xs
xsm
sm
md
lg

ร ร.บ้านนาคำ นครพนมเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาหารกลางวันก่อนต่อยอดสู่คลังอาหารชุมชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นครพนม - โรงเรียนบ้านนาคำ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ เลี้ยงไก่ไข่ใช้เป็นวัตถุดิบประกอบอาหารกลางวันเลี้ยงเด็กๆ สร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียน สู่คลังอาหารชุมชนโดยรอบโรงเรียน



หลังจากรับมอบ “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” ที่เครือซีพี บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และหอการค้าญี่ปุ่น-กรุงเทพฯ หรือ JCC ร่วมกันดำเนินการแล้ว โรงเรียนบ้านนาคำ ต.บ้านค้อ อ.โพนสวรรค์ จ.นครพนม ได้เริ่มต้นโครงการฯ นี้อย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2566 และสามารถสร้างผลผลิตไข่ไก่จากแม่ไก่ที่พวกเขาดูแลด้วยตัวเอง เป็นวัตถุดิบสำคัญสำหรับอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนทุกคน

นางวิภาวณี บุญศรี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาคำ กล่าวถึงที่มาของการร่วมโครงการฯ ว่า จากการที่หลายโรงเรียนในเขตอำเภอโพนสวรรค์ได้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ที่เครือซีพี ซีพีเอฟ และมูลนิธิฯ ให้การสนับสนุนและส่งเสริมภาวะโภชนาการที่ดีแก่นักเรียนอยู่แล้ว โรงเรียนบ้านนาคำจึงขอรับการสนับสนุนโครงการฯ นี้ หลังจากได้รับการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ก็ทำให้นักเรียนได้บริโภคไข่ไก่ที่มีโปรตีนคุณภาพดี ได้มีโอกาสฝึกอาชีพเลี้ยงไก่ไข่ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

“โรงเรียนบ้านนาคำของเราเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียน 104 คน เปิดสอนนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึงประถมศึกษาปีที่ 6 เราตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ เพื่อให้นักเรียนได้กินไข่ไก่เป็นอาหารกลางวัน โดยกำหนดให้มีเมนูไข่ อย่างน้อย 3 วันต่อสัปดาห์” นางวิภาวณีกล่าว และว่า


ขณะเดียวกัน โรงเรือนไก่ไข่ยังเป็นห้องเรียนอาชีพ เป็นแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียนให้กับนักเรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง และซีพีเอฟยังส่งเสริมการจ้างงานแก่คนพิการในหมู่บ้านได้มีงานทำจากการมาช่วยงานในโรงเรือนเลี้ยงไก่ มีรายได้ดูแลครอบครัว มีชาวชุมชนทุกคนเป็นลูกค้าผู้สนับสนุนซื้อผลผลิตไข่ไก่จากฝีมือการเลี้ยงของลูกหลานของพวกเขาเอง

ด.ช.วีรภัทร ตงกะพษ์ หรือน้องติว นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เล่าว่า ปัจจุบันมีนักเรียนผู้ดูแลโครงการจำนวน 18 คน เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยระบุเข้าในการเรียนรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ วันนี้เราภูมิใจที่โครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ของโรงเรียนกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาการบริหารจัดการธุรกิจเกษตร และยังเป็นคลังอาหารให้นักเรียนและชุมชน เพราะได้ทั้งไข่ไก่เพื่อเป็นอาหารกลางวัน ส่วนที่เหลือยังจำหน่ายให้กับผู้ปกครองด้วย

ทางด้าน ด.ญ.ดาริกา มันอาษา หรือน้องน้ำแข็ง นักเรียนชั้นเดียวกัน บอกว่า การดูแลไก่ไข่นั้นไม่ยุ่งยาก ในแต่ละวันมีนักเรียนรับผิดชอบวันละ 5 คน แบ่งงานเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงก่อนเข้าแถวเคารพธงชาติในตอนเช้า จะเข้าทำความสะอาดโรงเรือน ที่ให้น้ำ และรางอาหาร รวมถึงให้อาหารรอบแรก จากนั้นช่วงเที่ยงเป็นกิจกรรมเก็บไข่ไก่ คัดไข่ ลงบันทึกปริมาณ และนำส่งสหกรณ์โรงเรียน สุดท้ายช่วงบ่ายโมงเป็นการให้อาหารไก่ครั้งที่ 2 นอกจากนี้ มูลไก่ที่นำออกไปตากแดดทุกๆ 3 วันยังสร้างรายได้ให้ถึงกิโลกรัมละ 5 บาท




