xs
xsm
sm
md
lg

สมุทรสงครามเตรียมจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำต่อเนื่องเป็นปีที่ 20

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สมุทรสงคราม - อบจ.สมุทรสงคราม ร่วมกับ อบต.นางตะเคียน และวัดใหม่บางปืน จัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ ต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 คาดมีผู้ร่วมงานหลายพันคน

วันนี้ (23 เม.ย.) นายนพพล ธนิกุล รองนายก อบจ.สมุทรสงคราม นายญาณทัธ สิริวัฒน์ วัฒนธรรม จ.สมุทรสงคราม นายสุภาพล ศิริไกรวัฒนาวงศ์ ท่องเที่ยวและกีฬา จ.สมุทรสงคราม พระมหาจรูญ ฐานกาโร เจ้าอาวาสวัดใหม่บางปืน และนายสมจิต จริยประเสริฐสิน นายก อบต.นางตะเคียน ได้ร่วมแถลงข่าวจัดงานสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ ที่กำหนดจัดขึ้นวันที่ 30 เม.ย.67 และวันที่ 1 พ.ค.67 ที่วัดใหม่บางปืน

นางสมจิต จริยประเสริฐสิน นายก อบต.นางตะเคียน กล่าวว่า สมุทรสงครามเป็นจังหวัดหนึ่งที่มีบรรพชนชาวลาว หรือผู้ลาวดั้งเดิมได้อพยพมาอยู่และมีลูกหลานผสมกลมกลืนกับคนในพื้นที่จนเป็นชนกลุ่มใหญ่ที่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตัวเอง และยังคงรักษาไว้ให้ลูกหลานอย่างมั่นคง ประกอบกับวัฒนธรรมดังกล่าวเป็นที่สนใจของนักท่องเที่ยว อบต.นางตะเคียน จึงร่วมกับ อบจ.สมุทรสงคราม และวัดใหม่บางปืน จัดทำโครงการสืบสานวัฒนธรรมประเพณีไทยทรงดำ ซึ่งประกอบด้วยการแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ และการฟ้อนรำซึ่งเป็นภูมิปัญญาและวิถีชีวิตของคนลาวดั้งเดิม

โดยวันที่ 30 เม.ย.67 เวลา 16.00 น. จะมีพิธีแห่ผ้าห่มพระ ด้วยผ้าทอสีเหลืองความยาว 123 เมตรเท่าจำนวนปีการตั้งเป็น จ.สมุทรสงคราม และรำไทยทรงดำถวายพระศรีศากยมุณี พุทธโคดม พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่วัด เวลา 17.00 น. มีพิธีเจริญพระพุทธมนต์ธัมจักรกัปปวัตนสูตร ส่วนวันที่ 1 พ.ค.67 ตั้งแต่เวลา 19.00 น.เป็นต้นไป เป็นการชุมนุมและร่วมร้องรำกับพี่น้องชาวไทยทรงดำที่เดินทางมาจากจังหวัดต่างๆ เช่น ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม อยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สุโขทัย เชียงใหม่ และสมุทรสงครามนับพันคน พร้อมกันนี้ ยังจัดให้มีการแสดงกลางแจ้งด้วยการร่ายรำที่เรียกว่า “เล่นคอนรำแคน” เพื่อสืบสานวัฒนธรรมชาวไทยทรงดำอีกด้วย

สำหรับกลุ่มชนชาว “ไทยทรงดำ” หรือ “ไทยโซ่ง หรือลาวโซ่ง” มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในเมืองแถง หรือแถน เป็นเมืองใหญ่ของแคว้นสิบสองจุไท ปัจจุบันคือจังหวัดเดียนเบียนฟู ประเทศเวียดนาม โดยเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว ชาวไททรงดำได้อพยพมาตั้งรกรากในประเทศไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2321 สมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี และครั้งที่ 2 สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 ปี พ.ศ.2378 และทรงโปรดเกล้าฯ ให้ไปตั้งภูมิลำเนาอยู่ที่เมืองเพชรบุรี เนื่องจากมีภูมิประเทศเป็นป่าเขาเหมือนกับถิ่นฐานเดิม ต่อมาชาวไทยทรงดำได้ย้ายถิ่นฐานไปทำมาหากินในที่อื่นๆ เช่น นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี พิจิตร ชุมพร และสุราษฎร์ธานี เป็นต้น

ส่วนการเล่นคอนรำแคนนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้หนุ่มสาวต่างหมู่บ้านได้มีโอกาสพบปะพูดคุยทำความรู้จักกัน หรือหาผู้ถูกตาต้องใจมาเป็นคู่ครอง สำหรับ จ.สมุทรสงคราม มีชาวไทยทรงดำอพยพมาตั้งถิ่นฐานประมาณ 1,000 กว่าครอบครัวใน ต.ดอนมะโนรา อ.บางคนที และ ต.นางตะเคียน อ.เมืองสมุทรสงคราม โดยวัดใหม่บางปืน เป็นวัดเดียวของ จ.สมุทรสงครามที่มีการจัดงานสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีชาวไทยทรงดำ และจัดขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี และครั้งนี้นับเป็นปีที่ 20










กำลังโหลดความคิดเห็น