xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป)ร้านค้าโคราชเมิน! ลงทะเบียนร่วม “ดิจิทัลวอลเล็ต” ระบุยุ่งยากไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหา ศก. ชี้ “คนละครึ่ง” ดีกว่า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ร้านค้าในโคราชเมินลงทะเบียนร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ระบุเงื่อนไขยุ่งยาก ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหาเศรษฐกิจ ชี้ “โครงการคนละครึ่ง” รัฐบาลที่แล้วดีกว่าสะดวกกว่าเงินหมุนเวียนถึงชุมชนกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง แนะรัฐบาลไปมุ่งแก้ปัญหาลดค่าครองชีพ ค่าไฟฟ้าและน้ำมันแพง

ภายหลังจากที่รัฐบาลได้เปิดให้ประชาชน และร้านค้าต่างๆ ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต โดยในส่วนของร้านค้ามีไทม์ไลน์เปิดให้ลงทะเบียน 3 ช่วง ได้แก่ ช่วงเดือนสิงหาคม 2567 ลงทะเบียนกลุ่มร้านค้าปลีก-ค้าส่ง, ช่วงเดือนกันยายน ลงทะเบียนกลุ่มร้านค้า Supplier และช่วงเดือนตุลาคม ลงทะเบียนร้านค้าทั่วไป ปิดการลงทะเบียนร้านค้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2567 นั้น

นายประเทือง พะยอมใหม่ เจ้าของร้านขายของชำในชุมชนพื้นที่ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา

ล่าสุด จากการลงพื้นที่สำรวจร้านค้าขนาดเล็กและร้านค้าส่งในพื้นที่ อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่าร้านค้าส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยเข้าใจระบบ จึงทำให้หลายร้านเกิดความลังเลและไม่ให้ความสนใจที่จะร่วมลงทะเบียนร้านค้ากับโครงการเติมเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ตนัก

นายชาญ ประสิทธิ์พรกุล เจ้าของร้านทวีผล ร้านค้าปลีกและค้าส่งชุดนักเรียนรายใหญ่ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา

นายประเทือง พะยอมใหม่ เจ้าของร้านขายของชำในชุมชนพื้นที่ตำบลโคกกรวด อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา บอกว่า สำหรับโครงการเงิน 10,000 บาทผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ในส่วนของร้านค้าตนคิดว่าอาจจะไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมเป็นร้านค้าในโครงการเนื่องจากตนคิดว่าเงื่อนไขไม่สะดวกและยุ่งยากสำหรับร้านค้าขนาดเล็ก เนื่องจากร้านค้าของตนนั้นจำเป็นจะต้องใช้เงินหมุนอยู่ทุกวันไม่สามารถจะนำเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตของลูกค้าไปเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที เพราะนอกจากจะต้องซื้อสินค้าทุกวันแล้ว ค่าใช้จ่ายภายในครอบครัวยังมีอีกหลายอย่าง ทั้งค่ากินอยู่ ค่าน้ำ ค่าไฟ


อีกทั้งไม่แน่ใจว่าร้านขายของส่งร้านประจำที่ซื้อของนั้นจะเข้าร่วมโครงการด้วยหรือเปล่า เพราะในพื้นที่ร้านค้าส่งนั้นมีน้อย หากต้องเดินทางไปใช้เงินดิจิทัลวอลเล็ตในตัวเมืองก็ค่อนข้างไกล ต้องเปลืองค่าน้ำมันไปอีก ยิ่งกว่านั้นในพื้นที่ยังมีร้านสะดวกซื้อซึ่งยังไม่รู้ว่าได้เข้าร่วมโครงการหรือไม่ ซึ่งหากร่วมร้านค้าขนาดย่อยของตนนั้นก็จะถูกแบ่งลูกค้าไปอีก

หากเปรียบเทียบกับโครงการรัฐบาลที่ผ่านมา อย่างโครงการคนละครึ่งนั้น ตนคิดว่าโครงการคนละครึ่งดีกว่า สะดวกกว่า สามารถขึ้นเงินสดได้ทันที เงื่อนไขไม่ยุ่งยาก อีกทั้งยังสามารถกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนในพื้นที่ได้อย่างจริงจัง


ด้าน นายชาญ ประสิทธิ์พรกุล เจ้าของร้านทวีผล ร้านค้าปลีกและค้าส่งชุดนักเรียนรายใหญ่ ในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา เปิดเผยว่า สำหรับโครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาทที่รัฐบาลจะเปิดให้ลงทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนี้นั้น ตนมองว่ายังไม่มีความชัดเจนในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการใช้จ่ายของประชาชนว่าจะให้ใช้อย่างไรบ้าง และการเบิกออกมาเป็นเงินของร้านค้าที่รับเงินดิจิทัลมาก็ค่อนข้างยุ่งยาก เนื่องจากบางร้านซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินมาหมุนเวียนในร้าน ถ้าเกิดว่าการเบิกจ่ายเงินล่าช้าหลายเดือนก็จะส่งผลกระทบต่อการทำมาค้าขายได้ ซึ่งเรื่องข้อมูลเหล่านี้ไม่มีหน่วยงานใดของรัฐมาประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างละเอียดเลย ต้องไปหาข้อมูลตามข่าวสารที่กระจัดกระจายอยู่ตามโซเชียลและสื่อต่างๆ เอาเอง


ตอนนี้เรื่องของการกระตุ้นเศรษฐกิจถือว่ามีความสำคัญต่อประชาชนเป็นอย่างมาก ดังนั้นการอัดฉีดเงินใดๆ ลงมาก็ควรที่จะให้มีสภาพคล่อง ไม่ควรที่จะมีขั้นตอนอะไรที่ยุ่งยาก ถ้าเทียบกับโครงการก่อนๆ เช่นโครงการคนละครึ่ง ประชาชนสามารถนำเงินมาใช้จ่ายซื้อของได้เลยทันที และทางร้านสามารถนำเงินไปหมุนต่อได้เลยทันทีเช่นกัน ซึ่งโครงการดังกล่าวนั้นถือว่ากระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีมาก ต่างจากโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่ขณะนี้ยังไม่รู้ว่าจะสามารถใช้จ่ายอย่างไรได้บ้าง จึงทำให้ร้านค้าต่างๆ ไม่ค่อยให้ความสนใจมากนัก


อย่างเช่นร้านของตน ตอนนี้ก็คงจะไม่เข้าร่วมโครงการนี้อย่างแน่นอน สิ่งที่ประชาชนอยากได้มากตอนนี้ก็คืออยากให้รัฐบาลช่วยแก้ปัญหาในเรื่องของการลดค่าครองชีพ ลดค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันลง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าและค่าน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก แต่ไม่ได้อยากจะฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเท่าใดนัก เพราะว่าตอนนี้ดูข่าวการเมืองทีไรเครียดทุกที เนื่องจากทุกพรรคการเมืองมัวแต่เล่นการเมืองอย่างเดียว ไม่ได้สนใจแก้ปัญหาบ้านเมืองหรือปัญหาประชาชนอย่างแท้จริงเลย










กำลังโหลดความคิดเห็น