ศูนย์ข่าวศรีราชา - เมืองพัทยาเดินหน้าพัฒนาต่อโครงการกังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้าและอาคารโซลาร์เซลล์ปลากระเบน เกาะล้าน ภายใต้งบประมาณกว่า 95 ล้านบาท หลังสร้างเสร็จไม่นานถูกปล่อยพังจนไม่เหลือซากทำชาวบ้านวิจารณ์หนักงานนี้เพราะขาดวิสัยทัศน์ หรือการเมืองท้องถิ่น ล่าสุด มอบแขวงเกาะล้านชวนเอกชนลงทุนทำแหล่งท่องเที่ยว
จากกรณีที่เมืองพัทยาได้ว่าจ้างให้สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ดำเนินโครงการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมและแสงอาทิตย์บนเขานมสาว หน้าหาดแสม ชุมชนบ้านเกาะล้าน จ.ชลบุรี จำนวน 45 ชุด เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าขนาด 200 กิโลวัตต์จ่ายเข้าสู่ระบบบำบัดน้ำเสียและไฟแสงสว่างหาดแสม เพื่อลดการใช้พลังงานในพื้นที่
และได้ตกลงเซ็นสัญญาว่าจ้างในลักษณะรัฐต่อรัฐภายใต้งบประมาณรวมทั้งสิ้น 95 ล้านบาท โดยให้เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 29 ส.ค.2549 เป็นเวลา 300 วัน ซึ่งได้มีการก่อสร้างอาคารเพื่อควบคุมการทำงานของระบบ 1 หลัง และอาคารปลากระเบนอีก 1 หลัง เพื่อใช้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวและจัดนิทรรศการ
แต่ปัจจุบันโครงการพัฒนา “ฟาร์มกังหันลม” บนเนินนมสาว และอาคารปลากระเบนที่มีหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ที่มีเป้าหมายป้อนกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนในชุมชนบ้านเกาะล้าน รวม 489 หลังคาเรือนได้ใช้ กลับไม่ค่อยมีการเผยแพร่ข้อมูลเรื่องประสิทธิภาพการทำงานออกสู่สังคมมากนัก
โดยเมืองพัทยาอ้างว่าโครงการดังกล่าวเป็นโครงการพลังงานสะอาดโครงการแรกของไทย และการก่อสร้างในระยะแรกแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2553 แต่ผ่านมาได้เพียง 5 ปีจนถึงปัจจุบันกังหันลมกลับไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้
และจากการสอบถามผู้ชำนาญการทราบว่า “ฟาร์มกังหันลม” จำเป็นต้องใช้งบประ มาณในการดูแลและซ่อมบำรุง แต่เมืองพัทยากลับคิดเพียงว่าเมื่อผลิตกระแสไฟไม่ได้ก็ใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นจุดถ่ายภาพแทน
สุดท้ายโครงการนี้ถูกกลับปล่อยทิ้งให้เป็นซากวัสดุอวดสายตาชาวเมืองพัทยาและชาวบ้านเกาะล้านว่า งบประมาณกว่า 95 ล้านบาทที่ถูกนำไปสร้างกังหันลมและอาคารปลากระเบน เป็นไปอย่างไม่สมประโยชน์ ทั้งยังปล่อยให้ผุพังจนไม่สามารถปรับปรุงและซ่อมแซมเพื่อนำกลับมาได้ ถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวยังได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวระดับสูงของเมืองพัทยาว่า โครงการนี้เกิดขึ้นในสมัยที่นายนิรันดร์ วัฒนศาสตร์สาธร เป็นนายกเมืองพัทยา ที่ได้เชิญชวนสถาบันการศึกษาที่ชำนาญการมาวางแผนการก่อสร้างโครงการและผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดบนเกาะล้าน ซึ่งจะใช้พลังงานที่ผลิตจากกังหันลมในระยะแรก ก่อนจะต่อยอดด้วยการจัดสร้างอาคารปลากระเบนที่จะใช้ระบบพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นโครงการในระยะที่ 2 ด้วยหวังให้เป็นแหล่งเรียนรู้และจัดนิทรรศการสำคัญ
แต่หลังการก่อสร้างแล้วเสร็จได้ไม่นาน ก็ถึงยุคของการเปลี่ยนตัวผู้บริหารชุดใหม่ที่มีนายอิทธิพล คุณปลื้ม ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกเมืองพัทยา ทำให้โครงการต่างๆ บนเกาะล้านที่คณะทำงานชุดใหม่ไม่ได้จับต้องหรือร่วมดำเนินการมาตั้งแต่แรกถูกปล่อยวาง และปล่อยให้เป็นหน้าที่ของส่วนงานที่รับผิดชอบอย่างแขวงเกาะล้าน
ขณะที่ผู้บริหารเมืองพัทยาในยุคนั้นไม่ได้มีการใช้งานในส่วนของอาคารหรือต่อยอดการผลิตกระแสไฟฟ้าจากกังหันลมตามแผนงานของคณะผู้บริหารชุดเก่า จนทำให้ไม่มีบุคลากรเข้ามากำกับดูแลหรือบำรุงรักษาระบบแต่อย่างใด ทำให้โครงการถูกปล่อยทิ้งร้างและผุพังจนไม่สามารถใช้งานได้อีก
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องของการใช้จ่ายงบประมาณรัฐที่ทำให้เกิดความเสียหายไปยังสำนักงบประมาณ รวมทั้ง ป.ป.ช และ ปปท. ทำให้คณะผู้บริหารเมืองพัทยาในยุคนั้นได้ฟ้องร้องไปยังศาลปกครอง เพื่อให้พิจารณาเอาผิดผู้ที่รับผิดชอบโดยเฉพาะในส่วนผู้บริหารและข้าราชการที่ทำให้เกิดความเสียหายต่องบประมาณแผ่นดิน
แต่เมื่อศาลปกครองพิจารณาให้ยกฟ้อง เมืองพัทยาจึงทำได้เพียงการเรียกเงินค่าเสียหายจากผู้เกี่ยวข้องในบางส่วนเท่านั้น
จากนั้นเมืองพัทยายังได้นำเรื่องดังกล่าวร้องเรียนต่อศาลชั้นต้นอีกครั้ง แต่ผลคำพิพากษาก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันคือให้ยกฟ้อง และป้จจุบัน เมืองพัทยายังอยู่ในขั้นตอนการขออุทธรณ์ต่อไป
และจากการสอบถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการจัดการปัญหาดังกล่าวไปยังเมืองพัทยา ไดรับคำตอบว่า ขณะนี้เมืองพัทยากำลังมอบหมายให้แขวงเกาะล้าน ทำการศึกษาและออกแบบรวมทั้งซ่อมแซมกังหันลมให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง แต่ไม่ใช่เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เพื่อจัดสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่บนเกาะล้าน
ด้วยที่ผ่านมาจุดตั้งกังหันลมบนเขาเนินสาวถือเป็นแลนด์มาร์กที่ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก ขณะที่อาคารปลากระเบนมีแผนจะปล่อยพื้นที่ให้เอกชนเข้ามาเช่าลงทุนทำประโยชน์ในด้านอื่นๆ ในรูปแบบ PPP ที่จะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบโซลาร์เซลล์ให้กลับมีความสมบูรณ์เพื่อใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกครั้ง