xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ส่งออกชู “ลำพูนโมเดล” ปฏิวัติสวนลำไยภาคเหนือ ลุยอินเดียเสริมตลาดจีน-อินโดฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลำพูน - “แพลททินัม ฟรุ๊ต” ผู้ส่งออกลำไยแถวหน้าของไทย ชง “ลำพูน โมเดล” ช่วยชาวสวนภาคเหนือปลูกลำไยคุณภาพ หลุดพ้นวงจรราคาตกแบบยั่งยืน พร้อมเดินหน้าทำตลาดอินเดียเพิ่ม จากเดิมมีจีน-อินโดฯ รองรับอยู่แล้ว



นายณธกฤษ เอี่ยมสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และนางชมชนก เอี่ยมสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ที่ถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการส่งออกลำไยช่อสดเกรดพรีเมียมชั้นนำของประเทศไทย กล่าวระหว่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ติดตามมาตรการดูแลลำไยภาคเหนือ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ โรงงานลำไยอำเภอป่าซาง จ.ลำพูน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลททินัม ฟรุ๊ต จำกัด ระบุว่า ลำไยเป็นผลไม้หลักที่มีการส่งออกลำดับที่สามของประเทศไทย สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศปีละกว่า 20,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีตลาดใหญ่รองรับทั้งจีน อินโดนีเซีย และล่าสุดคือ อินเดีย ที่แพลททินัม ฟรุ๊ต เข้าไปทำตลาด ซึ่งช่วงนี้เป็นโอกาสดีอย่างยิ่งในการส่งออกลำไยเพื่อทดแทนการบริโภคผลไม้ชนิดอื่นของคนอินเดีย

อย่างไรก็ตาม ปีนี้แม้ภาพรวมผลผลิตลำไยของประเทศทั้งในฤดู-นอกฤดู คาดว่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น ปัญหาที่พบคือ ผลผลิตลำไยที่ได้คุณภาพตามเกรดส่งออกยังมีน้อยไม่เพียงพอกับดีมานด์ของตลาด ซึ่งมีผลต่อราคาลำไย โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตในฤดูของภาคเหนือออกสู่ตลาดพร้อมกันเป็นจำนวนมากกว่า 6 แสนตัน ตั้งแต่เดือนมิถุนายนจนถึงกันยายน ซึ่งเดือนสิงหาคมผลผลิตจะออกมากสุด


“การจะแก้ปัญหาราคาลำไยอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเร่งพัฒนา “คุณภาพ” ของผลผลิตและตลาด ซึ่งต้องพึ่งพาความร่วมมือ 3 ภาคส่วน คือ ภาครัฐ ภาคเอกชน  เกษตรกร”

ภาครัฐต้องช่วยให้คำแนะนำการพัฒนาคุณภาพลำไยให้เกษตรกร เพิ่มช่องทางระบายสินค้าในประเทศ ออกมาตรการช่วยสนับสนุนด้านต่างๆ ส่วนภาคเอกชนต้องมองหาตลาดคุณภาพมารองรับ และรับซื้อในราคาที่เหมาะสม เป็นธรรม ขณะที่เกษตรกรก็ต้องมุ่งพัฒนาผลผลิตของตนให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดปลายทางต้องการ

จากการสำรวจพบว่าเกษตรกรชาวสวนลำไย ร้อยละ 40 ของประเทศ ยังขาดการสนับสนุนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การเกษตร ผลผลิตจึงไม่ได้คุณภาพเท่าที่ควร ดังนั้น แพลททินัม ฟรุ๊ต ได้เข้ามาให้ความช่วยเหลือในด้านการให้ความรู้ความเข้าใจ การทำวิจัย R&D และการบริหารจัดการคุณภาพสวนที่ได้มาตรฐานให้เกษตรกรชาวสวนลำไยภาคเหนือ เพื่อสามารถพัฒนาผลผลิตลำไยคุณภาพเกรดส่งออกได้ตลอดปี


แพลททินัม ฟรุ๊ต จะมีการนำแนวคิด “ลำพูนโมเดล” มาใช้กับเกษตรกรในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ ซึ่งได้มีการทดลองใช้กับชาวสวนลำไย อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมาและประสบความสำเร็จด้วย โดยลำพูน โมเดลเป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่จำเป็นสำหรับเกษตรกรที่ต้องการทำลำไยเกรดส่งออก

กระบวนการทำงานของลำพูนโมเดล เริ่มจากแพลททินัม ฟรุ๊ต ส่งทีมงาน R&D เข้าไปสำรวจสวน ให้คำแนะนำในการปรับปรุง หลังจากนั้นจะพาเกษตรกรชาวสวนที่ร่วมโครงการไปดูงานตัวอย่างสวนลำไยที่จังหวัดจันทบุรีซึ่งสามารถปลูกได้ผลผลิตคุณภาพส่งออก โดยเกษตรกรที่เข้าโครงการจะต้องมีการแบ่งพื้นที่ 5 ไร่มาทำแปลงทดลองเพาะปลูกตามโปรแกรมที่แพลททินัม ฟรุ๊ต กำหนด

ทั้งนี้ แพลททินัม ฟรุ๊ต จะมีการขยายการใช้ลำพูนโมเดลกับพื้นที่อื่นๆ ของภาคเหนือในอนาคต เพื่อร่วมสนับสนุน ช่วยเหลือแก้ปัญหาราคาและยกระดับคุณภาพลำไยไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน




กำลังโหลดความคิดเห็น