xs
xsm
sm
md
lg

ชาวลพบุรีร่วมงานชักพระ มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ลพบุรี - จังหวัดลพบุรี ร่วมกับเทศบาลตำบลท่าโขลง และพุทธศาสนิกชนจัดประเพณีชักพระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำบางขาม ซึ่งถูกขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม

วันนี้ (21 พ.ค.) ที่วัดไลย์ ต.เขาสมอคอน อ.ท่าวุ้ง จ.ลพบุรี นายวชิระ เกตุพันธุ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เป็นประธานเปิดงานประเพณีชักพระศรีอริยเมตไตรย์ พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งลุ่มน้ำบางขาม ประจำปี 2567 โดยมีพระครูสาธุกิจบริหาร เจ้าอาวาสวัดไลย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พร้อมด้วยนายสรณต ณ ศรีโต นายอำเภอท่าโขลง หัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องที่ ท้องถิ่น และพุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศเข้าร่วมพิธีเป็นจำนวนมาก

รองผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี กล่าวว่า งานประเพณีแห่พระศรีอาริยเมตไตรย์ วัดไลย์ เป็นงานประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดกันมายาวนานกว่า 100 ปี เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบสานขนบธรรมเนียมประเพณีไทยให้คงอยู่กับชุมชน เพื่อสร้างความรักและความสามัคคีแก่คนในชุมชน อีกทั้งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวในชุมชนให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย ตลอดจนร่วมสร้างเอกลักษณ์ประจำท้องถิ่นให้เป็นที่รู้จักของบุคคลทั่วไป

สำหรับการจัดงานนมัสการพระศรีอริยเมตไตรย วัดไลย์ จะจัดขึ้นปีละ 2 ครั้ง ครั้งที่ 1 จัดขึ้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 6 และครั้งที่ 2 แรม 4 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี ในปีนี้กำหนดจัดขึ้นจำนวน 5 วัน 5 คืน ระหว่างวันที่ 18-22 พฤษภาคม 2567

สำหรับประเพณีชักพระ วัดไลย์ ได้อัญเชิญรูปหล่อพระศรีอริยเมตไตรย ประดิษฐานบนแท่นตะเฆ่ ทำด้วยไม้เนื้อแข็งไม่มีล้อ ทำเป็นบุษบกมีหลังคา เป็นฉัตรกั้น แล้วนำเชือกขนาดใหญ่ 2 เส้นผูกตะเฆ่เป็น 2 แถว ให้ประชาชนที่มาร่วมงานช่วยกันชักลากไปตามเส้นทางที่กำหนด โดยออกจากวัดไลย์ อ.ท่าวุ้ง ไปตามเส้นทางของหมู่บ้าน

โดยขบวนจะสิ้นสุดที่วัดท้องคุ้ง อำเภอบ้านหมี่ จากนั้นอัญเชิญพระศรีอริยเมตไตรย กลับมาประดิษฐานที่วัดไลย์ดังเดิม รวมระยะทางไปกลับกว่า 10 กิโลเมตร ตลอดทางที่ชักพระผ่านจะมีประชาชนตั้งโรงทาน และมีจุดหยุดให้ประชาชนได้สรงน้ำ และกราบนมัสการปิดทอง

ซึ่งในปัจจุบันประเพณีแห่พระศรีอาริยเมตไตรย์ วัดไลย์ ได้รับการขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม พ.ศ.2566 ตามประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ด้านแนวปฏิบัติทางสังคม พิธีกรรมประเพณี และเทศกาล มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่มีการปฏิบัติอย่างแพร่หลายในจังหวัดลพบุรี อีกด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น