xs
xsm
sm
md
lg

ทางหลวงทุ่มงบแก้น้ำท่วมสี่แยกหนองตาโผ่น ไร้ที่รองรับน้ำไหลมาจาก 3 ทิศทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


แฟ้มภาพ
อุบลราชธานี-กรมทางหลวงเตรียมทุ่มงบ 20 ล้านบาท สร้างอาคารสูบน้ำขนาดใหญ่ แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากถนนวารินชำราบ-กันทรลักษณ์ บริเวณสี่แยกหนองตาโผ่น เชื่อจะทำไม่ให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่สองข้างถนนอีกต่อไป

แฟ้มภาพ
จากกรณีเกิดน้ำท่วมซ้ำซากถนนวารินชำราบ-กันทรลักษณ์ บริเวณสี่แยกชุมชนหนองตาโผ่น เทศบาลตำบลแสนสุข อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยเป็นจุดที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากทุกครั้งที่มีฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลานาน ความยาวประมาณ 1 กิโลเมตร

นายวันปิยะ ภุมมะภูติ ผู้อำนวยการแขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดูแลถนนที่เกิดน้ำท่วมกล่าวว่า กายภาพของถนนวารินชำราบ-กันทรลักษณ์บริเวณสี่แยกหนองตาโผ่นนี้ เดิมเป็นพื้นที่แอ่งกระทะรองรับน้ำที่ไหลมาจาก 3 ทิศทาง คือ น้ำที่มาจากเทศบาลเมืองวารินชำราบ น้ำจากสี่แยกลือคำหาญ และน้ำจากถนนกันทรลักษณ์ ก่อนไหลไปลงลำห้วยไผ่และไหลต่อไปยังแม่น้ำมูล


อดีตตรงจุดนี้ เป็นที่ไร่ที่นา จึงรองรับน้ำที่ไหลมารวมกันได้ แต่ต่อมาเมืองมีการขยายตัว ทำให้เกิดการพัฒนาที่ดิน มีการถมที่ดิน เพื่อสร้างที่พักอาศัย ร้านค้า และห้างสรรพสินค้า ทำให้พื้นที่ไร่ที่นาที่รองรับน้ำหายไป ทำให้น้ำต้องไหลมารวมกันบนถนนที่ใช้สัญจรแทน ดังนั้นเมื่อเกิดฝนตกหนักจะเกิดน้ำท่วมขัง เพราะท่อน้ำระบายไม่ทัน

การแก้ปัญหาที่ผ่านมา มีการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่ เพื่อรับน้ำไหลตามธรรมชาติต่อไปยังลำห้วยไผ่ให้ไหลได้สะดวกและเร็วยิ่งขึ้น แต่ก็สามารถแก้ปัญหาได้ระดับหนึ่ง คือ ถ้าฝนหยุดตกน้ำก็จะลดลงภายใน 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเร็วกว่าอดีตที่บางครั้งน้ำท่วมขังเป็นวันๆ

ส่วนการแก้ปัญหาระยะยาว ขณะนี้ แขวงทางหลวงอุบลราชธานีที่ 1 ได้รับงบประมาณใช้ก่อสร้างอาคารระบายน้ำมูลค่ากว่า 20 ล้านบาท ซึ่งจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อดันน้ำให้ไหลลงลำห้วยไผ่ที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 2 กิโลเมตรให้เร็วยิ่งขึ้น

คาดว่า หลังการก่อสร้างอาคารระบายน้ำและติดเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2568 ก็จะทำให้ปัญหาน้ำท่วมผิวจราจรบริเวณสี่แยกหนองตาโผ่น หายไป หรือถ้ามีท่วมขังก็ไม่มากเหมือนทุกวันนี้


ด้านประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณน้ำท่วมตรงสี่แยกแห่งนี้ กล่าวว่า ตรงจุดนี้ น้ำท่วมเกิดจากน้ำฝนที่ตกหนัก และเป็นอย่างนี้มานานกว่า 20 ปีมาแล้ว เดิมน้ำจะท่วมขังอยู่ราวครึ่งวันถึงหนึ่งวัน น้ำถึงจะลด แต่เมื่อมีการวางท่อระบายน้ำขนาดใหญ่เมื่อหลายปีก่อน เมื่อฝนหยุดตกน้ำจะลดลงเร็วใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง วิธีการปรับตัว ส่วนใหญ่ก็ก่ออิฐทำกำแพงและใช้กระสอบทรายกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าบ้าน

นางสมร มุขมณี ซึ่งเปิดร้านขายของชำและพักอาศัยอยู่ในจุดน้ำท่วมมานานกล่าวว่า ปัญหาน้ำท่วมบริเวณนี้ เกิดขึ้นมานานกว่า 20 ปี เป็นน้ำไหลมาจากหลายที่แล้วมารวมกันที่เดียว ทำให้น้ำระบายไม่ทัน ก็เลยท่วมตรงจุดนี้ มากกว่าที่อื่นๆ วิธีการปรับตัวก็ใช้กระสอบทรายมากั้นน้ำ เพราะถ้าฝนไม่หยุดน้ำก็ไม่ลง เหมือนเมื่อสองสามวันก่อน พอฝนหยุดน้ำก็ลดลง

นายพุทธพร วิมลพัชร เจ้าของร้านอาหารตามสั่งริมทางเล่าว่า น้ำท่วมจุดนี้เป็นน้ำฝนธรรมชาติ ถ้าฝนไม่แรงก็ไม่ท่วม แต่ถ้าแรงน้ำระบายออกไปทางปลายทางไม่ได้ก็ท่วม น้ำที่ไหลมารวมกันมาจากเทศบาลเมืองวารินชำราบ และไหลมาจากทิศตะวันออก ตรงจุดนี้เป็นที่ต่ำทำให้น้ำท่วม แต่ก่อนท่วมเป็นวัน ปัจจุบันไม่ถึงชั่วโมงน้ำก็ลดแล้ว เวลาน้ำท่วม ก็จะไปโบกให้รถแล่นช้าๆ และใช้กระสอบทรายกั้นน้ำไม่ให้ไหลเข้าบ้าน


กำลังโหลดความคิดเห็น