เชียงใหม่ – กลุ่มแรงงานต่างด้าว หอบหลักฐานเข้าร้องเรียน “ปลัดจอมแฉ” หลังตกเป็นผู้เสียหายถูกสำนักงานกฎหมายแห่งหนึ่งที่สันกำแพงหลอกให้โอนเงินรายละ 25,000-60,000 บาท เป็นค่าจ้างเพื่อดำเนินการจัดทำข้อมูลประวัติใหม่ เปลี่ยนจากการถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย เป็นบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ “บัตรหัวศูนย์” โดยแอบอ้างว่ามีข้าราชการให้การช่วยเหลือและถึงขั้นจัดฉากพาไปถึงที่ว่าการอำเภอ แต่ผ่านไปหลายเดือนยังไม่สำเร็จ แถมขอเงินคืนไม่ได้ จนมั่นใจว่าถูกหลอก พบผู้เสียหายมีไม่น้อยกว่า 50 ราย บางรายสูญเงินไปกว่า 100,000 บาท เตรียมประสาน DSI รับเป็นคดีพิเศษ
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า ที่ศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มแรงงานต่างด้าวสัญชาติเมียนมา นำเอกสารและหลักฐานการโอนเงินเข้าพบนายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.67 เพื่อร้องเรียนขอความเป็นธรรมหลังจากที่ตกเป็นผู้เสียหายโดนหลอกให้โอนเงินรายละ 25,000-60,000 บาท เข้าบัญชีของผู้ชายคนหนึ่งที่แอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือดำเนินการให้แรงงานต่างด้าวได้รับบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ “บัตรหัวศูนย์” ได้ เพื่อใช้แทนบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ “บัตรสีชมพู” ที่เป็นบัตรประจำตัวคนต่างด้าว ที่เป็นกลุ่มแรงงาน อีกทั้งสร้างความน่าเชื่อถือด้วยการทำทีพาผู้เสียหายไปติดต่อตามที่ว่าการอำเภอหลายแห่งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่หลายครั้งและทำเหมือนรู้จักกับข้าราชการที่จะช่วยดำเนินการให้ อย่างไรก็ตามปรากฏว่าเมื่อผ่านไปหลายเดือนแล้ว กลับไม่สามารถดำเนินการได้ และเมื่อติดตามทวงถามขอคืนเงิน กลับถูกบ่ายเบี่ยง ซึ่งจากข้อมูลเบื้องต้นพบว่ามีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 50 ราย โดยบางรายหลงเชื่อโอนเงินไปกว่า 100,000 บาท
ทั้งนี้จากการสอบถามกลุ่มผู้เสียหาย บอกว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2566 ถึงช่วงต้นปี 2567 ได้รับคำแนะนำจากกลุ่มแรงงานต่างด้าวด้วยกันว่า ที่สำนักงานแห่งหนึ่ง ซึ่งเปิดบริการคล้ายสำนักงานกฎหมาย ตั้งอยู่ในตำบลแม่ปูคา อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ รับดำเนินการทำให้แรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรชมพูเปลี่ยนเป็นได้รับบัตรหัวศูนย์ ด้วยการลบข้อมูลในทะเบียนประวัติเดิมและจัดทำข้อมูลประวัติใหม่ โดยคิดค่าบริการรายละ 35,000 บาท จึงได้เข้าไปติดต่อและทำสัญญา พร้อมทั้งโอนเงินจ่ายให้กับผู้ชายคนหนึ่งที่เป็นเจ้าของสำนักงานดังกล่าว จากนั้นได้มีการนัดหมายให้ไปพบที่ที่ว่าการอำเภอ ทั้งอำเภอแม่ริม,อำเภอดอยสะเก็ด,อำเภอสันทราย,อำเภอสันกำแพง และอำเภอเมืองเชียงใหม่ เพื่อดำเนินการ ซึ่งมีการจัดฉากเหมือนดำเนินการจริง ทั้งการพาไปนั่งรอบริเวณที่ว่าการอำเภอ แล้วมีการให้คนมาซักประวัติ และพิมพ์ลายนิ้วมือ
