xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้าน 5 อำเภอเมืองกาญจน์ วอนมูลนิธิสืบฯ ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้านก่อนค้านสร้างอุโมงค์ผันน้ำ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กาญจนบุรี - ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ห้วยกระเจา วอนมูลนิธิสืบฯ ลงพื้นที่พบปะพูดคุยกับชาวบ้าน ก่อนค้านสร้างอุโมงค์ผันน้ำผ่าป่าสลักพระ หากชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้จะเป็นบุญกุศล

จากกรณีกรมชลประทานประกาศเชิญชวนประชาชนชาวกาญจนบุรีเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อย ครั้งที่ 1 งานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี โดยกำหนดจัดขึ้นระหว่าวันที่ 23-26 เม.ย.2567 รวม 6 เวที 

โดยกรมชลประทานได้จัดเวทีประชุมย่อยงานจ้าง สำรวจ ออกแบบ ครั้งที่ 1 เวทีที่ 1 ขึ้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอศรีสวัสดิ์ ต.ด่านแม่แฉลบ อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี เมื่อวันที่ 23 เมษายน โดยในวันดังกล่าวมีผู้นำองค์ปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งผู้นำท้องที่และชาวบ้านจำนวนหนึ่งเข้าร่วม ซึ่งการแสดงความคิดเห็นส่วนใหญ่ไม่คัดค้านโครงการก่อสร้างอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี แต่ทุกคนเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งรัฐบาลให้คำนึงถึงประชาชนชาวอำเภอศรีสวัสดิ์ ที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภคในครัวเรือน รวมทั้งน้ำที่ใช้ภาคการเกษตร

เนื่องจากอำเภอศรีสวัสดิ์เป็นพื้นที่น้ำต้นทุนที่นำไปหล่อเลี้ยงจังหวัดที่อยู่ตามเส้นทางแม่น้ำแม่กลอง รวมทั้งนำไปผลิตน้ำประปาให้ชาว กทม.ได้ใช้อย่างสะดวกสบาย แต่ชาวอำเภอศรีสวัสดิ์กลับต้องได้รับความเดือดร้อนทั้งๆ ที่เป็นผู้เสียสละโดยแท้จริง โดยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันชาวอำเภอศรีสวัสดิ์ได้แต่มองดูน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ แต่ไม่มีปัญญาที่จะนำน้ำดังกล่าวมาใช้ได้เปรียบเสมือนกับหมากำลังนั่งมองเครื่องบินชาวบ้านกล่าว

ล่าสุด วันนี้ (24 เม.ย.) กรมชลประทานได้จัดเวทีประชุมย่อยงานจ้าง สำรวจ ออกแบบ ครั้งที่ 1 เวทีที่ 2 ขึ้นที่หอประชุมที่ว่าการอำเภอห้วยกระเจา อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี มีน.ส.เบญจวรรณ ฟักแก้ว นายอำเภอห้วยกระเจา เป็นประธาน นายชลมธ มงคลศิลป์ วิศวกรโครงการ นายกรกช เหล่านุญชัย วิศวกรโยธา กรมชลประทาน ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานจ้างสำรวจ ออกแบบ โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี

โดยมีบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท ฟรอนเทียร์ เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแทนท์ส จำกัด บริษัท วิศวชาญ 2002 จำกัด บริษัท ฟลัดเวย์ จำกัด และบริษัท ธูว์ บราเดอร์ พาทเนอร์ จำกัด โครงการผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นคู่สัญญากับกรมชลทาน โดยกำหนัดงานสำรวจ ออกแบบให้แล้วเสร็จภายใน 720 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.2566 ถึงวันที่ 4 ก.ย.2568

โดยนายพัชรพล สืบดา กำนันตำบลห้วยกระเจา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอห้วยกระเจา 1 ในผู้เข้าร่วมประชุม ได้กล่าวถึงข้อกังวลในที่ประชุม 2 ประเด็น คือ 1.ข้อห่วงใยเรื่องการที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรออกมาคัดค้านการก่อสร้างโครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ เพราะเกรงว่าหากมีการคัดค้านจะทำให้โครงการดังกล่าวที่ชาวบ้านรอคอยกันมาอย่างยาวนานจะเนิ่นช้าออกไป

ประเด็นที่สองข้อกังวลเกี่ยวกับการเวนคืนที่ดินของประชาชนที่อยู่บริเวณระบบส่งน้ำไปยังพื้นที่รับประโยชน์ ที่มีเขตลำคลองมากถึง 40 เมตร ความยาวตลอดคลองประมาณ 94.2 กิโลเมตร เพราะชาวบ้านที่มีที่ดินที่จะต้องถูกเวนคืน บางรายมีที่ดินไม่กี่ไร่อยู่กินกันมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย และถือว่าเป็นที่มรดกตกทอดกันมา บางรายเป็นที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ เช่น ใบ ภบท.5 จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลให้ความเป็นธรรมกับชาวบ้านเหล่านี้ด้วยการจ่ายค่าเวนคืนในราคาที่เท่าเทียมกัน