สำหรับขั้นตอนการเข้าร่วมโครงการฯ ผอ.วิภาวณีอธิบายว่า เริ่มจากการสมัครผ่านทางเว็บไซต์ของมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เมื่อได้รับการตรวจสอบและผ่านคุณสมบัติตามที่กำหนดแล้ว คณะกรรมการจากมูลนิธิฯ และซีพีเอฟ จึงเข้ามาดูพื้นที่ว่าเหมาะสมกับการเลี้ยงไก่ไข่หรือไม่ พร้อมประชุมคณะกรรมการสถานศึกษา คณะครู และบุคลากร เพื่อขอความเห็นชอบในการเลี้ยงไก่ไข่ เมื่อผ่านกระบวนการทั้งหมดแล้วจึงเริ่มต้นการเลี้ยงไก่ไข่

โดยโครงการสนับสนุนการก่อสร้างโรงเรือนและติดตั้งอุปกรณ์เลี้ยงไก่ไข่ พันธุ์ไก่ไข่ และอาหารไก่ไข่ฟรี เป็นระยะเวลา 1 ปี โดยมีซีพีเอฟสนับสนุนงบประมาณ และยังส่งนักสัตวบาลเข้ามาสนับสนุนด้านวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นเลี้ยงจนถึงปลดแม่ไก่ พร้อมทั้งแนะนำการจัดการผลผลิตไข่ไก่สด การจำหน่าย และการบริหารจัดการด้านตลาด ทำให้โครงการฯ สามารถบริหารรายได้เป็นเงินกองทุน ส่งต่อให้กับรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้โรงเรียนพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน


ปัจจุบันโรงเรียนของเราไม่มีต้นทุนในการเลี้ยงไก่ไข่ เนื่องจากได้รับอาหารไก่ไข่จากโครงการฯ เป็นเวลา 1 ปี จึงสามารถเก็บเงินที่จำหน่ายไข่ไก่ไว้สำหรับต่อยอดโครงการฯ ในปีต่อๆ ไปได้ ทั้งครูและนักเรียนต่างดีใจที่รับคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ ทุกคนรู้สึกภูมิใจมากที่โรงเรียนขนาดเล็กของเราสามารถบริหารจัดการโครงการฯ ได้อย่างดี นักเรียนได้บริโภคไข่ ได้ฝึกอาชีพ ทำให้โรงเรียนได้ต้อนรับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และยังได้การสนับสนุนระบบไอซีทีและคอมพิวเตอร์เพื่อการเรียนรู้จาก ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อต่อยอดจากการยกระดับคุณภาพชีวิตของชุมชน นำเทคโนโลยีระบบฟาร์มอัตโนมัติ (Farm Automation) ด้วยระบบไอโอทีด้วย

เครือซีพี โดยมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟ ภูมิใจที่ได้ร่วมสร้างโภชนาการที่ดีให้เยาวชน ตลอด 36 ปี ช่วยแก้ปัญหาทุพโภชนาการในเด็กนักเรียน ช่วยบรรเทาปัญหาขาดแคลนโปรตีนแก่เยาวชนในชนบทมากถึง 213,794 คน ใน 959 โรงเรียนทั่วประเทศ พร้อมสนับสนุนความมั่นคงด้านอาหารและโภชนาการที่ดีแก่เด็กนักเรียน สร้างคลังอาหารในโรงเรียนและชุมชนใกล้เคียง เกิดเป็นแหล่งอาหารโปรตีนโดยฝีมือของนักเรียน นำไปสู่การพัฒนาระบบการบริหารจัดการผลผลิตที่สร้างความยั่งยืนให้กับโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันได้อย่างเป็นรูปธรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น