู่เป็นปีๆ เอามาหล่อก็ติดกัน และการหล่อหลอมจนเป็นน้ำออกมามันยากมาก ที่ผ่านมาทดลองทำมาทุกอย่าง คือ เก็บเอาหินที่มีอยู่ในประเทศไทยเกือบทุกจังหวัดเอามาหลอม

จนมาพบหินลาวาตัวนี้ หลอมง่าย การเซตตัวก็ง่าย และการอยู่ตัวจะไม่เป็นฟองอากาศ จึงได้เอามาเป็นมวลสารที่ลงตัวพอดี ในการหลอมครั้งหนึ่งต้องติดเตาวันกับคืนเฉลี่ยต้องใช้ถ่าน 5 ถึง 10 ตัน ใช้งบประมาณ 3 แสนบาทต่อวัน

ส่วนหินลาวาจะไปเอาที่เขาทับควาย จ.ลพบุรี และไปเอาที่ชลบุรี เมืองเลยบ้าง คือที่ไหนมีจะไปเอามา ซึ่งยิ่งตอนนี้เหมืองต่างปิดกันทำให้หายากขึ้น ค่าใช้จ่ายสูงขึ้น

ส่วนเตาหลอมเราคิดสร้างทำขึ้นมาเองทั้งหมด ซึ่งเราจะไปใช้เตาที่เขาใช้หลอมเหล็ก ค่อยๆหาดัดแปลงรูปแบบการหลอมละลายให้ได้ปริมาณมากขึ้นและเร็วขึ้น ดังนั้นถ้าเราใช้ของพวกวิชาการเขา เตาหลอม ลูกหนึ่งใบเล็กๆ ไม่ใหญ่ ที่นี้เราต้องมาขยายสัดส่วนให้มันได้ปริมาณมากขึ้นเพราะว่าวัสดุมีปริมาณมาก ใช้เวลา 30 นาที จะได้ปริมาณการหลอมละลายออกมาเป็นน้ำประมาณ 500 กิโล แต่ถ้าจุดเตาตั้งแต่เริ่มต้นจะใช้เวลานานหน่อยประมาณ 1 ชั่วโมงและถ้าเลย 1 ชั่วโมง 2 ชั่วโมงไปแล้ว เวลาจะลดลงมาเหลือ 30 นาที

ส่วนกำหนดการหล่อหลวงพ่อใหญ่ ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะเสร็จเมื่อไหร่ เพราะเพิ่งเริ่มต้นทำแบบขึ้นมา และเริ่มเทฐานที่องค์พระ ต้องใชเวลาเป็นปีๆ เทครั้งหนึ่งได้นิดเดียว อย่างหลักธรรมที่หล่อขึ้นมาใช้เวลา 10 วัน กับ 1 คืน ได้ประมาณแค่คืบเดียวเอง และลองคิดดูความสูงเกือบ 40 เมตร ใช้เวลา 4 ปี

ดังนั้นจึงเรียกได้เลยว่าหนึ่งเดียวในโลก เพราะไม่มีที่ไหนทำลองไปหาดูเถอะ โดยวิชาการแล้วทำไม่ได้ เรากล้าพูดได้ว่า ไม่มีที่ไหนทำได้ และการสร้างองค์หลวงพ่อใหญ่ เราสร้างด้วยแรงกายแรงใจของเราเอง เรากินมื้อเดียว นี้แหละถึงจะทำสำเร็จ ถ้าไปกิน 3 มื้อ ทำไม่สำเร็จหรอก คือที่พูดแบบนี้หมายความว่า ทำด้วยใจ ไม่ใช่ทำด้วยเงิน

สำหรับที่มาของวัดถ้ำกระบอก เริ่มจากที่ หลวงพ่อใหญ่ พระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ และพระอาจารย์เจริญ ปานจันทร์ พร้อมด้วยคณะสงฆ์กลุ่มหนึ่งที่ได้เดินธุดงค์มา ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ปฏิบัติกันมาโดยตลอดทุกปี ครั้งแรกสงฆ์คณะนี้ได้จำพรรษาอยู่ที่วัดคลองเม่าธรรมโกศล จังหวัดลพบุรี ในระหว่างการธุดงค์ ได้เดินธุดงค์ผ่านมาแถวเทือกเขาโปร่งปราบ อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี

ขณะที่พักจากการเดินธุดงค์ที่ถ้ำกระบอก ได้พิจารณาว่าที่ถ้ำกระบอก สงบเงียบเหมาะเป็นที่ปฏิบัติกิจของสงฆ์มากและหลังกลับจากเดินธุดงค์ถึงวัด คลองเม่า จึงได้ย้ายคณะสงฆ์มาอยู่ที่ถ้ำกระบอก ซึ่งต่อมาได้มีญาติโยมอาราธนาให้อยู่ที่นี่โดยถวายที่ดินให้เพื่อการปฏิบัติธรรม คณะสงฆ์จึงได้อยู่ปฏิบัติธรรมที่นี่ และกลายมาเป็นสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก หรือ “ถ้ำกระบอก”สถานที่เลิกยาเสพติดให้โทษในปัจจุบัน

ในระยะแรกทั้ง 3 รูปได้ช่วยกันปกครองคณะสงฆ์ ต่อมาในปี พ.ศ.2513 หลวงพ่อใหญ่ได้ละสังขาร พระอาจารย์เจริญ ปานจันทร์ออกเดินธุดงค์ไปยังสถานที่ต่างๆ และได้ไปสร้างสำนักสงฆ์นครโมกุลขึ้น ที่อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี พระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ จึงเป็นผู้นำคณะสงฆ์ถ้ำกระบอกตั้งแต่นั้นมา และได้บริหารงานการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2518 ได้รับรางวัลแมกไซไซ สาขาบริการสาธารณะ ในปี พ.ศ.2524 พระอาจารย์เจริญ ปานจันทร์ ได้กลับมาพำนักที่สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกอีกครั้งหนึ่ง และได้ช่วยพระอาจารย์จำรูญ ปานจันทร์ บริหารงานต่างๆ ในสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก เช่น การก่อสร้างถาวรวัตถุในพุทธศาสนา สร้างหลักธรรมโลกุตตระ สร้างกุฏิสงฆ์ สร้างโบสถ์ วิหาร และด้านสาธารณูปโภค

ส่วนในด้านการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดยังอยู่ในความรับผิดชอบของพระอาจารย์ จำรูญ ปานจันทร์ จนกระทั่งพระอาจารย์จำรูญได้ละสังขาร พระอาจารย์เจริญจึงได้ เป็นผู้นำคณะสงฆ์ถ้ำกระบอกสืบมา

หลังจากที่พระอาจารย์เจริญละสังขาร พระอาจารย์บุญส่ง ได้ถูกเลือกให้เป็นเจ้าสำนักสงฆ์ถ้ำกระบอก สำนักสงฆ์ถ้ำกระบอกได้รับประกาศตั้งเป็นวัดถ้ำกระบอกในปี พ.ศ.2555 ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา ในปี พ.ศ.2558 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย โดยมีพระอธิการวิเชียร กิตฺติวณฺโณ เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก










กำลังโหลดความคิดเห็น