ศูนย์ข่าวขอนแก่น-3 คณะ ม.ขอนแก่น เทคนิคการแพทย์-เศรษฐศาสตร์-สถาปัตย์ฯร่วมพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวอัจฉริยะต้นทุนต่ำ สำหรับผู้ป่วยติดเตียงในชุมชน เบื้องต้นผลิตเตียงต้นแบบส่งให้ผู้ป่วยใน 2 ชุมชนนำไปใช้จริง จำนวน5เตรียมผลักดันสู่วิสาหกิจชุมชนผลิตเพื่อจำหน่ายราคาไม่แพงช่วยแบ่งเบาภาระผู้ดูแล
มีรายงานว่า ภายใต้โครงการ CIGUS (C – community, I – industry, G – government, U – university, S – society) คณะเศรษฐศาสตร์ คณะเทคนิคการแพทย์ และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข)ได้ประสานความร่วมมือทำโครงการพัฒนาส่งเสริมการผลิตเตียงพลิกตัวต้นทุนต่ำ ราคาประมาณ 10,000 บาท สำหรับผู้ป่วยติดเตียง โดย นำองค์ความรู้จากมหาวิทยาลัย เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในชุมชนในมิติสาธารณสุข สังคม และเศรษฐกิจ เริ่มต้นโครงการนำร่องในพื้นที่ 2 ชุมชน ได้แก่ ตำบลบ้านโต้นและตำบลหนองแวง อ.พระยืน จ.ขอนแก่น โดยเตียงทำจากไม้ ติดตั้งที่ปรับระดับเตียงไว้บนแผ่นไม้อัด เพื่อช่วยปรับระดับสูงต่ำของเตียง อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วย
ศ.ดร.วิชัย อึงพินิจพงศ์ อาจารย์คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดเผยถึงโครงการดังกล่าว เริ่มจากมีแนวคิดพัฒนาเตียงอัจฉริยะช่วยลดแผลกดทับในผู้ป่วย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยสูงวัยและผู้ดูแลคนป่วย พร้อมกับพัฒนาทักษะช่างให้สามารถนำมาพัฒนาต่อยอด สร้างงาน และ สร้างรายได้เข้าสู่ชุมชน ซึ่งช่างที่ทำเตียงก็จะเป็นช่างภายในชุมชน หรือในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำหรับเตียงพลิกตัวชุดแรกที่ผลิตนั้นได้นำไปมอบให้กับเทศบาลตำบลบ้านโต้น จำนวน 3 เตียง และเทศบาลตำบลหนองแวง อีกจำนวน 2 เตียง พร้อมกับอบรมให้ความรู้และวิธีการใช้เตียงพลิกตัวอย่างถูกต้อง
ภายหลังการติดตามการใช้งานพบว่า เตียงช่วยพลิกตัวและลดแผลกดทับดังกล่าว มีประโยชน์ทั้งผู้ป่วย ผู้ดูแล และชุมชน โดยเตียงพลิกตัวจะช่วยป้องกันแผลกดทับในผู้ป่วยที่ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป รวมถึงคนป่วยที่มีภาวะอ่อนแรงไม่สามารถพลิกตัวเองได้ เพราะเตียงนี้แค่กดปุ่มก็ตะแคงได้ ผู้ดูแลจะทำงานง่ายขึ้น หรือถ้าไม่มีคนดูแล ผู้ป่วยก็กดปุ่มแล้วเตียงตะแคงเองได้ ส่วนผู้ดูแลที่อาจเป็นญาติ และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) รวมถึงผู้ดูแล Caregiver เตียงอัจฉริยะนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการดูแลผู้ป่วยลง ทำให้ไม่เป็นภาระมากจนเกินไป และสามารถนำเวลาส่วนนี้ไปทำประโยชน์และสร้างรายได้จากงานส่วนอื่น ๆ
ศ.ดร.วิชัย บอกอีกว่า ในพื้นที่สองตำบลนี้ มีผู้ป่วยติดเตียง 22 คน แต่ในช่วงแรกสามารถจัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยติดเตียง 5 คนเท่านั้น ซึ่งอนาคตคาดว่าผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้น โดยแบ่งได้เป็นผู้สูงอายุที่แข็งแรง 80% อีก 10% เป็นภาวะอ่อนแรง แล้วก็อีก 10% ติดเตียงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่อหนึ่งเตียงประมาณ 10,000-15,000 บาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับรายละเอียดของแบบเพื่อให้เตียงในเวอร์ชั่นใหม่ สอดรับกับการใช้งานได้เป็นอย่างดี เช่น ปรับความสูงของเตียงให้ต่ำลง รวมถึงปรับขนาดของเตียงเพื่อให้เคลื่อนย้ายเข้าบ้านในชุมชนได้
ด้าน ผศ.ดร.สุรกานต์ รวยสูงเนิน อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า ประเด็นหลักของการออกแบบเตียงจะคำนึงถึงสภาพจิตใจผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อนเป็นลำดับแรก โดยพยายามลดภาระผู้ดูแล และให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตัวเองให้มากที่สุด ซึ่งจะนำไปสู่การมีสภาพจิตใจที่ดีขึ้น เมื่อผู้ดูแลลดภาระลงจากที่เคยพลิกตัวทุก 2 ชั่วโมง ก็เปลี่ยนมาเป็นแค่ช่วงเวลาหลัก ๆ ได้แก่ ตอนทานอาหาร ทำความสะอาดร่างกาย ขนาดของเตียงที่ออกแบบ
ในแรกเริ่ม คิดที่จะพัฒนาเป็นขนาด S M L เพื่อให้สอดรับกับผู้ป่วยที่มีความแตกต่างกัน แต่เพราะเป็นช่วงแรกจึงพัฒนาเป็นขนาด L ทำให้พบข้อจำกัดการเคลื่อนย้ายเตียงเข้าสู่ภายในบ้าน ในระยะต่อมาจึงปรับขนาดลดลงเป็น 900x2 เมตร จากเดิมขนาด 1.2 x 2 เมตร มีต้นทุนการผลิตประมาณ 15,000-20,000 บาท โดยใช้วัสดุไม้แปรรูปที่หาซื้อได้จากร้านวัสดุก่อสร้างทั่วไป เช่น ไม้ยางพารา และไม้เนื้อแข็ง ซึ่งจะรับน้ำหนักผู้ป่วยได้มากถึง 200 กิโลกรัม
นายชัยชาญ เพชรสีเขียว ตัวแทนกลุ่มผู้ผลิตเตียงในชุมชน กล่าวว่า ภายหลังจากได้รับเตียงอัจฉริยะที่ทาง มข. ส่งมาให้ผู้ป่วยในชุมชนก็ได้เริ่มเข้าไปให้ความรู้ถึงวิธีการใช้งานกับผู้ป่วยติดเตียงว่าเตียงนี้มีข้อดีคือ มีปุ่มให้กด สามารถนั่ง เอนซ้าย เอียงขวาได้ ซึ่งส่งผลดีทั้งต่อผู้ป่วยที่ช่วยให้อากาศถ่ายเท และไม่เกิดแผลกดทับ รวมถึงแบ่งเบาภาระของผู้ดูแลด้วย ขณะเดียวกันก็เริ่มบอกกล่าวถึงช่างในหมู่บ้านที่ส่วนหนึ่งทำงานประจำและบางส่วนที่ว่างงาน ให้ได้รับทราบถึงโครงการนี้ รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่อไป.