xs
xsm
sm
md
lg

สมุทรสงครามเตรียมนำเกลือทะเลขึ้นทะเบียนมรดกทางการเกษตรโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - สำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี เตรียมยกระดับเกลือทะเลสู่มรดกทางการเกษตรโลก

วานนี้ (11 มิ.ย.) ที่ห้องประชุมสำนักงานเกษตร จ.สมุทรสงคราม สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี ได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการจัดทำฐานข้อมูลมรดกทางการเกษตรโลก GIAHS โดยนางทชาอร ลิมังกูร ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมและพัฒนาการผลิต รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 2 จ.ราชบุรี เป็นประธาน มีนายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม และเจ้าหน้าที่จากสำนักงานเกษตร จ.เพชรบุรี สมุทรสงคราม และสมุทรสาครร่วมประชุม

โดยในที่ประชุมได้มีการวิเคราะห์แนวทางการจัดทำข้อมูลมรดกทางการเกษตรโลก คือเกลือทะเลในพื้นที่ จ.เพชรบุรี จ.สมุทรสงคราม และ จ.สมุทรสาคร เพื่อผลักดันเข้าสู่ระดับชาติและระดับโลก รวมทั้งนำเสนอผลการลงพื้นที่สำรวจและจัดเก็บข้อมูลมรดกทางการเกษตร ข้อมูลชุดดินในพื้นที่นาเกลือใน 3 จังหวัดดังกล่าว

นอกจากนี้ ยังนำเสนอการจัดทำฐานข้อมูลทางการเกษตรโลกและการวิเคราะห์ความสอดคล้องของหลักเกณฑ์ GIAHS ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหาร ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี เกลือทะเลเป็นวัตถุดิบในการถนอมอาหาร หมักดองของไทย ปรุงรสอาหาร เป็นส่วนผสมในยา และของใช้ สบู่ ยาสีฟัน

2.ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร เกลือทะเลเป็นส่วนหนึ่งจากพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศและเป็นระบบนิเวศที่ส่งเสริมความเป็นอยู่ของสัตว์ทะเลหายาก 3.ระบบความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม การทำนาเกลือโดยใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมและเทคโนโลยีที่เหมาะสม 4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม มีพร้อมทั้งโครงสร้างสังคม โครงสร้างการผลิต ความเชื่อในพิธีกรรมแรกขวัญนาเกลือ และ 5.ลักษณะภูมิทัศน์และภูมิทัศน์ทางทะเล มีความโดดเด่นทางภูมิทัศน์ ทังพื้นที่ราบ กองเกลือ ภาพมุมสูง และยุ้งฉางที่มีสถาปัตยกรรมเฉพาะตัว
           
นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตร จ.สมุทรสงคราม กล่าวถึงสถานการณ์เกลือทะเลไทยปี 2566-67 ว่า จากข้อมูลกรมส่งเสริมการเกษตร ณ เดือนเมษายน 2567 ประเทศไทยมีการทำนาเกลือใน 7 จังหวัด ได้แก่ เพชรบุรี สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ชลบุรี ฉะเชิงเทรา จันทบุรี และปัตตานี ที่ขึ้นทะเบียนรวม 40,766 ไร่ มีครัวเรือนเกษตรกรนาเกลือ 637 ครัวเรือน พื้นที่กว่า  20,000 ไร่ ปริมาณการผลิตเกลือทะเลในปี  2567 จำนวน 417,089 ตัน ลดลงจากปี 2565-66 ซึ่งมีผลผลิต 666,736 ตัน ประมาณการความต้องการเกลือใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ จำนวน 1,160,000 ตันต่อปี

โดยในปี 2555 ประเทศไทยส่งออกเกลือมูลค่า 1,138 ล้านบาท แต่ราคาเกลือในปี 2567 ยังตกต่ำเพราะพ่อค้าคนกลางยังรับซื้อแบบเกวียนๆ ละ 1,900 กิโลกรัม เหมือนในอดีตซึ่งไม่แน่นอนเหมือนหน่วยวัดเป็นตัน ส่วนสัดส่วนในการใช้ประโยชน์เกลือทะเล 70% ใช้มากที่สุดในการหมักดอง 17 เปอร์เซ็นต์ใช้สำหรับเกลือบริโภค อย่างไรก็ตาม หากมีความพร้อมด้านข้อมูลเมื่อใดจะนำเสนอขอให้เกลือทะเลเป็นมรดกโลกต่อ GIAHS

สำหรับ GIAHS ย่อมาจาก Globally Important Agricultural Heritage System หรือระบบมรดกโลกทางการเกษตร โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือ FAO จัดตั้งระบบมรดกทางการเกษตรโลกเมื่อปี 2545 ปัจจุบันมี GIAHS 72 ระบบใน 23 ประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอนุรักษ์มรดกทางการเกษตร สร้างความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาทางเศรษฐกิจ ปกป้อง และส่งเสริมการใช้ทรัพยากรทางชีวภาพให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น อนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ส่วนหลักการพิจารณามรดกทางการเกษตรโลกมี 5 ด้าน ได้แก่ 1.ความมั่นคงทางอาหารชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี 2.ความหลากหลายทางชีวภาพการเกษตร 3.ระบบความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมาตั้งแต่ดั้งเดิม 4.วัฒนธรรม ระบบคุณค่า และองค์กรทางสังคม และ 5.ลักษณะภูมิทัศน์และภูมิทัศน์ทางทะเล








กำลังโหลดความคิดเห็น