xs
xsm
sm
md
lg

วช.ติดตามผลสาธิตการใช้งานระบบตรวจสอบการบุกรุกตามแนวชายแดน จ.ตราด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ตราด - วช.ลงพื้นที่ติดตามผลสาธิตการใช้งานระบบตรวจสอบการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยระบบเซ็นเซอร์ที่ฐาน ฉก.นย.182 พร้อมเพิ่มศักยภาพและพัฒนาใช้กับการตรวจสอบทางน้ำที่แม่น้ำโขง

วันนี้ (17 พ.ค.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงาน ได้มอบหมายให้ รศ.ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ประธานคณะผู้ตรวจสอบทางวิชาการกลุ่ม เรื่องสังคมไทยไร้ความรุนแรง ปี 2566 และ น.ส.สตตกมล เกียรติพานิช ผู้อำนวยการ กองบริหารทุนวิจัยและนวัตกรรม 2 เป็นตัวแทนเดินทางลงพื้นที่หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินที่ 182 บ้านหาดเล็ก ต.หาดเล็ก อ.คลองใหญ่ จ.ตราด

เพื่อติดตามประเมินผลและร่วมสังเกตการณ์การสาธิตการใช้งานระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดนด้วยเซ็นเซอร์ ตรวจวัดการสั่นสะเทือน และเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติ ที่มี พล.อ.ต.จิรชัย ผุดผ่อง รองเจ้ากรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เป็นหัวหน้าโครงการ

น.ส.สตตกมล เผยว่า วช.ได้ให้งบประมาณกับกรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกลาโหม เพื่อศึกษามิติของสังคมและความมั่นคง ด้วยการวิจัยเครื่องเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวที่อยู่ในมิติโครงการสังคมไทยไร้ความรุนแรง ประชาชนมีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

และผลจากการทำเครื่องมือในการตรวจจับครั้งนี้ ได้ประโยชน์ในการปฏิบัติอย่างดี ทั้งในเรื่องการหลบหนีเข้าเมือง และการขนสินค้าหนีภาษี และสามารถลดความรุนแรงได้ โดยเครื่องมือที่ผลิตมีประสิทธิผลที่น่าพอใจในการทำงานสูง แต่ยังอยากเห็นการพัฒนาและต่อยอดในสภาพพื้นที่อื่นๆ ด้วย


ขณะที่ พล.อ.ต.จิรชัย กล่าวว่า โครงการดังกล่าวได้พัฒนาระบบตรวจจับการบุกรุกตามแนวชายแดน โดยใช้โครงข่ายสื่อสารระยะไกล LoRa ที่มีคุณสมบัติกินพลังงานต่ำ ใช้เซ็นเซอร์วัดการสั่นสะเทือนและเซ็นเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวแบบอัตโนมัติเพื่อให้ระบบมีความถูกต้องแม่นยำ เพื่อสนับสนุนแผนบริหารจัดการชายแดนสร้างเครือข่ายเฝ้าระวัง และมีระบบตรวจการณ์ปัญหาความมั่นคงบริเวณช่องทางสัญจรข้ามแดน รวมทั้งพื้นที่ชายฝั่งทะเลเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

“สำหรับการออกแบบวางระบบและติดตั้งโครงข่ายสื่อสารสำหรับเฝ้าตรวจแนวชายแดน ได้ออกแบบการวางระบบโครงข่ายสื่อสาร โดยเฉพาะพื้นที่ใน จ.ตราด และจันทบุรีที่มีสภาพเป็นภูเขา ซึ่งมีการลักลอบเข้าเมืองและลักลอบขนสินค้าหนีภาษีอยู่จำนวนมาก โดยการตรวจจับการเคลื่อนไหวของมนุษย์และมีประสิทธิภาพสูง รวมทั้งอุปกรณ์ตรวจจับมีความคงทนต่อสภาพแวดล้อมเป็นอย่างดีโดยเฉพาะในเรื่องน้ำ”

อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์มีจุดอ่อนอยู่ที่พลังงานที่ตัวเซ็นเซอร์จะต้องมีการเปลี่ยนในทุกช่วงการทำงานต่อรอบงาน 6 เดือน เนื่องจากอุปกรณ์มีจุดอ่อนที่การไม่สามารถใช้ในพื้นที่เปิดได้ และจะใช้ได้เฉพาะช่องทางธรรมชาติ และในพื้นที่ที่มีภูมิประเทศใกล้เคียงกันรอบชายแดนไทยเท่านั้น ส่วนทางน้ำจะได้มีการพัฒนาและนำมาใช้ที่แม่น้ำโขงต่อไป


ด้าน รศ.ดร.ยงยุทธ กล่าวว่า ระบบที่ทาง วช.ให้ทุนวิจัยครั้งนี้นับว่ามีความทันสมัยในการตรวจจับการสั่นสะเทือนเหมือนกับที่หลายประเทศได้ดำเนินการ ซึ่งในพื้นที่ จ.ตราด ซึ่งมีช่องทางธรรมชาติเชื่อว่าเครื่องมือนี้จะใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดกำลังพล การดูแลรักษาไม่ลำบาก และยังสามารถทำงานได้ตลอด 24 ชม.






กำลังโหลดความคิดเห็น