ประจวบคีรีขันธ์ - อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ร่วมกับเกษตรกร จัดงาน “มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู 2567” เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรได้นำทุเรียนป่าละอู และผลไม้ชนิดต่างๆ จากสวนลงมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคโดนตรง รวมทั้งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร มีนักท่องเที่ยวและผู้ที่ชื่นชอบทุเรียนป่าละอูมาเลือกซื้อทุเรียนทั้งรับประทานเอง และเป็นของฝาก
วันนี้ (27 ก.ค.) ที่ลานจัดกิจกรรม อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยนายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ พร้อมคณะผู้บริหารได้ร่วมกันเปิดงาน “มหกรรมผลไม้และของดีป่าละอู 2567” ครั้งที่ 11 มีเกษตรจังหวัดประจวบฯ พาณิชย์จังหวัดประจวบฯ ปลัดอำเภอหัวหิน สหกรณ์การเกษตรห้วยสัตว์ใหญ่ ททท.สำนักงานประจวบคีรีขันธ์ สมาคมโรงแรมไทยภาคตะวันตก สมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวหัวหิน/ชะอำ ศูนย์การค้ามาร์เก็ตวิลเลจ หัวหิน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เกษตรกรจากสวนต่างๆ ในพื้นที่ร่วมพิธีเปิดงาน ตลอดจนนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
นายวัชระ กำพร นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่า ตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นพื้นที่ในโครงการหมู่บ้านสหกรณ์ห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นโครงการตามพระราชดำริที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ได้มอบที่ดินทำกินให้เกษตรกร นอกจากทำเกษตรกรรมแล้ว ชาวบ้านส่วนใหญ่ของที่นี่ทั้งเลี้ยงโคนม ทำการเกษตร ปลูกพืชผักผลไม้ต่างๆ และผลไม้ที่สำคัญที่สร้างชื่อเสียงทุเรียนป่าละอู ทำให้เป็นที่นิยมของผู้ที่ชื่นชอบทานผลไม้ เมื่อถึงช่วงฤดูกาลตัดผลผลิตทุเรียนป่าละอูออกสู่ตลาดในช่วงเดือนพฤษภาคม มิถุนายน กรกฎาคม และสิงหาคมของทุกปี จะมีนักท่องเที่ยวตลอดจนผู้ที่ชื่นชอบบริโภคทุเรียนป่าละอู ต่างเดินทางเข้ามาในพื้นที่ มีทั้งไปซื้อที่สวน และตามแผงทุเรียนริมถนนในหมู่บ้านที่เกษตรกรตัดมาจำหน่าย ในปีนี้ราคาอยู่ที่ 250 บาท แต่หากลงไปจำหน่ายในเมืองหัวหิน ราคาอยู่ที่ 300 บาท/กก.
ในการจัดงานปีนี้เป็นครั้งที่ 11 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มิถุนายน-3 กรกฎาคม 2567 เพื่อเป็นการเผยแพร่ส่งเสริมของดีตำบลห้วยสัตว์ใหญ่เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรและชุมชนในพื้นที่ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรในพื้นที่ตำบลห้วยสัตว์เป็นที่รู้จักเพิ่มมากยิ่งขึ้น
ภายหลังจากพิธีเปิดเสร็จแล้ว นายก อบจ.ประจวบฯ นายก อบต.ห้วยสัตว์ใหญ่ ได้เดินเยี่ยมชมบูทของเกษตรกรชาวสวนต่างๆ ที่นำทุเรียนและผลไม้มาจำหน่าย โดยย้ำขอให้เกษตรกรเลือกตัดผลผลิตที่แก่จัดให้ผู้บริโภค และบอกด้วยว่าผู้ที่ชื่นชอบบริโภคทุเรียนป่าละอู รอที่จะเลือกซื้อลองลิ้มในรสชาติของทุเรียนป่าละอูที่ขึ้นชื่อ
ทั้งนี้ ภายในงานมีการแสดงจากเยาวชนของโรงเรียนอานันท์ การออกบูทจำหน่ายทุเรียน และพืชผักผลไม้หลายชนิดจากไร่ สวนต่างๆในพื้นที่ การจัดนิทรรศการของหน่วยงานเกษตร การประกวดทุเรียน การประกวดธิดาทุเรียน การแสดงของนักเรียนโรงเรียนอานันท์ การทอผ้าป่าละอู
