เพชรบุรี - ชาวบ้าน 3 ตำบล รวมตัวหยุดก่อสร้างยกระดับสปิลเวย์เขื่อนแก่งกระจานลั่นถาม “รัฐเห็นเงินสำคัญกว่าความเดือดร้อนของประชาชนหรือ” โดยที่ผ่านมายื่นเรื่องถึงนายพีระพันธุ์ และมีคำสั่งให้ชะลอโครงการ แต่ล่าสุดยังก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง
เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (23 พ.ค.) ชาวบ้าน อ.แก่งกระจาน กว่า 100 คน นำโดย นายวิรัตน์ นกวอน นายก อบต.แก่งกระจาน นายยงยุทธ ร่มโพรีย์ ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านพุเข็ม ต.แก่งกระจาน พร้อมผู้นำชุมชนจาก 9 หมู่บ้านในพื้นที่ ต.แก่งกระจาน ต.สองพี่น้อง ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน เดินทางมาที่ช่องระบายน้ำล้น หรือสปิลเวย์ของเขื่อนแก่งกระจาน คัดค้านโครงการการเสริมระดับทางน้ำล้น หรือสปิลเวย์ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน
ที่กำลังดำเนินการก่อสร้างตามโครงการทำบานพับสปีลเวย์ เสริมจากเดิมเพิ่มขึ้นอีก 150 เซนติเมตร เพื่อกักเก็บน้ำให้ได้ปริมาณมากขึ้น โดยชาวบ้านคัดค้านเนื่องจากโครงการดังกล่าวหากแล้วเสร็จและน้ำเต็มอ่างจะทำให้ระดับน้ำในอ่างเพิ่มขึ้น น้ำจะท่วมสูง ส่งผลกระทบและสร้างความเดือดร้อนกระทบที่ทำกิน พืชสวนการเกษตร ที่อยู่อาศัยของชาวบ้านกว่า 2,000 หลังคาเรือนรอบอ่าง
โดยขณะที่ชาวบ้านเดินทางไปถึงบริเวณก่อสร้างโครงการ พบผู้รับเหมากำลังจะติดตั้ง บานพับสปิลเวย์ ซาวบ้านจึงรวมตัวให้คนงานหยุดการดำเนินงานทันที และเรียกร้องให้ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน และผู้แทนภาครัฐเข้าพูดคุยตกลงแก้ปัญหา
นายวิรัตน์ นกวอน นายก อบต.แก่งกระจาน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวดำเนินการโดยไม่คำนึงถึงประชาชน ก่อนดำเนินการไม่มีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ไม่ได้ทำประชาคมหมู่บ้าน หากโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นและแล้วเสร็จ เมื่อถึงฤดูฝนหรือน้ำหลากจะทำให้มวลน้ำในอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานเพิ่มระดับสูงขึ้น และจะส่งผลกระทบที่อยู่อาศัย พื้นที่การเกษตรและพื้นที่ทำกิน จำนวน 9 หมู่บ้าน
ประกอบด้วย หมู่บ้านพุเข็ม บ้านพุบอน หมู่บ้านน้ำซับ หมู่บ้านลำตะเคียน บ้านหนองเกตุ บ้านท่าเรือ บ้านวังวน บ้านท่าลิงลม และบ้านพุไทร อ.แก่งกระจาน ชาวบ้านจำนวน 2,097 ครัวเรือน ประชากรรวม 4,715 คน ได้รับความเสียหายและเดือดร้อน สถานที่ราชการ รวม 4 แห่ง ประกอบด้วย 1.ที่ทำการอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน 2.ที่ทำการประมงน้ำจืดเขื่อนแก่งกระจาน 3.โรงเรียนบ้านพุเข็ม 4.โรงเรียนบ้าน อ.ฮ.ลิังค์ จะได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ แนวเขตชลประทานที่เพิ่มขึ้นจะทำให้เกิดปัญหาที่ดินทับซ้อน พื้นที่ทำการเกษตรของชาวบ้านที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำกินตามมติ ครม. 30 มิ.ย.41 จำนวนมากกว่า 1,000 ไร่ ใน 4 หมู่บ้าน 3 ตำบล นอกจากนี้เนื่องด้วยแก่งกระจานเป็นเขื่อนดิน มีความกังวลว่าหากเสริมสปิลเวย์จากเดิมอาจทำให้มีปริมาณน้ำมากเกินไปอาจทำให้เขื่อนแก่งกระจานแตกได้
