จันทบุรี - กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ จัดโครงการเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุด @จันทบุรี ตั้งเป้ารับซื้อผลผลิตจากเกษตรกรใน 3 จังหวัดภาคตะวันออก กว่า 24,000 ตัน มูลค่ากว่า 960 ล้านบาท กระจายขายทั่วประเทศ เพิ่มช่องทางจำหน่ายแก้ปัญหาล้นตลาดล้นตลาด กระตุ้นการบริโภคผลไม้ไทย
วันนี้ (27 เม.ย.) กรมการค้าภาย ได้จัดโครงการเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุด @จันทบุรี ที่สหกรณ์การเกษตรเมืองจันทบุรี ซึ่งเกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ และเกษตรกรผู้ปลูกมังคุด ภายใต้มาตรการบริหารจัดการผลไม้เชิงรุกปี 2567 ตามนโยบายของ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่อติดตามสถานการณ์การผลิตและการตลาดผลไม้ฤดูกาลผลิต ปี 2567 ให้สอดรับสถานการณ์อย่างเป็นระบบ
โดยมี นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน และนายมนต์สิทธิ์ ไพศาลธนวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมเป็นประธานปล่อยคาราวานกระจายผลผลิตมังคุด จ.จันทบุรี ตราด และระยอง
และยังเป็นสักขีพยานในการลงนามสัญญาข้อตกลงเกี่ยวกับการรับซื้อสินค้ามังคุดจากเกษตรกร ที่มีนายกรนิจ โน้นจุ้ย รองอธิบดีกรมการค้าภายใน คณะผู้บริหารเเละเจ้าหน้าที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ คณะผู้บริหารเเละเจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี ร่วมกับห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง เข้าร่วม
สำหรับโครงการเชื่อมโยงการรับซื้อมังคุด @จันทบุรี มีจุดประสงค์สำคัญที่การช่วยบรรเทาความเสียหายของผลผลิตและช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนมังคุด ร่วมสร้างรายได้ให้เกษตรกรผู้ปลูกโดยตรง เเละทำให้ผู้บริโภคได้สินค้าสดใหม่และราคาจากสวน
พร้อมการสร้างค่านิยมเพิ่มมูลค่าของผลไม้ไทย ภายใต้การบูรณาการเเบบเชื่อมโยง การจัดทำกิจกรรมยุคใหม่ร่วมกับองค์กรหน่วยงานทั้งภาครัฐเเละเอกชน เพื่อกระจายผลผลิตเชื่อมต่อระหว่างผู้บริโภคให้เกิดการเข้าใจ เข้าถึง เพิ่มช่องทางในการกระจายผลผลิตออกสู่ตลาดนอกแหล่งผลิตได้มากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน เผยว่ากรมการค้าภายในมีเป้าหมายการรับซื้อมังคุดในครั้งนี้กว่า 24,000 ตัน รวมมูลค่ากว่า 960 ล้านบาท รองรับปริมาณผลผลิตที่จะออกมามากหรือล้นตลาด เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบายผลผลิตออกสู่ช่องทางต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น
โดยจะมีการจำหน่ายมังคุดผ่านห้างค้าส่งค้าปลีก ผู้รวบรวม ผู้ส่งออก บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง และการเปิดจุดจำหน่ายในห้างท้องถิ่นทั่วประเทศ รวมทั้งแหล่งชุมชนต่างๆ เพื่อรณรงค์และกระตุ้นให้มีการบริโภคผลไม้เพิ่มมากขึ้น