จากประเด็นข้างต้นนั้นนายชลเมธ มงคลศิลป์ วิศวกรโครงการไม่ได้ตอบคำถามข้อห่วงในในประเด็นที่ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาคัดค้าน เพราะหน่วยงานที่จะตอบคำถามนี้ได้คือกรมชลประทานและสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.เจ้าของโครงการเป็นผู้ตอบคำถาม แต่ได้ตอบข้อซักเกี่ยวกับข้อกังวลการเวนคืนที่ดินให้รับทราบขั้นตอนจนผู้ที่เข้าร่วมประชุมเข้าใจ จนกระทั่งเวลา 12.00 น.จึงปิดการประชุม

ทั้งนี้ นายพัชรพล สืบดา กำนันตำบลห้วยกระเจา ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอห้วยกระเจา กล่าวว่า โครงการอุโมงค์ผันน้ำจากเขื่อนศรีนครินทร์ เพื่อบรรเทาปัญหาภัยแล้ง จังหวัดกาญจนบุรี ตนมองว่าเป็นโครงการที่ดีมาก เพราะเขตอำเภอห้วยกระเจาและเลาขวัญเป็นเขตเงาฝนที่มีความแห้งแล้งซ้ำซากจนได้รับการขนานนามว่าอีสานตะวันตก หากโครงการนี้สำเร็จจะสามารถช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎรได้อย่างมหาศาล

และวิธีการขุดเจาะอุโมงค์ผ่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระนั้นมันเจาะลึกลงใต้ผิวดินมากถึง 500 เมตร ดังนั้นจึงอยากจะขอวิงวอนไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกลุ่มคัดค้นขอให้ดูข้อเท็จจริงว่ามันเดือดร้อนอย่างไรขนาดไหน เพราะส่วนตัวแล้วผมมองแบบชาวบ้าน การขุดเจาะใต้ดินมากถึง 500 เมตรมันไม่น่าจะได้รับผลกระทบอะไรมากมาย อย่างมากได้ยินแค่เสียงระเบิดที่ทำให้ดินสะเทือนเท่านั้น ซึ่งมันอาจจะใช้เวลาแต่มันไม่ได้ไปฆ่าสัตว์ที่ไหน และมันไม่เหมือนกับการตัดถนนผ่านป่า อย่างเช่นป่าเขาใหญ่เขายังตัดถนนผ่านป่าได้เลย

ดังนั้น ส่วนตัวอยากให้กลุ่มที่กำลังคัดค้านขอให้ดูที่ข้อเท็จจริง และยิ่งปัจจุบันนี้เขต อ.ห้วยกระเจา เลาขวัญ และบ่อพลอย กำลับประสบกับปัญหาภัยแล้งอย่างหนัก แล้งขนาดเรียกได้เลยว่าแผ่นดินจะลุกเป็นไฟอยู่แล้ว ซึ่งถ้าโครงการนี้สำเร็จจะช่วยชาวบ้านได้อย่างมหาศาล ขณะนี้เรื่องการทำนาทำไร่ไม่ต้องไปพูดถึงเฉพาะน้ำที่จะใช้ในการอุปโภคบริโภคยังไม่มีเลย แหล่งน้ำบางแห่งก็แห้งขอดไปหมดแล้ว

สุดท้ายนี้อยากจะฝากไปถึงมูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่า อยากให้ลงมาดูพื้นที่ อ.ห้วยกระเจาและเลาขวัญ เพราะว่าบางทีท่านอยู่ตรงโน้นจึงไม่เข้าใจในบริบทพื้นที่ตรงนี้ แต่การที่พวกตนอยู่ตรงนี้ จึงเข้าใจในบริบทเป็นอย่างดี ซึ่งการหวงแหนทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าเราเข้าใจได้ ซึ่งหากทางมูลนิธิต้องการให้พวกเราชาวบ้านไปช่วยอีกทางหนึ่งเราพร้อมที่จะไปช่วย แต่ว่าหากมาคัดค้านไม่ให้ทำโครงการอุโมงค์ผันน้ำ ชาวบ้านทั้ง 5 อำเภอจะเสียผลประโยชน์กันหมด และที่ผ่านมาเขาจะอยู่กันแบบยากลำบากอยู่แล้ว ดังนั้นจึงอยากให้ทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรช่วยลงมาพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่สักครั้งก็ยังดี ลองมาคุยกันดูว่าเหตุผลของชาวบ้านกับของทางมูลนิสืบเป็นเป็นอย่างไร แต่ถ้าทางมูลนิธิสืบไม่มาพบปะพูดคุยกับชาวบ้านให้เข้าใจ วันหน้าผมกับชาวบ้านจะขอไปพบท่านเอง เพราะจะได้เอาเหตุผลของแต่ละฝ่ายมาชี้แจงให้ได้เข้าใจกัน

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องขอขอบคุณ กรมชลประทาน และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช.รวมทั้งรัฐบาล ที่ช่วยผลักดันโครงการนี้ขึ้นมา แต่ติดอยู่ที่มูลนิธิสืบนาคะเสถียรว่าจะคัดค้านไปถึงขนาดไหน และหากโครงการสำเร็จชาวบ้านทั้ง 5 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี จะลืมตาอ้าปากได้ทางมูลนิธิจะได้บุญกุศลไปด้วย










กำลังโหลดความคิดเห็น