ศูนย์ข่าวศรีราชา - ตำรวจไซเบอร์ ร่วม สสจ.ชลบุรี บุกยึดกลูต้าปลอม ใช้ห้องพักในคอนโดฯ กลางเมืองบางละมุงเป็นแหล่งผลิตหลอกขายสายรักความงามในราคากระปุกละ 190 บาท อึ้งหนักพบกรรมวิธีผลิตใช้มือล้วนๆ โดยไม่รู้ส่วนผสมมีอะไรบ้าง
เมื่อเวลา 16.36 น.วันนี้ (7 มิ.ย.) พ.ต.ท.เอกภณ คณะญาพงศ์ รอง ผกก.2 บก.สอท.2 พร้อมด้วย ร.ต.อ.ภีมวัจน์ จิตต์สงวน รองสว.ปรก.กก.2 บก.สอท.2 ได้สนธิกำลังร่วมเจ้าหน้าที่ตำรวจ กก.2 บก.สอท.2 ภายใต้การนำของ พล.ต.ต.นิพล บุญเกิด ผบก.สอท. และ พ.ต.อ.จักรกฤช ศรีโรจนากูร ผกก.2 บก.สอท.2 รวมทั้งนายจิระสันต์ มีรัตน์ธนวัต เภสัชชำนาญการพิเศษ ประจำสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ได้นำหมายค้นเข้าตรวจสอบภายในห้องพักเลขที่ 820/33 บี 209 ภายในคอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งเขต อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
หลังได้รับแจ้งว่าสายลับว่า มีการจำหน่ายอาหารเสริมความงามที่มีการโฆษณาเกินความเป็นจริง จึงวางแผนจับกุมพร้อมขออนุญาตหมายค้นจากศาลจังหวัดพัทยา
กระทั่งพบ น.ส.ณัฐกิจ เสมแย้ม อายุ 26 ปี พร้อมผลิตภัณฑ์อาหารเสริมความงาม ประเภทกลูต้าบำรุงผิวขาว ยี่ห้อ BLACK MAJIC จำนวนมากที่บรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์เตรียมส่งจำหน่ายให้สายรักความงาม เจ้าหน้าที่จึงยึดของกลางเป็นอาหารเสริมยี่ห้อ BLACK MAJIC จำนวน 1,497 กระปุก สารที่ใช้เป็นส่วนผสมจำนวนหลายกิโลกรัม รวมทั้งอุปกรณ์บรรจุแคปซูล และแคปซูลสำหรับบรรจุจำนวนมาก
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า สิ่งที่น่าตกใจมากกว่าการยึดของกลางอาหารเสริมดังกล่าวคือ ภาพที่เจ้าหน้าที่เห็นขณะบุกเข้าตรวจค้นเพราะนอกจากจะพบอุปกรณ์การผลิต รวมตั้งตัวแคปซูลที่ถูกบรรจุอยู่ในถุงสีดำกว่า 10,000 แคบซูลแล้ว บุคคลที่ถูกบุกจับยังอ้างว่าอุปกรณ์ทั้งหมดถูกส่งมาจากกรุงเทพฯ และตนเป็นเพียงผู้รับจ้างนำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมเองก่อนบรรจุลงแคปซูล โดยไม่สามารถอธิบายได้ว่าส่วนผสมต่างๆ มีอะไรบ้าง
นอกจากนั้น ยังสาธิตวิธีการผสมอาหารเสริมดังกล่าวโดยใช้ช้อนตัก บรรจุลงแคปซูลก่อนนำใส่กระปุกและบรรจุกล่องแบรนด์ที่กำลังได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่น จากนั้นจะนำไปโพสต์ขายผ่านทางเฟซบุ๊กในราคากระปุกละ 190 บาท จนสามารถสร้างรายได้มากถึง 30,000-50,000 บาทต่อเดือน
เบื้องต้น เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมตัว น.ส.ณัฐกิจ เสมแย้ม พร้อมของกลางทั้งหมดส่งพนักงานสอบสวน สภ.หนองปรือ พร้อมแจ้งข้อกล่าวหา “ผลิต นำเข้าเพื่อจำหน่าย หรือจำหน่าย ซึ่งอาหารปลอม ซึ่งเป็นอาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต” ตามมาตรา 25 (2) ประกอบมาตรา 27(4) พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย
ส่วนสารที่ใช้เป็นส่วนผสมในอาหารเสริมดังกล่าวเจ้าหน้าที่จะส่งไปตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเป็นสารอันตรายต่อผู้บริโภคหรือไม่ จากนั้นจึงจะดำเนินคดีในข้อหาต่างๆ เพิ่มเติมต่อไป