ศูนย์ข่าวขอนแก่น - เหตุเกิดกลางดึกเพลิงไหม้รถรางเบา แทรม LRT รถต้นแบบที่คิดค้นโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่นทำให้เสียหายทั้งคัน เผยเป็นรถรางเบาที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้ในระบบขนส่งสาธารณะตามโครงการ Smart city ของเมืองขอนแก่นในอนาคต
มีรายงานว่า เมื่อเวลาประมาณ 00.02 น. วันนี้ (1 ก.ค.) เจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากเทศบาลตำบลเมืองเก่า พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่มูลนิธิสว่างขอนแก่นสามัคคีอุทิศ กู้ภัยทางหลวงขอนแก่น เข้าตรวจสอบเหตุเพลิงไหม้ภายในบริษัทอู่ต่อรถชื่อดัง บ้านโนนตุ่น อ.เมืองขอนแก่น โดยเพลิงกำลังลุกไหม้แทรมน้อย รถรางเบา หรือ LRT ที่คิดค้นโดยอาจารย์มหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น เจ้าหน้าที่ไม่สามารถฉีดน้ำดับไฟที่กำลังลุกไหม้ได้ เนื่องจากมีแบตเตอรี่ติดตั้งในตัวรถแทรม จึงต้องปล่อยให้เพลิงลุกไหม้จนเสียหายทั้งคัน จากนั้นจึงได้ระดมฉีดน้ำสกัดดับไฟได้สำเร็จในเวลาประมาณ 01.45 น.
จากการตรวจสอบพบว่ารถแทรมน้อยได้รับความเสียหายทั้ง 2 โบกี้ ซึ่งรถแทรมน้อยเป็นขบวนรถไฟฟ้าที่ได้จากการศึกษา “แทรม 907” ที่ได้รับมอบมาจากประเทศญี่ปุ่น ทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสานวิทยาเขตขอนแก่นได้รับงบประมาณพัฒนาสร้างขึ้นใหม่จากขบวนรถไฟต้นแบบของญี่ปุ่น ก่อนจะเกิดเหตุเพลิงไหม้ในครั้งนี้ และทางมหาวิทยาลัยเตรียมนำข้อมูลไปเสนอนายกรัฐมนตรีที่เดินทางมาประชุมสัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา
ข้อมูลจากเว็บไซต์ spacebar.th (Spacrbar Big City) ระบุว่า “แทรมน้อยลูกอีสาน” เป็นระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัดขอนแก่น ที่ถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งในโครงการ ‘เมืองอัจฉริยะ’ หรือ Smart city คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการและการบริหารจัดการเมือง เน้นการออกแบบที่ดี และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ภายใต้แนวคิดการพัฒนา เมืองน่าอยู่ เมืองทันสมัย ให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน
โดยเมืองอัจฉริยะขอนแก่นมีมิติแผนการพัฒนาที่สำคัญ 7 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม การเดินทางและขนส่ง การดำรงชีวิต พลเมือง พลังงาน เศรษฐกิจ และการบริหารภาครัฐ ในฐานะมหานครของภาคอีสาน ขอนแก่นมีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ปัญหาส่วนหนึ่งที่เกิดขึ้นคือ การจราจรติดขัดไม่ต่างจากเมืองใหญ่ ทำให้หลายหน่วยงานเล็งเห็นความสำคัญในการวางระบบขนส่งสาธารณะ หนึ่งในนี้คือ “โครงการรถไฟฟ้ารางเบา” (ต้นแบบ) ของขอนแก่น ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นรถไฟฟ้ารางเบาฝีมือคนไทยสายเลือดอีสาน และถือเป็นรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรกของประเทศไทยที่พัฒนาโดยฝีมือของคนไทย
อาจารย์ปริญ นาชัยสิทธิ์ รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น อดีตนายกสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย เคยให้สัมภาษณ์จุดเริ่มต้นของรถไฟฟ้ารางเบาไว้ว่า เมื่อปี 2562 เทศบาลเมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่น มอบรถแทรม 1 ตู้โดยสารแก่เทศบาลนครขอนแก่น โดยอาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มทร.อีสาน ร่วมกับบริษัท ช ทวี จำกัด (มหาชน) และอีกหลายภาคส่วน ร่วมศึกษาวิจัย พัฒนา และผลิตรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรกของประเทศไทยขึ้น
ต่อมาในปี 2565 มหาวิทยาลัยฯ ได้รับงบประมาณสนับสนุนครั้งแรก 120 ล้านบาท ผลิตรถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชันแรก มี 2 ขบวน ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเหนือศีรษะ ทดสอบขับเคลื่อนภายในมหาวิทยาลัย ระยะทาง 70 เมตร จากนั้น พัฒนาเป็นเวอร์ชันที่ 2 โดยทางสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. สนับสนุนทุนเพิ่มเติมกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งล่าสุดรถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชัน 2 นี้อยู่ระหว่างการพ่นสีรอบสุดท้ายแล้ว โดยใช้สีเหลืองดอกคูน แทนสัญลักษณ์ของรถไฟฟ้ารางเบาขบวนแรก ที่ผลิตในจังหวัดขอนแก่น รถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชัน 2 ได้พัฒนาเพิ่มเติมให้เป็นรถไฟฟ้ารางเบาใหม่ มี 3 โบกี้ และมี 2 ระบบขับเคลื่อน คือ ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้าเหนือศีรษะ และขับเคลื่อนด้วยแบตเตอรี่
สำหรับการทดสอบความทนทานในการใช้งานของรถไฟฟ้ารางเบา แบ่งเป็น 2 แผน คือ การขอสนับสนุนงบประมาณของมหาวิทยาลัย วางรางรถไฟภายในมหาวิทยาลัย จากเดิมที่มีระยะการทดสอบที่ 70 เมตร จะต่อรางเป็นระยะทาง 420 เมตร ไปจนถึงถนนศรีจันทร์หน้ามหาวิทยาลัย คาดว่างบประมาณจะอนุมัติภายในเดือนสิงหาคม 2567 จากนั้นจะใช้เวลาก่อสร้างราง 3-4 เดือน จึงจะแล้วเสร็จ ตั้งเป้าว่าช่วงเดือนธันวาคม 2567 สามารถทดสอบรถไฟฟ้ารางเบาเวอร์ชันล่าสุด ที่มีทั้งระบบขับเคลื่อนด้วยไฟฟ้าเหนือศีรษะและระบบแบตเตอรี่ได้