ซึ่งในช่วงของการจัดงานทุเรียนป่าละอู ที่นำมาจำหน่ายในงานกิโลกรัมละ 250 บาท และเกษตรกรแต่ละรายที่นำมาจำหน่ายจะติดสติกเกอร์ชื่อสวน เบอร์โทรศัพท์ คิวอาร์โค้ด พร้อมรับประกันคุณภาพบริการทั้งปอก และจัดส่ง ทั้งนี้หากพบปัญหาซื้อทุเรียนในงานไปแล้วอ่อนหรือเสีย สามารถแจ้งโดยทางเกษตรกรจะเปลี่ยนและจัดส่งกลับไปให้ผู้บริโภค
ด้านนางศันสนีย์ เกษตรสินสมบัติ เกษตรจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวว่า พื้นที่ปลูกทุเรียนในป่าละอู 4,898 ไร่ มีพื้นที่ให้ผลผลิต 3,012 ไร่ มีเกษตรกร 502 ครัวเรือน มีปริมาณผลผลิตทุเรียนปี 2567 ราว 2,000 ตัน โดยผลผลิตจะออกมากในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม-สิงหาคม ซึ่งสภาพของตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ เป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ อากาศเหมาะสมทำให้รสชาติทุเรียนป่าละอูเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภค ซึ่งในเดือนมิถุนายน มีผลผลิต 617.66 ตัน ส่วนในเดือนกรกฎาคมนี้ มีผลผลิต 1,101.75 ตัน ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งปีนี้ทุเรียนป่าละอูมีการจำหน่ายผ่านช่องทางการตลาดออนไลน์ของแต่ละสวนถึง 70%
ทุเรียนป่าละอู ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีผู้ยื่นขอใช้ตราสัญลักษณ์ GI ทั้งสิ้น 226 ราย พื้นที่รวม 2,919 ไร่เศษ ยืนยันว่าถึงแม้ผลผลิตทุเรียนป่าละอูปีนี้จะมีน้อยจากสภาวะภัยแล้ง แต่คุณภาพยังคงเหมือนเดิม
นายสราวุธ ลิ้มอรุณรักษ์ นายก อบจ.ประจวบฯ กล่าวว่า ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผู้บริโภคต่างเดินทางขึ้นมาเที่ยวชมสวนทุเรียนที่ป่าละอู และไม่ลืมที่จะต้องซื้อทุเรียนป่าละอู ติดไม้ติดมือกลับไปเป็นของฝากถึงแม้ราคาทุเรียนภายในงานราคากิโลกรัมละ 250 บาท แต่ละลูกจะมีน้ำหนักตั้งแต่ 1 กิโลกรัมขึ้นไปจนถึง 3-4 กิโลกรัมก็มี
โดยขณะนี้ทุเรียนป่าละอูแต่ละสวนจะมีออเดอร์เข้ามาจากการสั่งจองทางออนไลน์กันเป็นจำนวนมาก สิ่งสำคัญนอกจากการส่งเสริม สร้างรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังถือว่าเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย
นางชลทิพย์ ล้ำเลิศ เจ้าของไร่ทุเรียนทิพย์โอชาคีรี หมู่ 9 ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ กล่าวว่าทุเรียนป่าละอูเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งมีรสชาติหวาน มันอร่อย เม็ดลีบเล็ก เนื้อทุเรียนหนา ปีนี้ถึงแม้จะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งทำให้ผลผลิตที่ไร่ลดลงไปบ้าง มีเพียง 1,000 กว่าลูก ซึ่งหลังเปิดรับออเดอร์เมื่อช่วงกลางเดือนที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับที่ดีลูกค้าสั่งเข้ามาและทางไร่จัดส่งไป
รวมทั้งนำไปจำหน่ายที่ตลาด อตก.กรุงเทพฯ หากแกะเนื้ออยู่ที่ 1,300-1,800 บาท/กก.และจำหน่ายในไร่นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปเที่ยวชมสวนกันได้ โดยการจัดงานครั้งนี้ถือว่าดีเพราะเกษตรกรนำทุเรียนคุณภาพมาจำหน่ายในราคา 250 บาท/กก. ซึ่งส่วนใหญ่ที่จัดส่งไปราคา 290 บาท/กิโล และยิ่งไปจำหน่ายที่กรุงเทพฯ อยู่ที่กว่า 300-350บาท/กก.
ขณะที่เกษตรกรรายอื่นๆ ที่มาออกบูทยอมรับว่าปีนี้ผลผลิตลดลงจากภัยแล้ง แต่ยังจำหน่ายได้เหมือนเดิม ซึ่งผู้บริโภคมาถึงสวนและสั่งออกเดอร์เข้ามาทางเพจ การจัดงานเป็นอีกทางเลือกที่ทำให้ผู้บริโภคมาพบกับเกษตรกรเจ้าของสวนจริงๆ ยอมรับว่าตลาดออนไลน์เข้ามีบทบาทสำคัญในปัจจุบัน