xs
xsm
sm
md
lg

สสส.โชว์ต้นแบบระบบอาหารในโรงเรียนและชุมชน ดึง 5 จังหวัดพัฒนาระบบอาหารตลอดห่วงโซ่เพื่อความยั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เพชรบุรี - สสส.หนุนโรงเรียน 42 แห่ง และชุมชน 20 แห่งใน 5 จังหวัด ขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชน เน้นย้ำกระบวนการตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของเด็ก เยาวชน และคนในพื้นที่

วันนี้ (26 เม.ย.) ที่ห้องประชุมสวนเพชรริเวอร์วิว รีสอร์ท อ.ท่ายาง จ.เพชรบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสมาคมการค้าธุรกิจอาหาร จัดเวทีสรุปผลการดำเนินงาน ถอดบทเรียนการดำเนินโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชน พร้อมทั้งมอบเกียรติบัตรให้ตัวแทนโรงเรียนและชุมชนต้นแบบ

โดยมีนายภคพัส ส่งวัฒนายุทธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี เป็นประธานพิธีมอบเกียรติบัตรในครั้งนี้ ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่อาหารในโรงเรียนและชุมชน กล่าวว่า การขับเคลื่อนโครงการมีพื้นที่ดำเนินงานใน 5 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปทุมธานี สุพรรณบุรี เพชรบุรี และพัทลุง เพื่อส่งเสริมความรอบรู้ ด้านอาหารเพื่อสุขภาวะ (Food Literacy) ภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน พัฒนาต้นแบบระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ ส่งเสริมการเข้าถึงอาหารเพื่อสุขภาวะของประชาชนในชุมชน พัฒนาและขับเคลื่อนข้อเสนอนโยบายสาธาณะด้านระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชน พัฒนาฐานข้อมูลและแผนภาพเพื่อใช้ขับเคลื่อนและบูรณาการทำงานในกลุ่มเป้าหมาย

ทั้งนี้ เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารในโรงเรียนและชุมชน เด็ก นักเรียน คนในชุมชนได้รับประทานอาหารทที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัย ส่งเสริมตลาดสีเขียวหรือตลาดแบ่งปัน ส่งเสริมสนับสนุนให้มีทักษะในการเพาะปลูกพืชผักปลอดภัยเข้าสู่ครัวอาหารกลางวัน ส่งเสริมการเพิ่มสัดส่วนการบริโภคอาหารสมดุลภายใต้ระบบอาหารที่ยั่งยืน

“ผลจากการดำเนินงานได้เกิดพื้นที่สำเร็จเป็นรูปธรรมต้นแบบการขับเคลื่อนระบบอาหารเพื่อสุขภาวะตลอดห่วงโซ่ จำนวน 62 แห่ง แยกเป็นโรงเรียน จำนวน 42 แห่ง และชุมชน จำนวน 20 แห่ง ซึ่งพื้นที่ต้นแบบทั้งหมดจะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนขยายพื้นที่ในจังหวัดนั้น ให้โรงเรียนหรือชุมชนที่สนใจได้มาศึกษาแนวทางการดำเนินงาน ท้ายสุดแล้วประเทศไทยจะมีความยั่งยืนในเรื่องระบบห่วงโซ่อาหาร” ดร.ณัจยา กล่าว

นายภัคพัส ส่งวัฒนายุทธ รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า โครงการขับเคลื่อนระบบอาหารตลอดห่วงโซ่ในโรงเรียนและชุมชน ถือเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อเด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ในเรื่องของระบบอาหารในพื้นที่ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือมีพัฒนาผลผลิตให้มีคุณภาพ ไม่ใช้สารเคมี มีกระบวนการเก็บเกี่ยว บรรจุภัณฑ์ การแปรรูปที่เหมาะสมปลอดภัย เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชนได้รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ต่อสุขภาพและปลอดภัย

