xs
xsm
sm
md
lg

ตะลึง! ขุดพบโครงกระดูกมนุษย์โบราณพร้อมภาชนะดินเผาพิมายดำ อายุ 2,500-1,500 ปี กลางเมืองโคราช

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - ตะลึง! สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ร่วมเทศบาลนครโคราช ขุดตรวจทางโบราณคดีกำแพงเมืองโคราชฝั่งทิศตะวันออก พบโครงกระดูกมนุษย์โบราณ พร้อมกลุ่มภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดาเเละภาชนะแบบพิมายดำ กำหนดอายุสมัยเบื้องต้นอยู่ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ “สมัยเหล็ก” หรือราว 2,500-1,500 ปีมาเเล้ว ชี้เป็นหลักฐานยืนยันเมืองโคราชแหล่งอารยธรรม 2,500 ปี

วันนี้ (30 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายทศพร ศรีสมาน ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา ได้มอบหมายนักโบราณคดีปฏิบัติการ โดยมี นายวรรณพงษ์ ปาละกะวงษ์ ณ อยุธยา พร้อม นายวิธาน ศรีขจรวุฒิศักดิ์ และเจ้าหน้าที่ส่วนงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการขุดค้นหาหลักฐานทางประวัติศาสตร์บริเวณพื้นที่ปรับภูมิทัศน์ คูเมืองด้านตะวันออก ถ.อัษฎางค์ ตัด ถ.พลล้าน เขตเทศบาลนคร (ทน.) นครราชสีมา เดิมเป็นอาคารสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 นครราชสีมา (สคพ.11 นม.) ปัจจุบันได้รื้อถอนย้ายที่ตั้ง สคพ.11 นม. ไปอยู่ ต.หนองบัวศาลา อ.เมืองนครราชสีมา

โครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว หันศีรษะไปทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปลายเท้าหันไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
ในขณะคนงานกำลังขุดดินตามแนวกำแพงเมืองเก่า ระดับความลึก 180 ซม. พบโครงกระดูกมนุษย์จำนวน 2 โครง ไม่ทราบเพศ โครงแรกลักษณะนอนหงายเหยียดยาวหันศีรษะไปทางทิศตะวันตกและห่างจากโครงแรกประมาณ 2.5 เมตร โครงที่สอง ลักษณะกะโหลกศีรษะถูกตัดวางอยู่บริเวณลำตัว เศษเครื่องปั้นดินเผาลายเชือกทาบ เศษกระเบื้อง กระดูกสัตว์ รวมทั้งภาชนะแบบพิมายดำ ตามข้อมูลวิชาการโบราณคดีกำหนดเป็นตัวแทนของกิจกรรมหรือวัฒนธรรมโบราณในยุคก่อนประวัติศาสตร์สมัยเหล็ก จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามหลักวิชาการโบราณคดีและเตรียมกั้นแนวเขตเป็นพื้นที่หวงห้าม

สภาพกะโหลกศีรษะซึ่งสันนิษฐานว่าถูกตัด โดยวางอยู่บนโครงกระดูกส่วนอก ซึ่งโครงกระดูกส่วนอกดังกล่าวหันปลายเท้าไปทางด้านทิศตะวันตก
นายวรรณพงษ์ นักโบราณคดีปฏิบัติการ สำนักศิลปากรที่ 10 เปิดเผยว่า งานโบราณคดีครั้งนี้เป็นการขุดตัวทางโบราณคดี เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้ทางเทศบาลนครนครราชสีมามีแผนปรับปรุงภูมิทัศน์เป็นสวนสาธารณะ จำเป็นต้องมีการดำเนินการทางโบราณคดีเนื่องจากทางกายภาพพื้นที่มีร่องรอยประวัติศาสตร์แนวกำแพงเมืองนครราชสีมาโบราณ สันนิษฐานถูกก่อสร้างในสมัยพระนารายณ์มหาราช หรือในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย

หลังจากดำเนินการขุดตามหลักวิชาการ เบื้องต้นความลึก 130 เซนติเมตร (ซม.) ไม่เจอกำแพงเมืองแต่อย่างใด รวมทั้งร่องรอยหลักฐานในสมัยอยุธยา แต่เมื่อระดับความลึก 180 ซม. ได้เจอหลักฐานชิ้นสำคัญทางประวัติศาสตร์เมืองนครราชสีมา เป็นหลักฐานช่วงยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย หรือสมัยเหล็ก ช่วงอายุประมาณ 2,500-1,500 ปีมาแล้ว

สภาพกะโหลกศีรษะซึ่งสันนิษฐานว่าถูกตัด โดยวางอยู่บนโครงกระดูกส่วนอก
ข้อมูลที่น่าสนใจเมื่อพูดถึงเมืองนครราชสีมา ส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่สมัยสมเด็จพระนารายณ์ มีการนำเสนออายุของเมืองนครราชสีมาเพียง 555 ปี หลักฐานในวันนี้กลายเป็นประจักษ์พยานของการมีอยู่ของผู้คนโบราณไม่น้อยกว่า 1,500-2,500 ปีในพื้นที่บริเวณนี้ เป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการตั้งเมืองสมัยอยุธยา มีการเลือกพื้นที่ตั้งเมืองคำนึงถึงความเหมาะสมเป็นชุมชนโบราณดั้งเดิม มีการปรากฏหลักฐานต่อเนื่องเรื่อยมา ยังมีความเชื่อมโยงไปยังชุมชนยุคก่อนประวัติศาสตร์ เช่น บริเวณปราสาทพนมวัน พื้นที่อำเภอโนนสูง โนนไทย มีชุมชนโบราณกระจายตัวอยู่จำนวนมาก


