“โครงการบ้านชื่นสุข” มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท เดินหน้าสร้างสุขผู้สูงอายุ ตอกย้ำ “ความกตัญญู”
วันนี้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) อย่างสมบูรณ์ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย หรือผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีจำนวน 13.64 ล้านคน คิดเป็น 19.5% หรือ 1 ใน 5 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุที่ยังคงทำงานอยู่จำนวน 5.11 ล้านคน คิดเป็น 37.5% ของผู้สูงอายุทั้งหมด การเผชิญหน้ากับ 'สังคมผู้สูงอายุ' จึงนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายเพราะถือเป็นการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากรครั้งสำคัญ
มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ตระหนักถึงสถานการณ์ของสังคมผู้สูงอายุในประเทศไทยมาโดยตลอด จึงได้ขับเคลื่อน "โครงการบ้านชื่นสุข" ต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย เพื่อสนับสนุนเสริมสร้างพลังกายและพลังใจให้ผู้สูงวัย ควบคู่ไปกับการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีแก่ผู้สูงอายุ ให้ก้าวข้ามผ่านความกลัว ความเศร้า และความทุกข์ใจ เกิดความตระหนักและเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข
ธิดา สำราญใจ ผู้บริหารด้านพัฒนาเด็กและเยาวชน มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท กล่าวว่า ผู้สูงอายุถือเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อสังคมและประเทศชาติ เพราะเป็นผู้ที่พร้อมไปด้วยความรู้ ประสบการณ์ คุณวุฒิ และภูมิปัญญา การทำให้ผู้สูงอายุอยู่อย่างมีความสุขในบั้นปลาย โดยต้องมีสุขภาพดีทั้งร่างกายและจิตใจ ได้รับเกียรติ ได้รับการยอมรับ การเห็นคุณค่า ทั้งจากครอบครัวและสังคม ก่อให้เกิดความภาคภูมิใจ ขณะเดียวกัน "ผู้สูงอายุ" ถือเป็นวัยที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่มีการเปลี่ยนแปลง เสื่อมโทรมถดถอยในด้านต่างๆ ทั้งร่างกายและจิตใจ อาจมีโรคภัยที่ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง
“โครงการบ้านชื่นสุข เกิดขึ้นเพื่อพัฒนาฟื้นฟูคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเพียงลำพัง และมีภาวะเสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า แต่ยังสามารถช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันได้ ให้ได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด โดยบุคลากรอาสา เพื่อให้ท่านรับรู้ได้ว่าตนเองยังมีความสำคัญ มีคนห่วงใย พร้อมช่วยดูแล สร้างความอบอุ่นใจให้พวกท่าน เพื่อที่จะต่อสู้กับชีวิตในวัยสูงอายุได้ดีขึ้น และยังถือเป็นการตอกย้ำในเรื่อง “ความกตัญญู” รวมถึงการตอบแทนบุญคุณ รู้จักให้ ที่คนรุ่นลูกรุ่นหลานพึงกระทำ” ธิดา กล่าว
ทางด้านอาจารย์อัญชลี ไก่งาม อดีตรองผู้อำนวยการโรงเรียนป่าแดงวิทยา ต.หัวง้ม อ.พาน จ.เชียงราย ที่ปัจจุบันได้เข้ามาเป็นบุคลากรอาสา ดูแลโครงการบ้านชื่นสุขร่วมกับมูลนิธิ กล่าวว่า โครงการบ้านชื่นสุข เป็นโครงการที่สร้างความสุขให้แก่ผู้สูงอายุอย่างแท้จริง ทำให้ผู้สูงวัยเข้าใจถึงคำว่า “แก่อย่างสง่า ชราอย่างมีคุณภาพ" เพราะสามารถพึ่งพาตนเองได้ และไม่เป็นภาระของสังคม อย่างน้อยโครงการได้ช่วยแบ่งเบาภาระทั้งภาครัฐ และลูกหลานที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ในการดูแลผู้สูงวัยในครอบครัว
“ถึงแม้ผู้สูงอายุบางคนจะมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง แต่ยังต้องการความรัก การเอาใจใส่จากครอบครัวและลูกหลาน จึงอยากเชิญชวนให้ลูกหลานกลับไปเยี่ยมผู้สูงอายุที่บ้านกันบ้าง ไม่ต้องมีเงินทองมากมายมาให้ เพียงแต่มาเยี่ยม มาพูดคุย ให้กำลังใจ อยู่เป็นเพื่อนท่านบ้าง ถือเป็นการสร้างความสุขในบั้นปลายให้แก่ท่านแล้ว” อาจารย์อัญชลี กล่าว
บุญยนุช จันทร์บุญธรรม หรือคุณยายญา ตัวแทนผู้เข้าร่วมโครงการ บอกนิยามของโครงการนี้ว่า “กินอิ่ม นอนอุ่น” เป็นคำพูดที่เข้าใจได้ง่าย และสะท้อนผลสำเร็จ ของโครงการ จากสุขภาพร่างกายที่อ่อนแรง และจิตใจที่อ่อนแอ การได้เข้าร่วมโครงการบ้านชื่นสุข ทำให้ได้ศึกษาธรรมะ ฝึกสมาธิ และทำกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ร่วมกับคนในวัยเดียวกัน คุณยายรู้สึกสนุกและมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาเจอเพื่อนๆ โครงการนี้พลิกฟื้นชีวิตให้กลับมาเป็นปกติ มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง กลับมาทำกับข้าว กวาดบ้านถูบ้านได้ สรุปง่ายๆ ว่า “ช่วยคืนชีวิต คืนความสุขให้ผู้สูงอายุได้ 100%”
โครงการบ้านชื่นสุข ถือเป็นหนึ่งในโครงการที่ตอกย้ำความเชื่อของเครือซีพี ในคุณค่า ‘ความกตัญญู’ ที่สามารถบ่มเพาะให้เติบโตในจิตใจของทุกคน ที่จะกลายเป็นการหยั่งรากสร้างพื้นฐานที่มั่นคงและยั่งยืนในสังคม ซึ่งถือเป็นคุณธรรมที่ดีงามของสังคมไทย