กาฬสินธุ์ - “โคกหนองนา ปลาร้าอีสาน” โชว์ปรุงสดประกวดสุดยอดอาหารอีสาน “ฮักกาฬสินธุ์ 3” ชูปลาร้าอีสานสู่ตลาดโลก พร้อมเปิดใจ “ไมค์ ภิรมย์พร” ศิลปินนักร้องชื่อดังเผยทำอย่างไร “ค้าปลาร้า” ให้สำเร็จ
วันนี้ (1 ส.ค.) ที่ลานอเนกประสงค์หน้าศาลากลาง จ.กาฬสินธุ์ (หลังเก่า) สถานที่จัดงาน โคกหนองนา ปลาร้าอีสาน “ฮักกาฬสินธุ์ 3” โดยสำนักงานพัฒนาชุมชน จ.กาฬสินธุ์ หอการค้า จ.กาฬสินธุ์ เครือข่ายโอทอป และเครือข่ายโคกหนองนา 18 อำเภอ ร่วมกันจัดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม ถึงวันที่ 3 สิงหาคม 2567 ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจภายในจังหวัดได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการนำผลิตผลพืชผักสวนครัว จากโคก หนอง นา รวมถึงผลิตภัณฑ์ปลาร้ากาฬสินธุ์ และใกล้เคียงทั่วภาคอีสานมากกว่า 300 แบรนด์ นำมาจำหน่ายให้ประชาชนได้เลือกชอป ชม แชะ เกิดการซื้อการขายทำให้เกษตรกรในโครงการโคก หนอง นาได้จำหน่ายสินค้าเกษตรทุกรูปแบบ โดยเฉพาะปลาร้าที่ จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งผลิตปลาร้าส่งออกแหล่งใหญ่เป็นหนึ่งในสามของประเทศ มีมูลค่าเฉพาะการขายปลาร้าสูงกว่า 5,000 ล้านบาทต่อปี
การจัดงานวันนี้มีกิจกรรมการประกวด “อาหารถิ่นแซ่บกาฬสินธุ์” ซึ่งเป็นการปรุงอาหารสดจากกลุ่มแม่บ้านเกษตรโคกหนองนาทั้ง 18 อำเภอของ จ.กาฬสินธุ์ที่ได้นำปลาร้าเป็นส่วนผสมประกอบอาหาร มีเชฟระดับประเทศ และเครือข่ายนักชิมอาหารเข้าตัดสินเป็นคณะกรรมการ ประกอบด้วย คุณธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ หรือเชฟจากัวร์ ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาพันธ์เชฟประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย, คุณณัฏฐภรณ์ คมจิต หรือเชฟคำนาง ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารถิ่นอีสาน เจ้าของเฮือนคำนาง และคุณราฟาเอล บัตติเยร์ นักชิมชาวฝรั่งเศส จากสมาคมแดนอีสานและฝรั่งเศส
นอกจากนี้ยังมี ไมค์ ภิรมย์พร ศิลปินนักร้องชื่อดังที่หันมาเป็นนักธุรกิจน้ำปลาร้า มาร่วมสนุกและสนับสนุนในการร้องเพลง ละครชีวิต, คุณแม่บุญล้ำ ปรีเรือง นักธุรกิจปลาร้าแม่บุญล้ำ ที่ประสบความสำเร็จในการจำหน่ายปลาร้า, นายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่นมาร่วมเสวนา “ปลาร้าอีสานสู่ตลาดโลก” มีนายวิทยา ปัญจมาตย์ ผอ.สนง.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จ.กาฬสินธุ์, นายฉัตร์ชัยย์ วิรุฬห์วรวุฒิ ประธานหอการค้า จ.กาฬสินธุ์, นายยุทธนา เกียรติดำเนินงาม นายกสมาคมนักข่าวกาฬสินธุ์ หัวหน้าส่วนราชการทุกภาคส่วน ร่วมเป็นกำลังใจ และเสวนากับผู้ประกอบการถึงที่ไปที่มาของความสำเร็จ “ปลาร้า” แม่บุญล้ำ และไมค์ ภิรมย์พร
บรรยากาศการแข่งขันปรุงอาหารจึงเต็มเป็นไปด้วยความคึกคัก กลิ่นความหอมของเครื่องปรุง เครื่องเทศอีสานและปลาร้า ถูกนำมารังสรรค์ถึง 16 เมนู ประกวดเป็นอาหารพื้นถิ่นจากทุกอำเภอ เช่น เมนูบึงน้ำดำ ส้มตำปลาร้ากาฬสินธุ์, แกงหน่อไม้ไร้เดียงสา, แกงหน่อนพเก้า, ตำชายชั่ว มั่วนางดิน, แกงหวายใส่ไก่บ้าน, อ่อมหวายใส่ไก่บ้าน, อ๋อเจ้านาง, ลาบหวาย, อ่อมหวายใส่ไก่บ้าน, แกงหวายเห็ดรวม, ซุปหน่อไม้สมุนไพรนางฟ้าเทวดา, น้ำพริกปลาทู, แกงอ่อมไก่บ้านใส่ผักหอม, ปลาร้าทอดสมุนไพร, ส้มตำ และตำลูกจันทร์ สร้างความแปลกใจให้กับเชฟที่เข้ามาดูการปรุง ทั้งนี้ยังมีการเปิดเวทีเสวนา “ปลาร้าอีสานสู่ตลาดโลก”
นายธีรวีร์ ดิษยะไชยพงษ์ หรือเชฟจากัวร์ ผอ.ฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาพันธ์เชฟประเทศไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารไทย กรรมการประกวดอาหาร กล่าวว่า ยอมรับว่าวัตถุดิบที่นำมาปรุงนั้นไม่เคยเห็น โดยเฉพาะเมนูส้มตำที่ตำด้วยลูกจันทร์ เพราะไม่เคยคิดว่าลูกจันทร์จะถูกนำมาเป็นวัตถุดิบประกอบอาหารเป็นส้มตำได้ ทำให้มองว่าอาหารอีสานที่ปัจจุบันเป็นที่นิยมอยู่แล้ว เมนูส่วนใหญ่ที่คนทั่วไปรู้จักก็จะเป็นลาบ ก้อย ต้ม ส้มตำ แต่ผลจากการประกวดทำให้รู้ว่าอาหารถิ่นอีสาน ที่มีความสะอาดรสชาติอร่อยยังอยู่ในวัฒนธรรมการบริโภคอาหารถิ่นของอีสาน
พืชผักท้องถิ่นนำมาปรุงสดให้เห็น จึงเชื่อว่าหลังจากวันนี้หลายเมนู ตนจะนำไปปรุงเป็นเมนูขึ้นโต๊ะอาหารที่จะทำให้ผู้ประกอบการอาหารที่ใช้วัตถุดิบอีสานสามารถนำไปจำหน่ายต่อยอดได้อีก ทั้งนี้ยังประกาศให้ทราบทั่วกันว่า “น้ำปลาร้า” อีสานสามารถที่จะนำไปประยุกต์เป็นเมนูอาหารได้อีกมากมายอีกด้วย
ด้าน ผศ.ดร.กรรณิการ์ ห้วยแสน ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารถิ่นอีสาน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ และ ผศ.ดร.สมสมร แก้วบริสุทธิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอาหารถิ่นอีสาน มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวตรงกันเกี่ยวกับการพัฒนาในอดีตเคยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ยืนยันว่าการถนอมอาหารด้วยการหมัก “ปลาร้า” มีมานานกว่าสามพันปี แต่จะให้ประสบผลสำเร็จในปัจจุบัน สิ่งสำคัญจะต้องเน้นเรื่องความสะอาด ถูกหลักอนามัยเป็นหลัก การปรุงปลาร้าจะต้องใช้ความอดทนเป็นหลัก ที่เชื่อมั่นว่าหากผู้ที่สนใจต้องการที่ยึดเอาอาชีพผลิตปลาร้ามาทำสามารถที่จะทำได้เพียงแต่ต้องใส่ใจเพื่อให้มีคุณภาพ ก็จะสามารถนำออกมาจำหน่ายได้
ขณะที่ ไมค์ ภิรมย์พร ศิลปินนักร้องชื่อดัง กล่าวว่า การที่หันมาค้าปลาร้าต้องบอกว่าต้องอดทน ซื่อสัตย์ต่อกัน การประยุกต์ทำปลาร้า ตนเคยต้มปลาร้าเอง ทำมาตลอดจนสำเร็จ โดยมีคุณแม่บุญล้ำ คอยเป็นพี่เลี้ยงป้อนวัตถุดิบให้ สิ่งที่จะทำ “ปลาร้า” ให้ประสบความสำเร็จจึงขึ้นอยู่กับความตั้งใจ ซื่อสัตย์ ก็ขอเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ต้องการเป็นพ่อค้า แม่ค้าปลาร้า ยืนยันว่าตลาดค้าปลาร้า เส้นทางสายปลาแดก สามารถที่จะสร้างฐานะครอบครัวได้แน่นอน หากมีความตั้งใจจริงก็จะสำเร็จได้เช่นกัน
ด้านนายอุทัย สิงห์ทอง พัฒนาการ จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า แนวทางการพัฒนา “ปลาร้า” จะต้องขึ้นทะเบียนโอทอป ที่ภาครัฐพร้อมที่จะผลักดันให้มีการพัฒนา นอกจากผ้าไหมแพรวา จ.กาฬสินธุ์ ถือเป็นแหล่งผลิตแหล่งใหญ่ การันตีด้วยตัวเลขการค้าขายปีละเกือบหนึ่งพันล้านบาท หากสนใจก็สามารถไปติดต่อขึ้นทะเบียนโอทอป เพื่อรับการส่งเสริมอย่างมีคุณภาพต่อไป
สำหรับเมนูที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่ กลุ่มแซ่บเมืองกาฬสินธุ์ เมนู บึงน้ำดำส้มตำปลาร้ากาฬสินธุ์ รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง กลุ่มแซ่บอำเภอนามน เมนู ซุปหน่อไม้สมุนไพรนางฟ้าเทวดา รองชนะเลิศอันดับสอง กลุ่มแซ่บหนองกุงศรี เมนูแกงหวายเห็ดรวม