อุบลราชธานี - สถาบันพระปกเกล้า จ.อุบลราชธานี จัดเสวนาน้ำท่วมเมืองอุบล ใครจะเป็นคนแก้ไข ซึ่งทุกภาคส่วนเห็นว่าการแก้ไข ผู้ต้องทำคือภาครัฐต้องร่วมภาคพลเมือง ทำตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ถึงแก้ปัญหาได้
ที่ห้องประชุมบุษยรัตน์ อาคารคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จ.อุบลราชธานี จัดเสวนาน้ำท่วมเมืองอุบลใคร จะเป็นคนแก้ไข ถนนยกระดับเชื่อมอำเภอเมือง-อำเภอวารินชำราบ ใช้สัญจรช่วงน้ำท่วม ความฝันหรือความเป็นจริงของคนอุบลราชธานี
ซึ่งการเสนวนามีการให้ตัวแทนภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคพลเมืองร่วมแสดงความเห็น ซึ่งมีความเห็นว่าการจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืนจำเป็นต้องแก้ที่นโยบายที่ภาครัฐต้องเป็นผู้ลงมือแก้ไขร่วมกับภาคพลเมือง โดยทำเชิงนโยบายตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ แต่สิ่งที่จังหวัดอุบลราชธานี ต้องรีบทำก่อนขณะนี้ คือการบริหารจัดการน้ำของแม่น้ำมูลและแม่น้ำชีที่ไหลมาบรรจบรวมกันที่จังหวัดอุบลราชธานี จนเป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำท่วมจังหวัดเป็นประจำแทบทุกปี
นายเศรษฐพงศ์ ภิงคารวัฒน์ รองผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าน้ำจะท่วมจังหวัดตอนไหน เพราะต้องดูพายุที่เข้ามาในแต่ละช่วง เพราะน้ำท่วมไม่ใช่เกิดจากฝนตกในพื้นที่ แต่เป็นน้ำฝนที่ไหลมาจากด้านบนแล้วไหลมาบรรจบรวมกันที่จังหวัด วิธีแก้ตอนนี้ คือต้องบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำ จึงมีการพร่องน้ำออกจากลำน้ำสาขาให้ไหลลงสู่แม่น้ำโขง เพื่อให้มีพื้นที่รองรับน้ำใหม่ที่จะเข้ามาเติมในช่วงที่มีพายุเข้ามาในภาคอีสาน
ขณะที่นายมงคล จุลทัศน์ ประธานหอการค้าจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงการผลักดันโครงการสะพานยกระดับถนนวงแหวนสาย 231 ฝั่งตะวันตก เพื่อใช้สัญจรไปมาระหว่างอำเภอเมืองกับอำเภอวารินชำราบ เมื่อเกิดน้ำท่วม ส่วนยามปกติถนน 231 ชั้นล่าง ก็ยังสามารถใช้สัญจรไปมาได้
เพราะน้ำท่วมแต่ละครั้งทำความเสียหายให้ภาคธุรกิจของจังหวัดครั้งละ 5,000-6,000 ล้านบาท การมีทางยกระดับจะช่วยแก้ปัญหาตรงนี้ได้ ก็จะลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจและการคมนาคม เพราะเป็นถนนสายหลักที่ใช้เชื่อมตัวเมืองทั้งสองส่วน
ด้าน น.ส.อัฐฌาพรรณ พันธุ์มี ชาวบ้านชุมชนวัดกุดคูณ 2 เทศบาลนครอุบลราชธานีที่ต้องถูกน้ำท่วม กล่าวว่า การที่มีน้ำท่วมจังหวัดอุบลราชธานี จะต้องมองเชิงโครงสร้างทางสังคม ไม่ใช่มองเฉพาะการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจอย่างเดียว เพราะชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม ต้องได้รับความลำบากในการเข้าไปอยู่อาศัยในศูนย์อพยพ รวมไปถึงการประกอบอาชีพของคนที่ถูกน้ำท่วมบ้าน ก็ไม่สะดวกในการทำมาหากิน
จึงต้องมองปัญหาเชิงนโยบาย เพราะมีการเสนอการแก้ปัญหา ซึ่งมีแต่โครงการใหญ่ๆ แต่ชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วมไม่มีส่วนร่วม