ขณะที่เพจเฟซบุ๊ก “กลุ่มโบราณคดี สำนักศิลปากรที่ 10 นครราชสีมา” เผยแพร่ข้อมูลการขุดตรวจทางโบราณคดีที่กำแพงเมืองทิศตะวันออก เมืองนครราชสีมาดังกล่าว ระบุว่า การขุดตรวจทางโบราณคดีเป็นความร่วมมือกันระหว่างเทศบาลนครนครราชสีมา กับสำนักศิลปากรที่ 10 โดยดำเนินการขุดตรวจบริเวณกำแพงเมืองนครราชสีมา ด้านทิศตะวันออก (สำนักงานสิ่งเเวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 11 เดิม) เพื่อตรวจสอบร่องรอยแนวกำแพงเมืองนครราชสีมา ก่อนดำเนินโครงการปรับปรุงภูมิทัศน์พื้นที่ต่อไปในอนาคต

สิ่งที่เรามุ่งหวังสูงสุดจากการขุดตรวจทางโบราณคดีในครั้งนี้ คือการขุดพบ แนวกำแพงเมือง ที่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (ครองราชย์ระหว่าง พ.ศ. 2199-2231) เเต่สิ่งที่ปรากฏตรงหน้าเราเมื่อขุดลึกลงไปนั้น คือการ ไม่พบ กำแพงเมืองนครราชสีมา เลย โดยสันนิษฐานว่าหน่วยงานราชการที่เข้ามาใช้พื้นที่ก่อนหน้านี้มีการปรับพื้นที่ ขุดตักหน้าดินฝังฐานรากอาคาร ส่งผลให้แนวกำแพงเมืองหายเกลี้ยง สอดคล้องกับหลักฐานทางโบราณคดีในระดับชั้นดินเดียวกันที่หลักฐานโบราณคดีต่างมีอายุสมัยปะปนกันไป


แต่ในความเสียใจยังมีความโชคดี เพราะเมื่อเราขุดตรวจลึกลงไปจนถึงระดับความลึก 150 เซนติเมตรจากผิวดินปัจจุบัน เรากลับพบร่องรอยของมนุษย์โบราณที่เก่าไปกว่าอายุ 555 ปี ที่เรามักกล่าวถึงอายุของเมืองกันอยู่บ่อยๆ เนื่องจากหลักฐานทางโบราณคดีที่เราพบในครั้งนี้ กำหนดอายุเบื้องต้นอยู่ในช่วง 2,500-1,500 ปมาแล้ว

โดยหลักฐานที่ สศก.10 นม.พบในครั้งนี้ ประกอบด้วย โครงกระดูกมนุษย์ในลักษณะนอนหงายเหยียดยาว จำนวน 1 โครง ศีรษะมนุษย์วางอยู่บนร่างกายที่หันปลายเท้าหไปทางด้านทิศตะวันตก จำนวน 1 โครง ตลอดจนพบกลุ่มภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา และภาชนะแบบพิมายดำร่วมชั้นวัฒนธรรมดังกล่าวด้วย โดยจากหลักฐานทางโบราณคดีที่พบจึงกำหนดอายุสมัยเบื้องต้นให้อยู่ในช่วง "ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก" หรือราว 2,500-1,500 ปีมาเเล้ว โดยชั้นวัฒนธรรมดังกล่าวสิ้นสุดลงที่ระดับความลึก 190 เซนติเมตร จากผิวดิน และไม่ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีในระดับที่ลึกลงไป จึงนับได้ว่าสิ้นสุดชั้นวัฒนธรรม


การค้นพบหลักฐานยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยเหล็ก หรือราว 2,500-1,500 ปีมาเเล้ว ในวันนี้ นับเป็นประจักษ์พยานสำคัญของการมีอยู่ของผู้คนในบริเวณเมืองนครราชสีมามาเป็นระยะเวลานานแล้วกว่าพันปี มิใช่เป็นเมืองใหม่ที่ไร้ผู้คนก่อนการสร้างเมืองในสมัยอยุธยาตอนปลายอย่างที่หลายคนเข้าใจ และคำกล่าวเหล่านี้จะมิได้ถูกกล่าวขึ้นอย่างเลื่อนลอยอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานทางโบราณคดีช่วยเป็นพยานให้ชัดเจนเเล้ว

การดำเนินการครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าสำคัญของการศึกษาร่องรอยมนุษย์โบราณ ยุคก่อนประวัติศาสตร์ ในพื้นที่เมืองเก่านครราชสีมา เพราะที่ผ่านมา หากเราต้องกล่าวถึงร่องรอยยุคก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายในพื้นที่เมืองนครราชสีมานั้น เราจะต้องอ้างอิง “รายงานผลการขุดค้นกำแพงเมือง ด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ” ที่คุณสมเดช ลีลามโนธรรม นักโบราณคดีในขณะนั้นเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2542 หรือเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจากการขุดค้นทางโบราณคดีพบชิ้นส่วนภาชนะดินเผาแบบพิมายเพียง 2 ชิ้นเท่านั้น ซึ่งหลักฐานที่ปรากฏในวันนี้ช่วยเสริมข้อสันนิษฐานเมื่อ 25 ปีที่ผ่านมาให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น


เเละเพื่อจะให้การวิเคราะห์อายุสมัยมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อดำเนินการขุดตรวจแล้วเสร็จ สศก.10 นม.จะดำเนินการส่งตัวอย่างไปหาค่าอายุสมัยทางวิทยาศาสตร์ด้วยวิธีเรืองแสงความร้อน ณ ห้องปฏิบัติการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ต่อไป

แม้ครั้งนี้จะไม่เจอกำแพงเมืองดังหวัง แต่งานวิชาโบราณคดียุคก่อนประวัติศาสตร์ในเขตเมืองเก่านครราชสีมากลับก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี






กำลังโหลดความคิดเห็น