กาญจนบุรี - ศาลเยาวชนและครอบครัว จ.กาญจน์ เปิด "ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพครอบครัว" และ "ศูนย์ติดตามด้วยความห่วงใย" เพื่อทำงานในเชิงรุก หวังช่วยเด็กๆที่ทำผิดคืนสู่สังคม
วันนี้ (21 พ.ค.) ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เป็นประธานเปิดโครงการจัดตั้ง "ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพครอบครัว" และ "ศูนย์ติดตามด้วยความห่วงใย" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567
โดยมี น.ส.สุภา มีคติธรรม ผู้อำนวยการสำนักงานประจำศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี กล่าวรายงาน มีนางจันทร์จิรา พัฒนศิริ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดกาญจนบุรี พร้อมคณะผู้พิพากษาสมทบและผู้ประนีประนอม ผู้อำนวยการ และบุคลากรของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เข้าร่วมพิธีอย่างพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ นางกนกพร ศิลาภากุล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี เปิดเผยภายหลังว่า ถามว่าปัจจุบันเด็กและเยาวชนมีพฤติกรรมที่รุนแรงมากขึ้นอยากจะฝากไปถึงครอบครัวให้ช่วยกันดูแลลูกหลานอย่างไรนั้น ด้วยประสบการณ์ที่อยู่ในศาลเยาวชนและครอบครัวมา จะเห็นเด็กมาที่ศาลและเยาวชนและครอบครัว คือครอบครัวที่เกิดปัญหาในสังคม ครอบครัวที่แตกแยก และปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของเด็กในปัจจุบันที่มีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวล่อ เมื่อนำมาประกอบกับครอบครัวละเลยในบทบาทที่ควรจะเป็นในการดูแลเด็กและเยาวชน จึงทำให้เกิดปัญหาในการกระทำความผิดโดยโดยที่บางครั้งเด็กบางคนไม่ได้ตั้งใจหรือทำผิดไปโดยที่ไม่มีการดึงหรือรั้นจากผู้ปกครอง
เพราะฉะนั้นบทบาทของเด็กในปัจจุบันคนที่มีบทบาทสำคัญที่สุดคือครอบครัว ซึ่งพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ทราบในจุดนี้ดี ซึ่งประเด็นในเรื่องนี้ศาลเยาวชนและครอบครัว แต่เดิมเราทำแต่เรื่องของคดีที่เป็นคดีมาที่ศาล แต่ปัจจุบันอย่างที่กล่าวไปสักครู่แล้วว่า ศาลเริ่มทำงานในเชิงลึก โดยท่านประธานศาลฎีกา ท่านได้ให้ทำงานในเชิงรุก ถามว่าเชิงรุกอย่างไร คือแนวป้องกัน วันนี้จึงเกิดศูนย์ทั้ง 2 ศูนย์ขึ้นมา
คือ “ศูนย์สร้างเสริมคุณภาพครอบครัว” ซึ่งชื่อบอกอยู่แล้ว และอีกหนึ่งศูนย์คือ “ศูนย์ติดตามด้วยความห่วงใย” ทั้ง 2 ศูนย์นี้มีวัตถุประสงค์หลักเลยคือดูแลเด็กและเยาวชน ให้เด็กกลับไปสู่สังคมที่สามารถมีคุณภาพ แล้วไม่มีการทำผิดซ้ำอีก ส่วนเด็กที่อยู่ในครอบครัวที่แตกแยก ซึ่งต้อขออนุญาตใช้คำๆนี้เพราะเป็นการสื่อความหมายได้ชัดเจนดีว่าครอบครัวที่แตกแยกเราสามารถทำงานในเชิงรุกด้วยการป้องกันเข้าไปให้คำปรึกษาแนะนำในระหว่างที่เขาเป็นคู่ความคดีในศาล ซึ่งเดิมทีเราได้ตัดสินและพิจารณาคดีไปตามข้อเท็จจริงในศาล
แต่ปัจจุบันนี้ไม่ใช่แล้ว เพราะเราจะมีการให้คำแนะนำ มีการประนีประนอมมีการไกล่เกลี่ย เมื่อเราเห็นแล้วว่าเด็กคนนั้นมีปัญหา ต้องเข้าใจว่าศาลเยาวชนและครอบครัวทำงานมุ่งเน้นและอยากให้ผู้ปกครองเล็งเห็นผลประโยชน์ ความผาสุกของเด็กและเยาวชนรวมทั้งคนในครอบครัวเป็นที่ตั้งสำคัญ คือเราจะมีนักจิตวิทยา และผู้ประนีประนอมที่มีความรู้ความสามารถคอยให้คำแนะนำ หากมีข้อขัดข้องหรือต้องการอย่างอื่น ครอบครัวของเด็กและเยาวชนสามารเข้ามาร่วมในการปรับปรุง แก้ไขเพื่อสร้างครอบครัว
รวมทั้งสร้างความสมดุลในครอบครัวขึ้นมาใหม่ให้สมบูรณ์และเข้มแข็ง ซึ่งศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ยินดี ซึ่งศาลเองจะประสานไปยังสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดกาญจนบุรี เพราะหน่วยงานนี้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง เพื่อให้มาร่วมมือกันทำให้ครอบครัวของเด็กและเยาวชนเกิดความมั่นคงไปในทางที่ดีขึ้น และที่สำคัญจะทำให้เด็กๆ เหล่านี้กลับไปอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณภาพอีกด้วย
ด้านนางจันทร์จิรา พัฒนศิริ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จังหวัดกาญจนบุรี ได้กล่าวถึงคดีที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดกาญจนบุรี พบมากที่สุดว่า ในปัจจุบันคือคดีที่การใช้ความรุนแรงในครอบครัวที่ส่งผลต่อเด็กและครอบครัวไปด้วย ซึ่งปัจจุบันพบว่าในแต่ละปีจังหวัดกาญจนบุรีพบเด็กและเยาวชนใช้ความรุนแรงเพิ่มขึ้นทุกปี
สาเหตุอาจจะมาจากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ ด้านสังคม และโลกโซเชียล ซึ่งจริงๆ แล้วผู้ปกครองโดยเฉพาะพ่อกับแม่จะต้องเลี้ยงดูเด็กตามพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 แต่อย่างที่ท่านหัวหน้าศาลได้บอกเอาไว้แล้วว่า อาจจะมีในเรื่องของพ่อแม่หรือผู้ปกครองจำเป็นต้องไปทำงาน หรือเกิดการละเลยในหน้าที่ เรื่องนี้ทาง พม.จะได้มีการเข้าไปดูแลในแต่ละครอบครัว
วันนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกาญจนบุรี ได้มีการจัดตั้งศูนย์ในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เราสามารถติดตามครอบครัวของเด็กๆ ที่ได้รับผลกระทบ การติดตามเราจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปด้วย เพราะเวลาเราลงไปดูเราไม่ได้ดูว่าพ่อแม่ละเลยการเลี้ยง หรือเด็กกระทำผิดอย่างไร เพราะบางครั้งเด็กอาจจะมีปัญหาในเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องอื่นๆ ซึ่งเราจะมีนักสังคมสงเคราะห์ร่วมลงพื้นที่เพื่อจะได้ไปช่วยกันดูว่า ปัญหาที่แท้จริงของเด็กและครอบครัวคืออะไร เราจะได้ช่วยกันแก้ไขให้เขาได้มีชีวิตไปในทางที่ดีขึ้นได้