xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) เบื้องหลัง “ล่องห่วงยางปาย” เละเทะ นักท่องเที่ยวเมาแอ๋-จ้ำจี้กันไม่เลือกที่ ผู้ประกอบการกินรวบแค่ 2 ราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



แม่ฮ่องสอน - แฉเบื้องหลังทำ “ล่องห่วงยางน้ำปาย” ฟอนเฟะ นักท่องเที่ยวเมา-กลัดมันจ้ำจี้คารีสอร์ตโดยเจ้าของไม่อนุญาต พบผู้ประกอบการแค่ 2 รายกินรวบตลอดทริป จนรายได้กระจุก-ไม่กระจายลงท้องถิ่น ขณะที่จังหวัดฯ เตรียมจัดระเบียบซ้ำอีกรอบ



วันนี้ (15 ก.ค.) นายชูชีพ พงษ์ไชย ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งขณะนี้ติดราชการอยู่ที่ กทม. กล่าวภายหลังเกิดกรณีปรากฏข่าวบนสื่อออนไลน์ ระบุว่า มีชาวต่างชาติเล่นห่วงยางในแม่น้ำปายเสพของมึนเมา ตกดึกกลัดมันเลยจ้ำจี้กันในรีสอร์ต ว่ามีความห่วงใยต่อปัญหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เบื้องต้น นายอเนก ปันทะยม นายอำเภอปาย ได้รายงานผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต่อกรณีดังกล่าว โดยระบุว่า เหตุการณ์ดังกล่าว ผู้เสียหายได้ลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน ณ สถานีตำรวจภูธรปาย หลังพบนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเข้าไปมีเพศสัมพันธ์ในรีสอร์ตโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเวลาที่เกิดเหตุตามบันทึกประจำวันปรากฏเวลา 21.26 น. เป็นเวลาที่เสร็จสิ้นจากกิจกรรมล่องห่วงยางนานแล้ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องตามกฎหมายต่อไป

ซึ่งจังหวัดจะมีมาตรการเร่งจัดระเบียบและมาตรการท่องเที่ยว ร่วมกับผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยว และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หลังพบนักท่องเที่ยวต่างชาติมีพฤติกรรมการท่องเที่ยวไม่เหมาะสม โดยได้มอบหมายให้นายอุดมศักดิ์ ขาวหนูนา รองผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ลงพื้นที่อำเภอปายวันพรุ่งนี้ (16 ก.ค.) พร้อมปลัดจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อร่วมประชุมกับ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดระเบียบและกำหนดมาตรการท่องเที่ยวในอำเภอปาย อีกครั้ง


นอกจากนั้นทางอำเภอปายได้ร่วมกับสถานีตำรวจภูธรปาย สถานีตำรวจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอน เชิญผู้ประกอบการมาหารือและกำหนดมาตรการร่วมกันก่อนมีกิจกรรมล่องห่วงยางเป็นประจำทุกปี อาทิ ห้ามนำเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ทุกชนิดลงในกิจกรรมล่องห่วงยาง (Tubing) โดยจะมีสตาฟคอยตรวจตราทุกครั้ง ให้สตาฟทุกคนสวมเสื้อชูชีพทุกคน

และหลังเลิกทำกิจกรรมทุกครั้งให้ทีมงานสตาฟคอยตรวจเช็ก จัดเตรียมชุดรักษาพยาบาลในกรณีที่นักท่องเที่ยวได้รับบาดเจ็บ และนำสัมภาระของนักท่องเที่ยวให้นักท่องเที่ยวได้สวมใส่อันเป็นชุดสุภาพ และนำนักท่องเที่ยวไปส่งยังโรงแรมที่พักโดยปลอดภัย รวมถึงมีการประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจแก่นักท่องเที่ยวในการเคารพวัฒนธรรมท้องถิ่นและการแต่งกายที่เหมาะสม ทั้งนี้ นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติเป็นอย่างดี มีเพียงส่วนน้อยที่อาจจะฝ่าฝืนแนวทางปฏิบัติ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะได้กำชับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติตามแนวทางที่กำหนด

สำหรับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นเมืองท่องเที่ยว มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในแต่ละปีจำนวนมาก ตั้งแต่ ม.ค.-ก.ค. 2567 มีนักท่องเที่ยวในพื้นที่ สะสมจำนวน 30,000-40,000 คน ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ สร้างรายได้ให้กับประชาชนและชุมชน


หนึ่งในกิจกรรมที่นักท่องเที่ยวต่างพูดคุยและบอกต่อๆ กันมาว่าเป็นกิจกรรมที่ตื่นเต้น และสามารถชมธรรมชาติที่ยังสวยงามทั้งสองฝั่งของแม่น้ำปาย คือกิจกรรมล่องห่วงยาง (Tubing) ในพื้นที่อำเภอปายจะมีผู้ประกอบการล่องห่วงยางอยู่ 2 แห่ง โดยจะมีกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมทั้งตลอดเส้นทางทั้งการล่องห่วงยาง กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เริ่มตั้งแต่เวลา 13.00 -19.00 น. ของทุกวันอังคารและวันศุกร์ โดยมีรถบริการรับ-ส่ง จากโรงแรมที่พัก-จุดล่องห่วงยาง และกลับจากจุดขึ้นล่องห่วงยาง-โรงแรมที่พัก

ขณะที่ผู้ประกอบการเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวรายหนึ่ง (ขอสงวนนาม) เปิดเผยว่า กรณีดังกล่าวเป็นปัญหาความขัดแย้งของผู้ประกอบการในพื้นที่นั้นเกิดขึ้นมานานแล้วและเริ่มทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เมื่อพบว่าผู้ประกอบการกิจกรรมล่องห่วงยางทั้ง 2 ราย ได้จัดกิจกรรมให้แก่นักท่องเที่ยวแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร ตั้งแต่รับนักท่องเที่ยวที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ก่อนเดินทางเข้าไปยังพื้นที่อำเภอปาย ด้วยการเข้าพักในที่พักที่ผู้ประกอบการทั้ง 2 รายเตรียมไว้ให้หมดแล้วเช่นกัน


จากนั้นก็นำนักท่องเที่ยวไปล่องห่วงยางที่แม่น้ำปาย ด้วยการเสริมกิจกรรมจุดแวะพักหลายจุดตลอดเส้นทาง ที่จะต้องเตรียมเครื่องดื่มนานาชนิดไว้คอยบริการด้วย หลังเสร็จกิจกรรมล่องห่วงยางก็นำนักท่องเที่ยวกลับเข้าที่พักเป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการบริการแบบเบ็ดเสร็จที่วางไว้ วันรุ่งขึ้นก็นำนักท่องเที่ยวส่งกลับได้เลย

ซึ่งก็กลายเป็นจุดขัดแย้ง เนื่องจากบรรดาผู้ประกอบการมีเพียงไม่กี่กลุ่มที่ได้ผลประโยชน์ในแต่ละเที่ยวของการล่องแพ อาทิ รถกระบะขนนักท่องเที่ยวหรือบรรดาสตาฟที่ร่วมดำเนินการเท่านั้น ส่วนผู้ประกอบการที่พัก ร้านค้า ร้านอาหารหรือแม้แต่บรรยากาศที่ถนนคนเดินเมืองปายก็ไม่ได้ประโยชน์จากกิจกรรเหล่านี้เลย จึงมีคำถามมาตลอดว่ากิจกรรมล่องห่วงยางที่มีหลายหน่วยงานพากันเข้าไปประโคมโปรโมท ใครได้รับผลประโยชน์อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ยังมีปัญหาของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ล่องห่วงยาง ที่ต้องขึ้นรถกระบะไปยังจุดปล่อยต้นน้ำนั้น แต่งกายในลักษณะล่อแหลม ใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น กลายเป็นภาพลักษณ์ไม่ดีกับวัฒนธรรมของเมืองปายด้วย




กำลังโหลดความคิดเห็น