โดยทางผู้ชายคนดังกล่าว พร้อมด้วยทีมงานทำทีเหมือนนัดหมายไว้แล้วกับข้าราชการที่จะรับเรื่องและช่วยดำเนินการให้ แต่สุดท้ายแล้วไม่ได้พบ และอ้างว่าติดขัดปัญหาต่างๆ เช่น ขาดเอกสารหลักฐานหรือข้อมูลไม่ครบถ้วน เป็นต้น จึงยังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ซึ่งเมื่อเวลาผ่านไปและติดตามทวงถาม กลับไม่มีความคืบหน้าใดๆ จึงต้องการขอเงินคืน แต่ถูกบ่ายเบี่ยงตลอดและติดต่อไม่ค่อยได้ จนกระทั่งล่าสุดพบว่าสำนักงานดังกล่าวเป็นเพียงบ้านเช่าและปิดดำเนินการไปแล้ว ทำให้เชื่อว่าน่าจะถูกหลอก เพราะพบว่ามีผู้ที่ถูกกระทำเช่นเดียวกันนี้รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย จึงได้เข้าร้องเรียนขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือในครั้งนี้ โดยด้วยความหวังว่าจะได้รับเงินที่เก็บออมจากการทำงานคืน และเพื่อไม่ให้มีผู้หลงเชื่อตกเป็นเหยื่อซ้ำอีก เนื่องจากทราบว่าก่อนหน้าที่จะมีการเปิดสำนักงานในพื้นที่อำเภอสันกำแพงนั้น สำนักงานนี้เคยเปิดอยู่ในพื้นที่อำเภอสารภี
ขณะที่นายบุญญฤทธิ์ นิปวณิชย์ หัวหน้าศูนย์บริหารการทะเบียนภาค 5 สาขาจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า เบื้องต้นได้รับเรื่องร้องเรียนและบันทึกรายละเอียด พร้อมหลักฐานของกลุ่มผู้เสียหายไว้แล้ว โดยเชื่อว่ากรณีนี้เป็นการถูกหลอกอย่างแน่นอน เนื่องจากตามปกติแล้วแรงงานต่างด้าวที่ถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย หรือ “บัตรสีชมพู” นั้น จะไม่สามารถเปลี่ยนเป็นบัตรประจำตัวบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน หรือ “บัตรหัวศูนย์” ได้ อย่างไรก็ตามพบว่ากลุ่มแรงงานต่างด้าวผู้ถือบัตรสีชมพูมักจะมีความเชื่อกันว่าหากได้ถือบัตรหัวศูนย์จะดีกว่า เพราะไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการต่ออายุบัตรและวีซ่า จึงทำให้หลายคนมีความพยายามที่จะดำเนินการ ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ผู้ก่อเหตุฉวยโอกาสแอบอ้างว่าสามารถช่วยเหลือดำเนินการให้ได้พร้อมมีการแอบอ้างข้าราชการเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ และเรียกเก็บเงินจากผู้เสียหาย แต่สุดท้ายแล้วไม่สามารถดำเนินการได้ และไม่คืนเงินให้
ทั้งนี้เบื้องต้นพบว่าเฉพาะผู้ก่อเหตุรายนี้ มีผู้เสียหายที่หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 50 ราย โดยที่แต่ละรายเสียเงินไปรายละตั้งแต่ 25,000 บาท ไปจนถึงกว่า 100,000 บาท ซึ่งการกระทำผิดดังกล่าวนี้ไม่ใช่แค่เพียงทำให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวที่ถูกหลอกได้รับความเสียหายในเรื่องเงินเท่านั้น แต่ยังสร้างความเสียหายให้ทางราชการด้วย เพราะมีการแอบอ้างข้าราชการร่วมดำเนินการให้ ดังนั้นจึงจะต้องดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ก่อเหตุจนถึงที่สุด โดยเบื้องต้นได้มีการประสานกับทาง DSI ที่ศูนย์ปฏิบัติการคดีพิเศษ เขตพื้นที่ 5 จังหวัดเชียงใหม่แล้ว เพื่อดำเนินการสอบสวนและรับเป็นคดีพิเศษ นอกจากนี้อยากเน้นย้ำและเตือนกลุ่มแรงงานต่างด้าวว่าอย่าได้หลงเชื่อและตกเป็นเหยื่ออย่างเด็ดขาด หากมีผู้เชิญชวนว่าสามารถช่วยเหลือดำเนินการในลักษณะนี้ให้ได้.