ลำพูน - ทั้งผู้ว่าฯ บริษัทเอกชน ชาวบ้านริมทาง เรียงแถวหนุน “โครงการลำพูน ฮีลลิ่ง ทาวน์” วางเสวียนปลูกต้นไม้กลางถนน หลังโดนชาวเน็ตถล่มยับ ยันเพิ่มต้นไม้ ส่งเสริมการเดิน-ศักยภาพชุมชน ต่อยอดโครงการเมืองเดินได้เดินดี จ่อดันเป็นถนนคนเดินพระธาตุเชื่อมพระรอด
ความคืบหน้ากรณีมีการนำเสวียนมาวางปลูกต้นไม้บนถนนรถแก้ว เขตเทศบาลเมืองลำพูน ต.ในเมือง อ.เมืองลำพูน ด้านหลังวัดพระธาตุหริภุญชัยวรมหาวิหาร ตลอดสายยาวกว่า 200 เมตร และเมื่อเรื่องราวถูกนำไปโพสต์เผยแพร่ในโซเชียลฯ ทำให้ชาวลำพูนต่างก็ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันอย่างอื้ออึง
บ้างก็บอกว่าไม่ถูกต้องไม่เหมาะสม บ้างก็บอกว่าความคิดใคร ถามคนลำพูนหรือยัง บ้างก็บอกว่าทำให้ถนนแคบและกีดขวางการจราจร บ้างก็บอกว่าถนนเส้นดังกล่าวมีโรงเรียนอนุบาลตั้งอยู่ทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อนในการรับส่งลูกหลาน
ล่าสุดวันนี้ (7 พ.ค.) อำเภอเมืองลำพูนได้ประสานกับเทศบาลเมืองลำพูนสอบถามข้อเท็จจริงทราบว่าเป็นการดำเนินการตาม “โครงการลำพูน ฮีลลิ่ง ทาวน์” พัฒนาพื้นที่แห่งความสุขกาย สบายใจบนถนนรถแก้วและพื้นที่เกี่ยวเนื่อง สร้างพื้นที่ทดลองเพิ่มพื้นที่สีเขียว ต้นไม้ดูดซับฝุ่นควัน ถนนลดความร้อนของเมือง ปลูกต้นไม้หมายเมือง ส่งเสริมการเดิน
เป็นความร่วมมือระหว่างลำพูน ซิตี้แล็บ กับเทศบาลเมืองลำพูน โดยต่อยอดโครงการเมืองเดินได้เดินดี โดย UDDC จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในรูปแบบ PPP ระยะวลาการดำเนินการ 3 ปี ตั้งแต่ปี 2565-2567 โดยได้สอบถามความคิดเห็นผู้อยู่อาศัยและหน่วยงาน สำรวจพฤติกรรมการใช้ถนน ปรับ ขยับ ยกเลิก ตำแหน่งต้นไม้ตามความประสงค์ของผู้อยู่ในพื้นที่แล้ว
จากนี้จะมีการโปรโมตเป็นถนนคนเดิน พระธาตุ เชื่อม พระรอด ถนนรถแก้วมีศักยภาพเป็นจุดเชื่อม บ้านมีน้อย การจราจรไม่หนาแน่น มีโครงการตลาดบนถนนอยู่แล้ว มีคุณค่าทางสถาปัตยกรรมในย่านเมืองเก่าต่อไปด้วย
นายสันติธร ยิ้มละมัย ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน กล่าวว่า โครงการนี้มีการทำประชาสังคมมานานนับปีแล้ว ซึ่งตนเห็นว่าเป็นโครงการที่ดีแต่อาจจะมีหลายเรื่องเข้ามาเกี่ยวข้องโดยใกล้ช่วงเลือกตั้งด้วย กระนั้นหากกีดขวางการจราจรก็สามารถปรึกษาหารือกันได้ แต่ยังคงยืนยันว่าเป็นเรื่องที่ดีและเกี่ยวข้องกับการปลูกต้นไม้ด้วย
ด้าน น.ส.อัญมณี มาตยาบุญ หัวหน้าฝ่ายสร้างสรรค์ ลำพูน ซิตี้แล็บ กล่าวว่า โครงการมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติและสุขภาพทั้งกายและใจของผู้คน โดยผ่านกระบวนการพูดคุยทั้งเรื่องผิวจราจร การเดินรถ การใช้รถของชาวบ้าน ฯลฯ คนในชุมชนจะได้รับผลกระทบโดยตรงและโครงการได้ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้มาก