นอกจากนี้ ยังช่วยส่งเสริมให้เกิดตลาดสีเขียว หรือตลาดแบ่งปันในพื้นที่ เกิดการตื่นตัวในการส่งเสริมให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน หันมาปลูกผักเพื่อการบริโภค และจำหน่าย ลดรายจ่ายในครัวเรือน

ทั้งนี้ จ.เพชรบุรี ได้มีการส่งเสริมให้ชาวบ้านและชุมชนผลิตพืชผักอาหารที่ปลอดภัยมาโดยต่อเนื่องอยู่แล้ว โครงการขับเคลื่อนระบบอาหารจึงเข้ามาช่วยส่งเสริมให้แนวคิดการผลิตพืชผักปลอดภัยในพื้นที่ จ.เพชรบุรี เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

ด้าน ดร.สง่า ดามาพงษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ สสส. และผู้เชี่ยวชาญด้านโภชนาการ กล่าวว่า การทำให้อาหารมีความปลอดภัยอย่างมั่นคง ยั่งยืน มีคุณค่าโภชนาการที่เพียงพอจะต้องทำให้ครบทั้งห่วงโซ่ คือ ต้นน้ำ การมาซึ่งอาหารที่เพาะปลูก กลางน้ำ คือการนำอาหารมาแปรรูป และปลายน้ำ คือผู้บริโภค หากเกษตรกรหรือต้นน้ำไม่มีความรู้ทางการเกษตร ผลิตอาหารที่ไม่ปลอดภัย คุณค่าโภชนาการก็น้อย แต่ถ้าเกษตรกรมีการผลิตที่ถูกต้องผลผลิตที่ดีก็จะถึงมือผู้บริโภค

กลางน้ำ ถ้าแปรรูป นำมาประกอบอาหารไม่ดี อาหารนั้นจะกลายเป็นสารพิษทันที เกิดการปรุง หวาน มันเค็ม ส่งต่อการเกิดโรค NCDs และท้ายสุดปลายน้ำ สิ่งที่เราเน้นย้ำมาโดยตลอด คือการให้ความสำคัญการบริโภคเพื่อสุขภาวะ การให้ความรู้ด้านการบริโภคจึงเป็นสิ่งสำคัญ มีความมั่นคง มีค่าโภชนาการ มีความเพียงพอ ต้องทำให้ครบทั้งห่วงโซ่ คือ ต้นน้ำ การมาซี่งอาหารที่เพาะปลูก เอาอาหารมาแปรรูป พร้อมที่จะกินหรือผู้บริโภค

ดร.สง่า กล่าวถึงเหตุผลที่ สสส. มุ่งเป้าหมายที่เด็กว่า เพราะเด็กคือวัยกำลังเจริญเติบโต ต้องได้รับอาหารที่ดีมีประโยชน์และปลอดภัย เพื่อให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ การปลูกฝังให้เด็กมีทักษะการเกษตร ทั้งการกิน การปลูกจะเกิดทักษะติดตัวไปเมื่อเขาเติบโต การเกษตรในโรงเรียนเป็นเรื่องสำคัญ เพราะประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ถ้าคนไทยไม่มีความรู้ด้านเกษตรคือหายนะ นั่นคือเหตุผลของการปลูกฝังให้มีอาหารที่มีประโยชน์บนโต๊ะ

การขับเคลื่อนระบบอาหารให้เกิดความยั่งยืนได้นั้นต้องเริ่มจากการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน ให้ทุกคนรู้สึกว่ามีความเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ใช่ของคนใดคนหนึ่ง หรือแค่ใครได้ผลประโยชน์ นำทุนเดิมในชุมชนมาใช้ให้มากที่สุดทั้งทรัพยากรธรรมชาติและบุคคล เมื่อทุกคนให้เห็นประโยชน์ว่าลูกหลานเขาได้อะไรจากโครงการนี้เขาจะทำต่อไปอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน








กำลังโหลดความคิดเห็น