“เมื่อปี 2565 โครงการส่งน้ำเคยนำโครงการเสริมระดับทางน้ำล้นดังกล่าวเสนอต่อสภา อบต.แก่งกระจาน ซึ่ง อบต.แก่งกระจาน ได้ชี้แจงว่าหากดำเนินการโครงการจะส่งผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก และคัดค้านโครงการดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง แต่โครงการส่งน้ำดำเนินการโดยไม่ฟัง อ้างว่าสร้างในพื้นที่ตนเอง ที่ผ่านมา ในช่วง ครม.สัญจร เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ชาวบ้านและผู้นำชุมชนทั้งหมดที่ได้รับความเดือดร้อนได้รวมตัวยื่นหนังสือต่อนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน เพื่อคัดค้านโครงการดังกล่าว และมีคำสั่งให้ชะลอการก่อสร้าง แต่ปรากฏในข้อเท็จจริงยังมีการก่อสร้างอย่างต่อเนื่อง วันนี้ชาวบ้านทนไม่ไหวจึงรวมตัวหยุดการก่อสร้างเพิ่มระดับสปิลเวย์ และยื่นคำขาดไม่ให้มีการก่อสร้างเพิ่มระดับสปิลเวย์ต่อ”
นายยงยุทธ ร่มโพรีย์ ชาวบ้านหมู่ 10 บ้านพุเข็ม ต.แก่งกระจาน เปิดเผยว่า ชาวบ้านอยู่ในพื้นที่นี้มานานหลาย 10 ปี ไม่เห็นด้วยกับบานพับยกระดับสปิลเวย์ สิ่งนี้คือแดนประหารที่จะฆ่าชาวบ้าน ก่อนหน้านี้บอกว่าจะชะลอโครงการ แต่กลับดำเนินการก่อสร้างทุกวันจะให้ชาวบ้านไว้ใจได้อย่างไร อ้างว่าหากโครงการล่าช้าจะถูกผู้รับเหมาปรับ 100 กว่าล้านบาท อยากถามว่าภาครัฐเห็นเงิน 100 กว่าล้านบาท สำคัญกว่าความเดือดร้อนของประชาชนกว่า 2,000 คน หรือหากจะแก้ปัญหาต้องการเก็บน้ำเพิ่มขึ้น ควรใช้วิธีการขุดลอกอ่างเก็บน้ำแก่งกระจานดีกว่า เป็นการลดความเสี่ยงเขื่อนแตก ลดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่อาศัยบริเวณใต้เขื่อน ลดผลกระทบผู้อาศัยบริเวณรอบเขื่อน และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้าน โดยไม่กระทบต่อการดำรงชีวิต
ต่อมาเวลา 12.30 น.นายธนยศ หิรัญเนตร นายอำเภอแก่งกระจาน นายเฉลิมวรรษ อินทชัยศรี หัวหน้าฝ่ายก่อสร้างที่ 3 สำนักก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 14 และนายมีชัย ปฏิยุทธ ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแก่งกระจาน เดินทางมาที่จุดระบายน้ำล้น รับฟังปัญหาชาวบ้าน เบื้องต้น นายเฉลิมวรรษ ได้สั่งให้หยุดดำเนินการยกบานพับสปิลเวย์เป็นการชั่วคราว และจะทำหนังสือชี้แจงไปที่กรมชลประทาน เพื่อประสานผู้รับเหมาชะลอโครงการ ส่วนนายธนยศ นายอำเภอแก่งกระจาน จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชน ผู้นำชุมชนร่วมปรึกษาหาแนวทางแก้ไขต่อไป
ทั้งนี้ เขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดินขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตั้งอยู่ที่อ่างเก็บน้ำแก่งกระจาน อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 46.5 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำที่ระดับกักเก็บน้ำสูงปกติ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร กักเก็บและระบายน้ำด้วยเขื่อนแก่งกระจาน มีความสูงจากฐานราก 58 เมตร ความยาวสันเขื่อน 760 เมตร กว้าง 8 เมตร เริ่มกักเก็บน้ำมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2509 ใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรและผลิตกระแสไฟฟ้า