xs
xsm
sm
md
lg

ชาวตราดหนุนสร้างสะพานข้ามเกาะช้างระยะทาง 8 กม. จุดต้นบ้านหนองเตียนภายใต้งบหมื่นล้าน เชื่อสร้างประโยชน์ทั้งจังหวัด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราดผู้ว่าฯ กทพ.นำคณะศึกษางานความเหมาะสม "โครงการสร้างสะพานข้ามเกาะช้าง" ประชุมร่วมชาวบ้าน หน่วยงานรัฐ เอกชน ก่อนกำหนดจุดก่อสร้างภายใต้งบไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท พบแนวระยะทาง 8 กม. จุดต้นบ้านหนองเตียน ได้รับความสนใจมากสุด เชื่อดำเนินการได้ปี 72 เปิดใช้ปี 67

เมื่อเร็วๆ นี้ นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้นำคณะศึกษางานความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประชุมร่วมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจจังหวัดตราด (กรอ.จังหวัดตราด) เพื่อรับฟังความคิดเห็นและทบทวนแนวเส้นทางเชื่อมเกาะช้าง จำนวน 2 แนว คือ เส้นทางที่ 1 ระยะ 8.20 กิโลเมตร และเส้นทางที่ 2 ระยะทาง 5.59 กิโลเมตร

ซึ่งจากการศึกษาเดิมพบว่า เส้นทางที่ 1 (เส้นสีชมพู) ระยะ 8.20 กิโลเมตร ที่มีจุดเริ่มต้นที่บ้านยายม่อม-บ้านหนองเตียน อ.แหลมงอบ จ.ตราด จุดสิ้นสุดที่หน้าโรงพยาบาลเกาะช้าง อ.เกาะช้าง จ.ตราด โดยพบว่าประชาชนใน อ.แหลมงอบ และเกาะช้าง มีมติเสียงข้างมากสนับสนุนเส้นทางดังกล่าว 472 เสียง จาก 476 เสียง ในเวทีรับฟังความคิดเห็นของภาคประชาชนที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 9-​10 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา

ส่วนแนวเส้นทางเลือกที่ 2 (เส้นสีเขียว) ระยะทางประมาณ 5.59 กิโลเมตร จุดเริ่มต้นบนถนนทางหลวงชนบทหมายเลข 4006 บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ (ใกล้ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวธรรมชาติ อ.แหลมงอบ) จุดสิ้นสุดบนถนน อบจ.ตร. อ่าวสับปะรด ต.เกาะช้าง (ใกล้ท่าเรือเฟอร์รี่อ่าวสับปะรด อ.เกาะช้าง


ขณะที่ นายครรชิต วิลัยศิลป์ วิศวกรงานทางอาวุโส เผยถึงพิจารณาแนวเส้นทางจะดูจากทิศทางของกระแสลม เส้นทางการเดินเรือชนิดต่างๆ ความลึกของท้องทะเล ทิศทางการไหลของกระแสน้ำทะเล ความเร็วของกระแสน้ำทะเล รวมทั้งหลีกเลี่ยงการเกิดผลกระทบต่อพื้นที่อ่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เช่น พื้นที่ปะการัง หญ้าทะเล ที่อยู่อาศัยปลาโลมา

ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณา “โครงการทางการพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จังหวัดตราด” มี 3 ด้านคือ ด้านวิศวกรรม ด้านเศรษฐกิจและการลงทุน ด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการศึกษา 24 เดือน


ด้าน นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เผยว่า จากการรับฟังความคิดเห็นของชาวตราด พบว่าต่างมีความต้องการสะพานข้ามเกาะช้าง ซึ่งการทางพิเศษได้รับมอบหมายจากกระทรวงคมนาคม ให้ศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการก่อสร้างทางด่วน หรือสะพานข้ามเกาะช้าง และที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าศึกษาความเหมาะสม และพบว่ามีข้อเสนอแนะพิเศษบางเรื่องที่การทางพิเศษจะต้องได้รับข้อมูลเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม การเดินทางมารับฟังข้อคิดเห็นและรับรู้ว่าชาวตราดมีความต้องการอย่างไรในครั้งนี้ พบการดำเนินโครงการขนาดใหญ่มีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเส้นทางสะพานที่จะเชื่อมไปยฝฝั่งเกาะช้างที่จะต้องพิจารณา​ว่าควรอยู่ในจุดใดที่จะสามารถสร้างความเจริญให้จังหวัดตราด รวมทั้งสร้างรายได้ให้จังหวัดตราดและเกาะช้างซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของประเทศได้

"เป็นโอกาสที่ดีในการที่จะเข้ามาดูพื้นที่และเข้าไปศึกษาสภาพพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างทั้งฝั่งอำเภอแหลมงอบ และฝั่งอำเภอเกาะช้าง และเชื่อว่าภายใน 2 ปีนี้จะมีการลงพื้นที่ของการทางพิเศษอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อให้มีความสมบูรณ์และเป็นประโยชน์กับ จ.ตราด มากที่สุด ซึ่งการประเมินค่าก่อสร้างประเมินไว้ว่าน่าจะประมาณ 10,000 ล้านบาท แต่ยังต้องศึกษาผลกระทบอีกหลายครั้ง แต่สิ่งที่จะยืนยันกับพี่น้องชาวตราดคือ การทางพิเศษยืนยันว่าจะทำโครงการนี้ให้ดีที่สุดและรวดเร็วที่สุด" ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย กล่าว


โดยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ได้กำหนดไทม์ไลน์ “โครงการทางการพิเศษเชื่อมเกาะช้าง จ.ตราด” ดังนี้ ปี พ.ศ.2567-2569 ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม ดังนี้

ปี พ.ศ.2567-2569 ดำเนินการศึกษาความเหมาะสม
ปี พ.ศ.2569-2572 ขออนุมัติ EIA และขออนุมัติโครงการ คัดเลือกผู้รับจ้าง
ปี พ.ศ.2572 ดำเนินการก่อสร้างโครงการ
ปี พ.ศ.2576 เปิดใช้สะพาน




กำลังโหลดความคิดเห็น