xs
xsm
sm
md
lg

"ปลาหมอคางดำ" โผล่แล้วใน 2 อำเภอเมืองแปดริ้ว ​เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังการแพร่ระบาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ฉะเชิงเทรา ​- พบปลาหมอคางดำโผล่ในพื้นที่ 2 อำเภอจังหวัดฉะเชิงเทรา​ เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเฝ้าระวังการแพร่ระบาดลุกลามไปตามแหล่งน้ำสาธารณะ ชี้ปล่อยปลากะพงช่วยกำจัดอาจไม่ง่าย แนะหาวิธีจับทำหมันแบบปลานิล ช่วยจำกัดการแพร่กระจายปลาสายพันธุ์ต่างถิ่น

 นายทองหล่อ เฉยสวัสดิ์ อายุ 65 ปี ชาวบ้านเสม็ดใต้ อ.บางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา เจ้าของ "ภาคย์ภูมิฟาร์ม" เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงขาว ในเนื้อที่กว่า 100 ไร่ และยังเป็นอนุกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ในพื้นที่ 11 จังหวัด (กรุงเทพฯ จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นครนายก นครราชสีมา ปทุมธานี ปราจีนบุรี สมุทรปราการ สระแก้ว สระบุรี) รวมถึงยังเป็นคณะกรรมการกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำบางปะกง เปิดเผย ว่าขณะนี้ได้เริ่มพบปลาหมอคางดำ แพร่ระบาดในพื้นที่ี 2 อำเภอของ จ.ฉะเชิงเทรา

โดยพบปลาหมอคางดำในคลองบางกระพ้อ ต.บางกระเจ็ด อ.บางคล้า และคลองธรรมชาติ ต.สองคลอง และ ต.หอมศีล อ.บางปะกง ตั้งแต่ย่านวัดนฤภัยประชาบำรุง ใกล้แนวตะเข็บรอยต่อ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ แต่ในพื้นที่ อ.บางคล้า ยังพบไม่มาก และยังอยู่ระหว่างการเฝ้าระวังจับตาดูจากทางเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง

"ในพื้นที่ ต.สองคลอง พบว่ามีการระบาดมากกว่าพื้นที่อื่น เนื่องจากปลาชนิดนี้ได้ไหลมาตามกระแสน้ำเค็มตั้งแต่เมื่อครั้งเขื่อนทำนบดินกั้นปากคลองประเวศบุรีรมย์พังทลาย จึงทำให้มีการแพร่กระจายมาจากพื้นที่อื่น เพราะปลาชนิดนี้มีอุปนิสัยว่ายทวนกระแสน้ำ และทนความเค็มได้มากเกินกว่า 10 กรัมต่อลิตร"


อนุกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง ยังเผยถึงวิธีกำจัดปลาหมอคางดำ ด้วยการปล่อยปลากะพงขาวลงสู่คลองธรรมชาติว่า อาจไม่ง่าย เนื่องจากปลากะพงขาวเป็นปลาที่ใช้ออกซิเจนมากในพื้นที่อยู่อาศัย ซึ่งหากปล่อยลงไปในลำคลองธรรมชาติที่มีค่าออกซิเจนต่ำอาจจะอยู่ไม่ได้ หรืออาจไม่มีชีวิตรอดที่จะไปไล่กำจัดปลาหมอคางดำได้

จึงจำเป็นต้องใช้ปลากะพงที่เคยอยู่อาศัยในแหล่งน้ำธรรมชาติได้เองนำไปปล่อย หรืออาจจะให้ทางฝ่ายวิชาการที่มีความรู้ หาวิธีการในการทำหมันปลาหมอคางดำ ด้วยการนำสารเคมี หรือแอลกอฮอล์ที่จะไปทำให้รังไข่ในตัวปลาฝ่อ เช่นเดียวกับการทำหมันปลานิล หรือปลานิลหมันที่เกษตรกรนิยมนำมาเพาะเลี้ยงกันเพื่อให้ปลาเติบโตได้ดี

"หากจะกำจัดด้วยวิธีการจับมาทำเป็นอาหารให้ปลากะพงกินนั้น สามารถทำได้ในฟาร์มเลี้ยงปลากะพงที่ใช้เหยื่อสดในการเลี้ยง ส่วนฟาร์มที่พัฒนาแล้วและใช้อาหารเม็ดนั้นไม่สามารถนำมาเลี้ยงได้ และไม่ควรนำปลาหมอคางดำแบบตัวเป็นๆ ไปปล่อยลงในบ่อเลี้ยงปลากะพงเหยื่อสดเพราะอาจจะหลุด หรือเล็ดลอดออกไปสู่แหล่งน้ำธรรมชาติได้ โดยเฉพาะไข่ปลาหมอนั้นสามารถหลุดลอยไหลไปตามน้ำที่มีการระบายออกได้" นายทองหล่อ อนุกรรมการลุ่มน้ำบางปะกง กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น