xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) คาด 2,500 ปีก่อนเมืองโคราชเป็นบึงขนาดใหญ่ ส่งชั้นดินตรวจหาช่วงอายุโครงกระดูกโบราณ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - กรมศิลปากร โคราช รุดตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ อายุ 2,500 ปี คาดในอดีตเมืองนครราชสีมาเป็นบึงขนาดใหญ่ เตรียมเก็บชั้นดินตรวจสอบทางแล็บหาช่วงอายุโครงกระดูกทั้ง 2 ชิ้น


วันนี้ (30 พ.ค.) ที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (หลังเก่า) ถ.พลล้าน ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา จ.นครราชสีมา นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา พร้อมด้วย นายธนัญชัย วรรณสุข ผู้อำนวยการสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 (นครราชสีมา) และนายประเสริฐ บุญชัยสุข นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ลงพื้นที่ตรวจสอบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ และซากภาชนะดินเผาที่ถูกขุดค้นพบขณะเจ้าหน้าที่กำลังขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ ภายในสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (หลังเก่า) ซึ่งอยู่ติดกับคูเมืองในเขตเทศบาลนครนครราชสีมา ตามแผนดำเนินงานการปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะของเทศบาลนครนครราชสีมา ที่ร่วมกับกรมศิลปากร ดำเนินการทางโบราณคดี ก่อนมีการปรับปรุงภูมิทัศน์ เนื่องจากบริเวณดังกล่าวทางกายภาพพื้นที่มีร่องรอยทางประวัติศาสตร์



นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา เปิดเผยว่า กรณีชุมชนหรือเมืองที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์ จำเป็นต้องดำเนินการขุดสำรวจเพื่อศึกษาก่อนดำเนินการก่อสร้างอาคาร เพื่อที่จะได้มีการศึกษาเรียนรู้พื้นที่ดังกล่าว ว่ามีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ และได้รู้ถึงต้นกำเนิดของเมืองนครราชสีมา

การขุดค้นพบในครั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ขุดตามแนวกำแพงเมืองเก่า ระดับความลึก 180 เซนติเมตร พบโครงกระดูกมนุษย์ 2 โครง ไม่ทราบเพศ เนื่องจากการตรวจสอบเพศนั้นจะตรวจสอบจากกระดูกเชิงกราน แต่ทั้ง 2 โครงกระดูกที่พบกระดูกเชิงกรานไม่สมบูรณ์ จึงยังไม่สามารถระบุเพศได้ โดยโครงกระดูกแรกพบอยู่ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตก




ส่วนโครงกระดูกที่ 2 ลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว คาดว่าจะเป็นโครงกระดูกเด็ก มีเศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำวางอยู่รอบโครงกระดูก

กระดูกทั้ง 2 ชิ้นน่าจะถูกฝังจากกิจกรรมการฝังศพของคนสมัยโบราณ และมีอายุประมาณ 2,500-1,500 ปี น่าจะเป็นมนุษย์ที่อาศัยอยู่ก่อนการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา อย่างไรก็ตาม คงต้องมีการขุดเพิ่มเติมและนำดินในบริเวณดังกล่าวไปตรวจสอบในห้องแล็บเพื่อหาค่าทางวิทยาศาสตร์ และเพื่อตรวจสอบว่าดินในพื้นที่นั้นได้สัมผัสแสงอาทิตย์ครั้งล่าสุดเมื่อใด ซึ่งจะทำให้เราสามารถย้อนเวลาได้ว่าโครงกระดูทั้ง 2 โครงถูกฝังตั้งแต่ช่วงเวลาใด


“คาดการณ์ว่าในอดีตพื้นที่ดังกล่าวน่าจะเป็นพื้นที่ฝังศพขนาดใหญ่ และเมืองนครราชสีมาในช่วง 1,500-2,500 ปีน่าจะเป็นบึงขนาดใหญ่ และมีชุมชนตั้งอาศัยอยู่รอบบึงเป็นจำนวนมาก ก่อนจะมีการก่อตั้งเมืองนครราชสีมา” นายทศพรกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น