xs
xsm
sm
md
lg

จันทบุรีแล้งหนักกระทบชาวสวนไม่มีน้ำรดต้นทุเรียนจนต้องพึ่งพิธีโบราณ "แห่นางแมวขอฝน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในเขต จ.จันทบุรี ที่ขณะนี้ผลผลิตทุเรียนได้เริ่มทยอยออกสู่ตลาด แต่ปัญหาการขาดแคลนน้ำได้ทำให้ต้นทุเรียนจำนวนมากเริ่มทยอยยืนต้นตาย ส่วนประชาชนทั่วไปไม่มีน้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค

ทำให้ชาวสวนผลไม้บางส่วนต้องปล่อยให้ต้นทุเรียนยืนต้นตายเพื่อรอการปลูกใหม่ทดแทนในช่วงฤดูฝน ขณะชาวสวนบางรายต้องหาเงินจำนวนมากเพื่อซื้อน้ำสำหรับใช้รดต้นรักษาผลผลิตให้ถึงเวลาเก็บเกี่ยว และให้ได้ผลผลิตคุณภาพที่จะออกสู่ตลาดอีกจำนวนมากในช่วงกลางเดือน พ.ค.นี้

โดยชาวบ้านสระบาป ต.คลองนารายณ์ อ.เมืองจันทบุรี ได้รวมตัวกันทำพิธีแห่นางแมวขอฝนตามความเชื่อของคนโบราณ หลังจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงนานจนทำให้น้ำในคลองที่ใช้หล่อเลี้ยงผลผลิตทางการเกษตรเริ่มขาดแคลน และพิธีดังกล่าวได้กระทำกันที่หน้าศาลพ่อปู่เขาสระบาป ที่อยู่ในวัดสระบาปชัยชมภูพล โดยมี น.ส.เกศิณี ภานุวงศ์ เป็นแกนนำชาวบ้าน 

พร้อมบอกว่าเหตุผลที่ต้องทำพิธีแห่นางแมวในช่วงกลางคืน เพราะเวลากลางวันสภาพอากาศร้อน และชาวบ้านส่วนใหญ่ซึ่งเป็นชาวสวนต้องเร่งเก็บผลผลิตมังคุด ทุเรียน และผลไม้อื่นๆ ที่กำลังออกสู่ตลาด


ทั้งนี้ ในอดีตชาวบ้านสระบาปเคยมีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นเมื่อปี 2537 และ 2552 แต่ในขณะนั้นผืนดินยังความชุ่มชื้นจากเขาสระบาป แต่ในปีนี้ที่ฝนทิ้งช่วงยาวนานจนต้องให้ คุณยายสำอาง ผู้สูงอายุประจำหมู่บ้านเป็นผู้นำพิธี และร่วมสวดปลาช่อนซึ่งเป็นตัวแทนของความสมบูรณ์ ที่ปั้นจากดินเหนียวใส่ในถาดที่มีน้ำหล่อเลี้ยง จากนั้นจึงจะสวดชุมนุมเทวดาเพื่อขอพร 

ส่วนแมวที่นำมาประกอบพิธีจะต้องมีความสมบูรณ์ และหลังทำพิธีเสร็จสิ้นจะนำแมวจริงแห่เวียนรอบเจดีย์ของวัด และตั้งขบวนแห่ไปในหมู่บ้าน ซึ่งในช่วงนี้ชาวบ้านจะใช้ตุ๊กตาแมวแทนการใช้แมวจริง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดแก่แมวได้ และยังจะไม่ทำให้แมวทรมานจนป่วย หรือตาย

และในขณะที่นางแมวถูกนำแห่รอบหมู่บ้าน เมื่อผ่านบ้านใครเจ้าของบ้านจะนำน้ำมาสาดใส่แมวที่อยู่ในเข่งใส่ผลไม้ รวมทั้งสาดผู้ร่วมขบวนและกล่าวขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมทั้งร้องเพลงตามความเชื่อ


สำหรับการแห่นางแมวที่ต้องใช้แมวเป็นตัวประกอบสำคัญในการขอฝน เนื่องเพราะคนโบราณเชื่อว่า แมวเป็นสัตว์ที่เกลียดฝน หากฝนตกครั้งใดแมวจะร้องทันที ชาวบ้านจึงถือเคล็ดในการสาดน้ำแมวเพื่อทำให้แมวร้องมากที่สุด โดยเชื่อว่าหลังจากทำพิธีแห่นางแมว ฝนจะตกลงมาตามคำอ้อนวอน เมื่อแห่ครบทุกหลังคาเรือนในหมู่บ้านแล้ว เจ้าของบ้านหลังสุดท้ายที่แมวไปถึงจะต้องเตรียมทำข้าวมัน แกงเป็ด เพื่อนำไปถวายพระภิกษุสงฆ์ในเช้าวันรุ่งขึ้นพร้อมกับนำเงินที่ชาวบ้านร่วมบริจาคถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ เพื่อใช้ในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาต่อไป

ขณะที่การแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งปีของ จ.จันทบุรี ในปีนี้ทางจังหวัดได้บูรณาการทุกภาคส่วนนำรถน้ำ และระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานออกช่วยเหลือผู้ประสบภัย และได้มีการประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติไปแล้วรวม 2 อำเภอ คือ โป่งน้ำร้อน และสอยดาว ส่วนอำเภออื่นๆ กำลังรวบรวมข้อมูลจากท้องถิ่นเพื่อประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัยภัยแล้งต่อไป














กำลังโหลดความคิดเห็น