ประจวบคีรีขันธ์ - คอทุเรียนต้องไม่พลาด “สวนลุงเอี๊ยด ป่าละอู” ปลูกทุเรียนดัง 9 สายพันธุ์ เอาใจผู้บริโภคทุเรียน เผยผลผลิตปีนี้จะลดลงจากภาวะอากาศที่ร้อนจัด และความแห้งแล้ง พายุฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสวนทุเรียนลูกแตก ร่วง ขาดน้ำ แต่ยังคงมีผลผลิตทุเรียนหมอนทองป่าละอู ออกมาให้ผู้บริโภคราว 60%
ช่วงนับจากนี้ไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายนปีนี้ หลายสวนทุเรียนมีอายุมาถึง 90 วันแล้ว บางสวนอายุยังไม่ถึงก็มี เป็นช่วงที่เจ้าของสวน ต้องให้การดูแลผลผลิตที่อยู่ตามต้น เพื่อรอที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในกลางเดือนมิถุนายน ต่อเนื่องไปจนถึงปลายเดือนมิถุนายน
บางสวนมีไปจนถึงกรกฎาคมปีนี้ ถึงแม้ว่าข้อมูลจากเจ้าของสวนทุเรียนในพื้นที่ป่าละอูและสำนักงานเกษตรอำเภอหัวหิน ที่พูดตรงกันว่า ผลผลิตปีนี้จะลดลงจากภาวะอากาศที่ร้อนจัด และความแห้งแล้ง พายุฤดูร้อนที่ส่งผลกระทบต่อสวนทุเรียนลูกแตก ร่วง ขาดน้ำ แต่ยังคงมีผลผลิตทุเรียนหมอนทองป่าละอู ออกมาให้ผู้บริโภคราว 60%
วันนี้ (21 พ.ค.) "สวนทุเรียนลุงเอี๊ยด" ของ นายสุเพียบ ทัดสงค์ หมู่ 8 บ้านเฉลิมราชพัฒนา ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ กล่าวว่า ถึงแม้ในช่วงพายุฤดูร้อนที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบต่อทุเรียนหมอนทองป่าละอูที่ได้รับ GI ที่จะเก็บเกี่ยวในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมก็ตาม ซึ่งเสียหายไปประมาณ 300-500 ลูก เรียกว่าสูญเงินไปส่วนหนึ่ง แต่ยังโชคดีที่ตนยังเหลือสวนทุเรียนอีก 1 แปลง มีเนื้อที่ 10 ไร่ แต่ตนมีการปลูกทุเรียนถึง 9 สายพันธุ์อยู่ในสวนนี้
โดยแบ่งการปลูกออกเป็น 10 ต้นต่อสายพันธุ์ รวมๆ แล้วราว 100 ต้น มีทั้งทุเรียนพันธุ์หมอนทองป่าละอู มีสีเหลืองอ่อน เนื้อเนียนละเอียด แห้ง กลิ่นอ่อน รสมันหวาน เม็ดลีบเล็ก รวมทั้งยังมีพันธุ์ก้านยาว กบชายน้ำ กบผู้เฒ่า หนามดำ เม็ดในยายปราง ผลดก เมล็ดลีบเนื้อละเอียด หวานมัน โตเร็ว ส่วนมูซังคิง ลักษณะเด่นเนื้อเยอะ เมล็ดเล็กลีบบาง หวาน หอม อร่อย และยังมีพันธุ์ย่ำมะหวาด สีเหลืองนวล มันมากกว่าหวาน และพันธุ์กลีบสมุทร ส่วนใหญ่นำพันธุ์มาจาก จ.นนทบุรี
เนื่องจากสายพันธุ์เหล่านี้มีชื่อเสียงเจริญเติบโตได้ดี และภูมิต้านทานโรคที่ดี จึงนำมาปลูกในพื้นที่สวนของตนที่ป่าละอู ซึ่งอยู่ติดกับแม่น้ำปราณบุรี โดยอายุของสวนทุเรียนแห่งนี้ปลูกมาแล้ว 5-7 ปี ซึ่งปีที่ผ่านมาให้ผลผลิตไปประมาณ 25 ต้น โดยปีนี้จะให้ผลผลิต 50 ต้น ซึ่งขณะนี้ทุกสายพันธุ์ทุเรียนมีอายุ 90 วันแล้ว ผลผลิตค่อนข้างสมบูรณ์แปลงนี้อยู่ติดกับแม่น้ำปราณบุรี จึงต่อท่อนำน้ำขึ้นมารดต้นทุเรียน
โดยใช้ระบบสปริงเกอร์ และส่วนหนึ่งเก็บสต๊อกไว้ในถังเก็บน้ำ ซึ่งที่นี่ใช้ปุ๋ยขี้แพะ ขี้วัว และปุ๋ยหมักจากผลไม้ที่ปลูกเอาไว้ เช่น กล้วย แตงโม ผัก สิ่งสำคัญตนคิดเสมอว่าสิ่งสำคัญทุเรียนป่าละอู ที่มีชื่อเสียเป็นเพราะเกษตรกรให้ความสำคัญทั้งเรื่องของดิน น้ำ สภาพอากาศ และปุ๋ย โดยเฉพาะดินแถบแม่น้ำปราณบุรีป่าละอู-ป่าเด็ง แถบนี้อุดมไปด้วยแร่ธาตุที่สมบูรณ์ โดยสาเหตุที่ปลูกพันธุ์ทุเรียนแตกต่างจากสวนอื่นๆ เพราะว่าในพื้นที่ส่วนใหญ่ปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทองป่าละอูเป็นหลักกัน ประกอบกับสวนแรกของตนเป็นพันธุ์หมอนทองอยู่แล้ว พอมาคิดปลูกลงในพื้นที่แปลงที่ 2 จึงเห็นว่าควรคัดเลือกสายพันธุ์ให้หลากหลายมากขึ้น จึงเป็นที่มาของ 9 สายพันธุ์ที่นำมาปลูก
ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมา ผลผลิตที่เก็บเกี่ยวได้รับการตอบรับดีมากจากกลุ่มผู้ที่นิยมชื่นชอบบริโภคทุเรียน ไม่เพียงเฉพาะหมอนทองป่าละอู โดยที่สวนราคาผลผลิตสายพันธุ์อื่นที่ไม่ใช่หมอนทองป่าละอู ราคา 300-450 บาท/กก. ส่วนหมอนทองป่าละอู 250 บาท/กก. ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริโภคจะสั่งทางออนไลน์ และจัดส่งไปให้ตามออเดอร์
โดยทางสวนยังเปิดให้เข้ามาเที่ยวชมสวนและชิมทุเรียนกันอีกด้วย ซึ่งในช่วงระหว่าง 15 มิถุนายน-ปลายเดือนมิถุนายนนี้จะเริ่มตัดผลผลิต ดังนั้น ผู้ที่ชื่นชอบบริโภคสายพันธุ์ทุเรียนต่างๆ สามารถสั่งเข้ามาได้ที่หมายเลข 09-9017-8526 ซึ่งมีบริการจัดส่งและรับรองว่าทุเรียนของสวนตนรับประกันในคุณภาพ