เชียงราย - เปิดบันทึกครบรอบ 10 ปีแผ่นดินไหวเชียงราย 6.3 ริกเตอร์ บ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างเสียหายนับหมื่นหลัง-ตาย 1 นักวิจัยชี้โอกาสเกิดซ้ำยังมี แต่วันนี้ยังมีอาคารไม่พร้อมรับแรงสั่นสะเทือนรอบใหม่ในอนาคตอีกอื้อ
ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการ สำนักงานวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ มูลนิธิมดชนะภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดประชุมสัมมนาทางวิชาการขึ้นระหว่าง 5-7 พ.ค.นี้ เพื่อเผยแพร่ผลงานวิจัยเกี่ยวกับแผ่นดินไหว และศึกษาดูงานสถานที่ที่เกี่ยวข้อง ในโอกาสที่ครบรอบ 10 ปี เหตุการณ์แผ่นดินไหวรุนแรงเมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2557 ด้วยความแรงขนาด 6.3 ริกเตอร์ มีศูนย์กลางที่ ต.ดงมะดะ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
และนอกจากจะถ่ายทอดผลงานวิจัยแล้วยังไปศึกษาดูงานในสถานที่ที่เกี่ยวข้อง เช่น อาคารตึกอุบัติเหตุฉุกเฉิน 14 ชั้น โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ซึ่งติดตั้งระบบตรวจสอบความคงทนของอาคารเมื่อเกิดแผ่นดินไหว เป็นต้น
ดร.เป็นหนึ่ง วานิชภัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติ กล่าวว่าแผ่นดินไหวที่แม่ลาวเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้บ้านเรือนเสียหายเป็นจำนวนมากและมีผู้เสียชีวิต จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมรับมือซึ่งอันดับแรกคือต้องมีความเข้าใจในแผ่นดินไหว จึงต้องมีการศึกษาวิจัยซึ่งได้ดำเนินการติดต่อกันมาหลายปีภายใต้การสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ วช.กระทั่งสามารถจัดตั้งศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติได้เป็นเวลาประมาณ 1 ปีแล้ว
ทั้งนี้ ยอมรับว่าตลอดระยะเวลา 10 ปีหลังเกิดแผ่นดินไหวที่ อ.แม่ลาว การดำเนินการก่อสร้างและปรับปรุงอาคารบ้านเรือนจำนวนมากเพื่อรองรับแผ่นดินไหวยังมีอยู่น้อย หลายแห่งมีมาก่อนกฎหมายใหม่จะบังคับใช้ ดังนั้นศูนย์วิจัยแผ่นดินไหวแห่งชาติจึงได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปปรับปรุงอาคารต้นแบบ เช่น ปรับเสาที่เล็กให้มีขนาดใหญ่มากขึ้น เป็นต้น
รายงานข่าวแจ้งว่า ในการบรรยายและเผยแพร่ผลงานวิจัยของ ดร.เป็นหนึ่ง พบว่าในประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่เรียกว่า "รอยเลื่อนเคลื่อนตัวต่ำ" อย่างน้อย 14 รอยและอาจจะมีอีกซึ่งยังหาไม่พบ และรอยเลื่อนจะค่อยๆ สะสมพลังโดยอาจจะเคลื่อนขึ้นมาหลังจาก 1,000 ปี และในรอบ 200-300 ปีสามารถเคลื่อนตัวจนมีความแรงขนาด 6.5-7.5 ริกเตอร์ได้
ซึ่งแผ่นดินไหวที่เกินกว่า 5 ริกเตอร์เกิดขึ้นหลายครั้งและไม่ใชเรื่องแปลก คือวันที่ 13 พ.ค. 2478 ที่ จ.น่าน ขนาด 6.5 ริกเตอร์ วันที่ 17 ก.พ. 2528 ที่ อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ขนาด 5.6 ริกเตอร์ วันที่ 15-22 เม.ย.ที่ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี วัดได้ 5.3,5.9 และ 5.2 ริกเตอร์ วันที่ 11 ก.พ. 2537 ที่ อ.พาน จ.เชียงราย วัดได้ 5.1 ริกเตอร์ วันที่ 9 ธ.ค. 2538 ที่ อ.ร้องกวาง จ.แพร่ วัดได้ 5.1 ริกเตอร์ วันที่ 21 ธ.ค. 2538 ที่ อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ วัดได้ 5.2 ริกเตอร์ วันที่ 22 ธ.ค. 2539 ที่พรมแดนไทย-สปป.ลาว-เมียนมา วัดได้ 5.5 ริกเตอร์ วันที่ 16 พ.ค. 2550 ที่ สปป.ลาว ใกล้ จ.เชียงราย วัดได้ 6.3 ริกเตอร์ วันที่ 24 มี.ค. 2554 ที่ประเทศเมียนมาใกล้ จ.เชียงราย วัดได้ 6.8 ริกเตอร์
กระทั่งแผ่นดินไหวครั้งใหญ่วันที่ 5 พ.ค. 2567 พบมีบ้านเรือนเสียหายกว่า 10,000 หลังคาเรือน โดยมีความเสียหายรุนแรงจำนวน 400 หลังคาเรือน ถล่มล้มลงมาอีก 20 หลังคาเรือนหรือมากกว่านั้น มีผู้เสียชีวิต 1 ราย วัด 99 แห่ง โบสถ์คริสต์ 7 แห่ง โรงเรียน 35 แห่ง มหาวิทยาลัย 1 แห่ง สถาบันพยาบาล 25 แห่ง โรงงานอุตสาหกรรม 6 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ถนน 5 สาย สะพาน 1 แห่ง ฯลฯ
สภาพพื้นที่พบว่ามีการออกแบบอาคารบ้านเรือนที่ไม่รองรับรอยเลื่อนแม่ลาว-รอยเลื่อนพะเยา ที่เกิดการสั่นไหวดังกล่าว เช่น เสาต้นเล็กแต่อาคารหลายชั้นซึ่งมีความหนักของคอนกรีตทำให้เกิดภาวะเสาร้าวหรือหักเป็นจำนวนมาก เป็นต้น
ขณะที่ ดร.ธนิต ใจสอาด จากกรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมาได้มีการปรับปรุงระบบกฎหมายใหม่เพื่อกำหนดให้มีการก่อสร้างอาคารบ้านเรือนให้ได้มาตรฐานและกำหนดพื้นที่เสี่ยงเอาไว้ด้วยแล้ว