ซึ่งผลการดำเนินงานพบว่าแรงต้านมีไม่มาก และจากการทำงานในชุมชนมา 4-5 ปี ทราบว่าทุกคนเข้าใจเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้าใจว่าจะทำอย่างไรให้คนหันมาเดินและใช้รถน้อยลง ส่วนการแสดงความเห็นต่างๆ ถือเป็นข้อมูลฝั่งเดียวซึ่งก็น่าตกใจ ดังนั้นจึงพยายามนำเสนอข้อมูลอีกด้านเพื่อให้ผู้คนเข้าใจทางเพจของลำพูน ซิตี้แล็บแล้ว
น.ส.อัญมณีกล่าวอีกว่า เมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จสิ่งที่เห็นจากการพัฒนาคือมีกิจกรรมใหม่ๆ เช่น ถนนคนเดิน ตลาดนัดทุกวันเสาร์ และเจ้าอาวาสวัดมหาวันวนาราม พระอารามหลวง (พระรอด) จะเมตตาออกมาบิณฑบาตทุกเช้าวันเสาร์แรกของเดือน ฯลฯ โครงการยังต่อยอดโครงการเมืองเดินได้เดินดีซึ่งไม่ใช่แค่เป็นทางเดิน แต่เป็นการเดินไปวัด มีแหล่งซื้อสินค้า ห้องพัก ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่กำลังพัฒนาโดยเอกชน ฯลฯ เพราะพื้นที่นี้ถือว่ามีศักยภาพมาก
ด้านนายทรงศักดิ์ สิทธิตัน อายุ 68 ปี อดีตพนักงานธนาคาร ชาวบ้านอาศัยบนถนนรถแก้ว และเป็นหนึ่งในบ้านจำนวน 5 หลังที่ตั้งอยู่บนถนนรถแก้ว กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า ในส่วนตัวเห็นด้วยกับโครงการนี้ เป็นการต่อยอดจากโครงการลำพูนเดินได้เดินดี เริ่มทำกันตั้งแต่ปี 2565 ต้นไม้ที่นำมาปลูกมีทั้งหมด 12 ต้น เป็นต้นไม้โบราณ เช่น พวา มะริด กระโดน ต้นมะขามป้อม เป็นต้น ทำพิธีปลูกเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมาด้วยความร่วมมือของจังหวัดลำพูน เทศบาลเมืองลำพูน ชุมชน และภาคเอกชน
ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีการจราจรที่ไม่มาก นอกจากนี้ทางโครงการมีแผนที่จะสนับสนุนเยาวชนไปเรียนรู้และกลับมาดูแลรักษาต้นไม้ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม อาจจะมีประชาชนต่างพื้นที่ที่ยังไม่เห็นด้วยกับการที่นำต้นไม้มาปลูกไว้แบบนี้ ซึ่งอาจจะเป็นไปได้ว่ายังไม่ได้รับข้อมูลของโครงการอย่างละเอียดก็เป็นไปได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่สังเกตเห็นได้ว่าถนนรถแก้วมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลเมืองลำพูนอยู่ ซึ่งขณะนี้กำลังเปิดการเรียนการสอน และทางศูนย์ได้ให้ผู้ปกครองไปรับส่งเด็กนักเรียนภายในศูนย์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม จากการสังเกตพบว่าชาวบ้านที่ขับรถสัญจรผ่านไปมาบนถนนรถแก้วที่ขับรถสวนกันต้องขับหลบเว้นรถในช่องว่างระหว่างต้นไม้เพื่อให้รถสามารถขับผ่านไปได้