ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - รถบรรทุกขนส่งสินค้าอีสานอ่วมหนัก น้ำมันแพง ต้นทุนพุ่ง ซ้ำเจอทุนจีนเข้ามาแข่งเดือด ต้องจอดรถทิ้ง 50% เพราะวิ่งขาดทุน เรียกร้องรัฐปรับขึ้นค่าขนส่งตามราคาน้ำมัน หากไม่ปรับผู้ประกอบการไทยสู้จีนไม่ไหวแน่
วันนี้ (6 ส.ค. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจาก นายวิชัย สว่างขจร นายกสมาคมขนส่งสินค้าภาคอีสาน เปิดเผยว่าสถานการณ์ปัจจุบันเป็นช่วงวิกฤตที่สุดภาพรวมจำนวนสมาชิกประมาณ 700 ราย มีรถบรรทุกไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นคัน ขณะนี้รถ 50% ต้องแจ้งสำนักงานขนส่งขอจอดหยุดวิ่งทั้งแบบชั่วคราวและถาวร เพื่อให้ทะเบียนยังคงอยู่และในรอบปีถูกไฟแนนซ์ตามยึดรถกว่า 2,000-3,000 คัน ซึ่งผลกระทบมาจากหลายปัจจัย ประกอบด้วยราคาน้ำมันดีเซลแพงขึ้นต่อเนื่อง การจ้างงานบริการภาคธุรกิจขนส่งลดลง
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่ไปที่บริษัทหิรัญ ทรานสปอต จำกัด ต.หัวทะเล อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบกับ นายสมพล หิรัญญสุทธิ์ ประธานสหกรณ์ผู้ให้บริการขนส่งสินค้าภาคอีสาน จำกัด เปิดเผยว่า สำหรับสหกรณ์ฯ เป็นการรวมตัวของผู้ประกอบการรถบรรทุกสินค้ารายย่อย ในพื้นที่ภาคอีสาน ที่ไม่มีศักยภาพในการไปแข่งขันกับรายใหญ่ รวมตัวกันเป็นกลุ่มตั้งสหกรณ์ขึ้นมา เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการด้วยกันเอง ปัจจุบันมีรถบรรทุกสินค้าอยู่ในกลุ่มสหกรณ์กว่า 80 คัน และยอมรับว่ามีรถหลายคันที่ต้องจอดทิ้งไว้เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุน
สถานการณ์ภาคธุรกิจขนส่งสินค้าได้รับผลกระทบอย่างหนักตั้งแต่ช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาแล้ว จนถึงขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งมีการปรับขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว, กัมพูชา, เวียดนาม และมาเลเซีย เป็นต้น ของไทยปรับขึ้นมากกว่าเขาเท่าตัว โดยเฉพาะต้นทุนค่าตัวรถบรรทุก เมื่อไปเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศเวียดนาม ราคาหัวรถกับหางลาก ประมาณ 2 ล้านบาท แต่เมื่อมาเทียบกับไทย จะมีราคาสูงเกือบ 4 ล้านบาทเลยทีเดียว
ต้นทุนต่อมาคือราคาน้ำมัน ซึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ตนได้เดินทางไปที่แขวงเซกอง สปป.ลาว พบว่าน้ำมันดีเซลที่นั่นเมื่อเทียบกับเงินบาท ขายลิตรละ 31.20 บาท ขณะที่ประเทศไทยขายอยู่ที่ลิตรละ 33.94 บาท ซึ่งแพงกว่ากันถึง 3.70 บาท ถ้าคิดต้นทุนค่าขนส่งต่อกิโลเมตรจะอยู่ประมาณกิโลเมตรละ 26-28 บาท แต่ได้รับค่าจ้างขนสินค้าเฉลี่ยกิโลเมตรละ 28-30 บาท เมื่อนำมาหักภาษีเงินได้ และการบริหารจัดการพนักงานในออฟฟิศก็แทบจะเข้าเนื้อกันแล้ว
จึงทำให้ผู้ประกอบการรถบรรทุกขนส่งสินค้าต้องตัดสินใจจอดรถทิ้งไว้เพราะถ้าวิ่งแล้วจะขาดทุน ยกเว้นบางรายที่ไม่มีภาระค่าผ่อนรถแล้ว และยังมีต้นทุนใหม่อื่นๆ อีกที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนราคาค่าแรงที่สูงขึ้น ต้นทุนมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ ที่ทางกรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้ และต้นทุนสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งเป็นต้นทุนใหม่ที่ทางกรมธุรกิจพลังงานเพิ่งกำหนดมา เพื่อป้องกันผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม
ดังนั้นเมื่อรวมต้นทุนต่างๆ เหล่านี้แล้ว หากจะให้ผู้ประกอบการต่างชาติ โดยเฉพาะจีน เข้ามาเปิดบริการแข่งขัน ภายใต้สัญญา FTA หรือข้อตกลงยกเว้นภาษีอีก ผู้ประกอบการไทยคงสู้ไม่ไหวแน่นอน ดังนั้นทางสหกรณ์ฯ จึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลว่า เมื่อมีการปรับราคาน้ำมันขึ้นมาแล้ว ก็ควรปรับราคาค่าขนส่งให้ด้วย เพื่อให้มีความสมดุลกัน หากไม่ปรับราคาค่าขนส่งขึ้น ผู้ประกอบการไทยจะอยู่ไม่ได้แน่นอน
นอกจากนี้ กรณีที่มีทุนจีนมาใช้คนไทยเป็นนอมินีเพื่อที่จะเปิดบริษัทขนส่งในไทย หรือที่เรียกว่าขนส่ง 0 เหรียญนั้น ถือว่าน่าวิตกเป็นอย่างมาก เพราะเขาเชื่อมต่อระบบขนส่งของจีนที่มาจ่ออยู่ตามประเทศเพื่อนบ้านไทย นำสินค้าเข้ามาโดยตรง ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบการไทยเองที่มีต้นทุนการขนส่งแพงอยู่แล้ว ไปแข่งขันกับจีนไม่ได้เลย
ตนจึงอยากแนะนำรัฐบาลว่าเราควรใช้กลยุทธ์เดียวกันกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมื่อเราไปเวียดนาม เขาก็กีดกันรถบรรทุกพวงมาลัยซ้าย-ขวา โดยให้เหตุผลว่าเพื่อความปลอดภัยด้านการจราจร, เข้ากัมพูชา ก็จำกัดจำนวนรถ และเข้า สปป.ลาว ให้เข้าได้เฉพาะหาง ห้ามนำหัวรถลากเข้าไป เป็นต้น ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดถ้าจะขนส่งสินค้าเข้ามาในไทยก็ควรให้ไปขนถ่ายสินค้าที่ชายแดน แล้วให้รถขนส่งสินค้าของไทยไปขนถ่ายสินค้าเข้ามาดีที่สุด