จันทบุรี - ผู้ตรวจการแผ่นดินลงพื้นที่จันทบุรี สางปัญหาการถือครองที่ดินโดยนอมินี หลังพบกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามาเช่าและซื้อที่ดินที่เพื่อใช้ทำการเกษตร ปลูกผลไม้ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสวนทุเรียนเป็นจำนวนมากทั้งในพื้นที่ จ.จันทบุรี และตราด โดยเฉพาะจันทบุรี สวนผลไม้ในหลายอำเภอกว่าร้อยละ 80 เริ่มมีกลุ่มทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
นายทรงศัก สายเชื้อ ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วยหม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ที่ปรึกษาผู้ตรวจการแผ่นดิน และนายทิฆัมพร ยะลา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสิริน ชาวเพ็ชรดี ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 3 นายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี กอ.รมน.จังหวัดจันทบุรี รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประชุมหารือเพื่อแนวทางป้องกันปัญหาการถือครองหรือครอบครองที่ดินโดยตัวแทนอำพรางของคนต่างด้าว (นอมินี) ในพื้นที่ จ.จันทบุรี เพื่อป้องปรามความเสียหายที่จะเกิดจากทุนต่างชาติ
หลังคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ได้รับการร้องเรียนจากชาวบ้านในพื้นที่ว่า มีกลุ่มนายทุนต่างชาติเช่าและเข้าซื้อที่ดินที่ใช้ทําการเกษตรปลูกผลไม้ที่มีมูลค่าสูงทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะสวนทุเรียนทั้งในพื้นที่ จ.จันทบุรีและตราด โดยเฉพาะสวนทุเรียน
โดยจากการลงพื้นที่ จ.ตราด เมื่อวันที่ 1 ก.ค. ที่ผ่านมาเพื่อแสวงหาข้อจริงและรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและจำหน่ายทุเรียน คณะผู้ตรวจการแผ่นดินได้พบว่ามีความกังวลเกี่ยวกับปัญหากลุ่มทุนต่างชาติ โดยเฉพาะทุนจีนที่มีการถือครองที่ดินสวนผลไม้และได้ดำเนินการเองทั้งหมดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต จำหน่าย จนถึงส่งออกซึ่งจะสร้างความเสียหายตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำต่อเกษตรกรไทย
ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ จ.ตราด ยังได้ร้องขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบการถือครองที่ดินที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินี และรีบแก้ไขโดยเร็ว
ขณะที่การสำรวจพื้นที่ใน จ.จันทบุรี พบว่าสวนผลไม้ในหลายอําเภอกว่าร้อยละ 80 ได้มีกลุ่มทุนต่างชาติเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้นทั้งในเรื่องของการถือครองทำเลการเพาะปลูก สถานที่การรับซื้อ จนถึงวิธีการส่งออกผลไม้
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่ประชาชนได้ร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการที่ดินและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร จากปัญหาที่กรมป่าไม้ ได้เปิดให้เช่าที่ดินในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งเคยอนุญาตใหบริษัทเอกชนเช่าเพื่อปลูกสวนป่าเมื่อ 30 ปีแล้วด้วยการยื่นขอเช่าในลักษณะที่มีพฤติการณ์เข้าข่ายนอมินีของกลุ่มนายทุนชาวจีน เพื่อนําที่ดินไปทําสวนทุเรียนอีกด้วย
“หากปล่อยให้กระบวนการนี้ดําเนินต่อไป พื้นที่เกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจของไทยอาจถูกกลุ่มนายทุนต่างชาติเข้าเช่าหรือซื้ออีกจํานวนมาก เป็นปัญหาเรื้อรังและกระจายกว้างต่อไปหากยังคงไม่มีการแก้ไขหรือกำหนดมาตรการใดๆ เพื่อป้องกันและป้องปรามรายได้ของประเทศจะสูญเสียมหาศาล”
ผู้ตรวจการแผ่นดินยังเผยอีกว่าการจัดประชุมหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในครั้งนี้ ยังได้มีการจัดให้มีการประชุมออนไลน์ผ่านระบบ Zoom Cloud Meetings ไปยัง จ.ขอนแก่น นครราชสีมา อุบลราชธานี ปราจีนบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพร้อมกันเพื่อให้รับทราบถึงสถานการณ์กลุ่มทุนต่างชาติ
โดยเฉพาะใน จ.จันทบุรี พบว่ามีบริษัทที่คนต่างด้าวร่วมเป็นผู้ถือหุ้นหรือร่วมลงทุนแล้วประมาณ 800-900 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 20 ของผู้ที่จดทะเบียนนิติบุคคลประมาณ 3,900 ราย และยังมีพื้นที่แปลงใหญ่กว่า 1,300 ไร่ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าขุนซ่อง ตำบลพวา อ.แก่งหางแมว ที่ได้มีการร้องเรียนไปยังคณะกรรมาธิการว่าอาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นนอมินีของคนต่างด้าวเตรียมดำเนินการทำสวนผลไม้
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นป่าเสื่อมโทรมที่กรมป่าไม้อนุญาตให้ประชาชนสามารถขอเช่าเพื่อทำประโยชน์ได้ โดยพบว่ามีเอกชนยื่นขออนุญาตเข้าใช้ 3 ราย เป็นนิติบุคคล 2 รายและเอกชน 1 ราย และอาจจะมีผู้แสดงความประสงค์ขอเช่าเพิ่มเติมอีก
ทั้งนี้ ยังมีข้อมูลจากประชาชนในพื้นที่ว่า มีข้อสงสัยว่าบริษัท 2 ใน 3 รายดังกล่าวแยกชื่อเป็น 2 ชื่อในนามบริษัทและห้างหุ้นส่วนมาขอเช่าพื้นที่แต่เป็นเจ้าของเดียวกัน อาจเป็นการเลี่ยงกฎหมายและเอื้อประโยชน์จากการขอเข้าใช้พื้นที่ได้ง่ายขึ้น จึงขอให้ภาครัฐเร่งตรวจสอบเพราะเป็นพื้นที่แปลงใหญ่ที่ควรได้จัดสรรให้ประชาชนและเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่มีที่ดินทำกินเข้าใช้จะเป็นประโยชน์มากกว่า
“การดำเนินการในชั้นนี้เพื่อเป็นการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาวที่ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายโดยดำเนินคดีอย่างเข้มงวด ตรวจสอบการจดทะเบียนทุกระยะและการเปลี่ยนแปลงสถานะนิติบุคคล เฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทางตามมาตรการตรวจสอบที่ดินที่ถือครองโดยคนต่างด้าวของกรมที่ดิน และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ปัญหานอมินีให้หมดไป รวมถึงการตรวจสอบภาษีอากรของบริษัทนิติบุคคลที่จดทะเบียนชำระบัญชีเสร็จ เช่นเดียวกับการตรวจสอบการลงทุน การบริหารจัดการของคนต่างด้าวในรูปแบบของนิติบุคคลไทยแต่มีผู้ถือหุ้นเป็นชาวต่างชาติ เพื่อให้เป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเป็นระบบในระดับนโยบายทั้งส่วนกลางและพื้นที่ต้องบูรณาการร่วมกันต่อไป” นายทรงศัก ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว