กาญจนบุรี - ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ชี้มีผู้ลี้ภัยเข้าไทยอย่างต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าไทยได้จะส่งผู้ลี้ภัยสงครามจาก อ.แม่สอด กลับหมดแล้ว แต่ยังมีผู้ลี้ภัยการสู้รบอีกกว่าแสนคนที่กระจายอยู่ทั้งแถบชายแดนและเข้ามาเมืองชั้นใน แนะรัฐบาลต้องเร่งมีมาตรการมารองรับ
จากกรณีการสู้รบระหว่างกองกำลังกะเหรี่ยง KNLA สหภาพกะเหรี่ยง KNU และกองกำลังประชาชน PDF กับทหารพม่า ที่จังหวัดเมียวดี ประเทศพม่า ฝั่งตรงข้ามอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ของไทย รุนแรงต่อเนื่องมากว่าเดือนแล้ว ส่งผลให้มีผู้อพยพลี้ภัยเข้ามาสู่ประเทศไทย
ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ทางไทยจัดพื้นที่ปลอดภัยชั่วคราวรองรับ 5 พื้นที่ คือ ท่าทรายรุจิรา สำนักสงฆ์วังข่า บ้านวังตะเคียนใต้ ท่าข้ามสินค้า 33 และท่าข้ามสินค้า 35 มีผู้ลี้ภัย 3,000 คน ต่อมาทางไทยได้อำนวยความสะดวกส่งกลับโดยสมัครใจหมดแล้ว
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ที่กลับไปเป็นเพียงจำนวนที่อยู่ในที่ควบคุม แต่ผู้ลี้ภัยจริงๆ ที่อยู่นอกพื้นที่ควบคุมมีอีกจำนวนมาก เนื่องจากสถานการณ์ด้านตะวันตกเปลี่ยนไปไม่เหมือนเมื่อก่อน จากเดิมอพยพมาไปกี่วันก็กลับไปได้เอง เพราะการสู้รบมีเพียงประปราย ชั่วคราวระยะสั้นๆ แล้วกลับสู่ความสงบสุข แต่ปัจจุบันเป็นการสู้รบที่ยืดเยื้อยาวนาน และรุนแรงมากขึ้น และไม่มีแนวโน้มที่จะสงบสุขหรือมีสันติภาพในเร็ววัน ทำให้มีผู้ลี้ภัยที่ลี้ภัยถาวรไม่สามารถอยู่ในพื้นที่ได้ เนื่องด้วยไม่สามารถทำกินได้ ระบบการศึกษาล่ม ไม่เปิดการเรียนการสอน พื้นที่อยู่อาศัยมีอันตรายจากการสู้รบ อพยพมาสู่ประเทศไทยจำนวนมากนับแสนคน
ผู้อพยพเหล่านี้ทราบดีว่าไม่สามารถกลับไปสู่ถิ่นฐานเดิมของตนเองได้ จึงอพยพมาทั้งครอบครัว ขนทรัพย์สินทั้งหมดมาด้วย ด้วยหวังจะมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทย ที่สามารถไปประเทศที่สามเมื่อประเทศไทยไม่เปิดให้คนเหล่านี้เข้าสู่ค่ายผู้ลี้ภัยหรือที่พักพิงที่ปลอดภัยได้ คนเหล่านี้จึงไปอาศัยอยู่ตามบ้านญาติ โรงงาน หรือที่ต่างๆ นอกพื้นที่ควบคุมและค่ายผู้ลี้ภัย โดยบางส่วนเข้ามาสู่เมืองชั้นใน เช่น สมุทรสาครซึ่งเป็นพื้นที่มีญาติอยู่แล้ว
แนวโน้มความรุนแรงที่เพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ลี้ภัยเข้ามาไทย และมาประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวเพิ่มมากขึ้นในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เฉพาะในแม่สอดพบว่าเศรษฐกิจที่ควรจะซบเซาตามเศรษฐกิจประเทศกลับเฟื่องฟู มีคนมาซื้อบ้านเรือนและที่ดินเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ยิ่งความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ยิ่งมีผู้อพยพเข้ามาเพิ่มขึ้นอีก
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องมีมาตรการรองรับผู้ลี้ภัยที่อพยพมาอยู่ในประเทศไทยแล้วกว่าแสนคนอย่างเป็นระบบ ไม่ใช่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นดังเช่นในปัจจุบัน โดยการจัดทำทะเบียนคนเหล่านี้ให้ครบถ้วน เปิดโอกาสให้คนเหล่านี้เข้าถึงระบบทะเบียนราษฎรของกลุ่มที่ไม่มีสัญชาติไทย มีนโยบายและมาตรการรองรับคนเหล่านี้ระหว่างอยู่ในประเทศไทยและไม่สามารถกลับประเทศต้นทางหรือไปประเทศที่สามได้
โดยหากเป็นผู้ใหญ่ในวัยทำงาน จะสามารถทำงานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวอย่างถูกต้องได้อย่างไร ในขณะที่ในภาคแรงงานประเทศไทยยังขาดแคลนแรงงานระดับล่างจำนวนมาก เพราะคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้นไม่ทำงานประเภทนี้
ในส่วนเด็กและเยาวชนในวัยเรียนจะสามารถเรียนต่อในระบบการศึกษาไทยอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร แม้ประเทศไทยจะมีมติคณะรัฐมนตรี และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ให้คนทุกคนในประเทศไทยทั้งที่ไม่มีสัญชาติไทยหรือไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎร สามารถได้รับการศึกษาในระบบและนอกระบบถึงขั้นสูงสุดคือปริญญาเอกได้ทุกคน มาตั้งแต่ พ.ศ.2548 แต่ในการปฏิบัติจริงพบว่ามีปัญหาอยู่มาก ทำให้มีเด็กและเยาวชนเข้าไม่ถึงและไม่ได้รับการศึกษานับแสนคน
เฉพาะที่อำเภอแม่สอด พบว่ามีโรงเรียนจำนวนมากไม่รับเด็กที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรเข้าเรียนในสถานศึกษา ซึ่งทางรัฐบาลและสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานต้องสั่งกำชับและลงโทษผู้บริหารที่ไม่ปฏิบัติรับเด็กเข้าเรียนตามกฎหมาย รวมทั้งมีการเทียบวุฒิการศึกษาเพื่อให้เด็กและเยาวชนสามารถเรียนต่อได้โดยไม่ขาดช่วง
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ผู้ลี้ภัยเหล่านี้ต้องสามารถอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้อย่างชั่วคราวตามกฎหมาย และสามารถเดินทางไปทำงานหรือไปเรียนหนังสือได้ เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ รับจ้างขนคน รวมทั้งเจ้าหน้าที่ที่ทุจริตเรียกไถหาผลประโยชน์จากผู้ลี้ภัยเหล่านี้
รัฐบาลต้องยอมรับความเป็นจริงถึงการมีอยู่จริงของคนเหล่านี้กว่าแสนคน และมีมาตรการแก้ไขปัญหาอย่างตรงไปตรงมา นำคนเหล่านี้เข้าสู่ระบบ ยอมรับตัวตน มีเอกสารกำกับเพื่อควบคุมและดูแล จะนำมาสู่ความมั่นคง ทั้งความมั่นคงของประเทศและความมั่นคงของมนุษย์