xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.ฟ้องไล่ผู้เช่าพ้นเขตรถไฟฯ หลังดื้อแพ่งไม่ยอมย้ายออก ทำรถไฟเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราชล่าช้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - การรถไฟฯ ฟ้องขับไล่ หลังผู้เช่าจำนวนหลายสิบรายไม่ยอมย้ายออกจากพื้นที่ ส่งผลให้การก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงสายกรุงเทพฯ-โคราชล่าช้าออกไปอีก 3.92%


วันนี้ (9 เม.ย.) ผู้สื่อข่าวได้ลงพื้นที่บริเวณอาคารพาณิชย์ริมถนนมุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครราชสีมา พบว่าเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำแบริเออร์ มากั้นบริเวณหน้าอาคารพาณิชย์ทั้ง 35 คูหาไว้ ภายหลังจากที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ขอคืนพื้นที่อาคารพาณิชย์ 35 คูหา ด้านทิศตะวันตกของสถานีรถไฟนครราชสีมา ริมถนนมุขมนตรี ฝั่งตรงข้ามโรงเรียนมารีย์วิทยา เพื่อดำเนินการโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ระยะที่ 1 กรุงเทพมหานคร-นครราชสีมา สัญญาที่ 3-5 ช่วงสถานีโคกกรวด ถึงสถานีนครราชสีมา ซึ่งเป็นที่ดินของ รฟท.และมีเอกชนเช่าช่วงก่อสร้างเป็นอาคารพาณิชย์ แต่ผู้เช่าส่วนหนึ่งอ้างอยู่อาศัยมานานกว่า 35 ปี ไม่ยอมย้ายออก พร้อมกับพยายามต่อรองขอค่าขนย้ายด้วย

ต่อมา รฟท.จึงได้นำป้ายประกาศไปติดหน้าอาคารที่มีข้อพิพาท ระบุ “รฟท.ได้ทำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าลงวันที่ 25 มิถุนายน 2565 ขอแจ้งให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของผู้ให้เช่า และให้ส่งมอบพื้นที่คืนในสภาพเรียบร้อยภายในวันที่ 5 มีนาคม 2567 หากไม่ดำเนินการจะใช้สิทธิ์ดำเนินการฟ้องขับไล่เรียกค่าเสียหายต่อไป” พร้อมทั้งได้นำแบริเออร์ไปปิดกั้นด้านหน้าอาคารไว้




ต่อมาช่วงก่อนครบเงื่อนเวลาผู้เช่าพื้นที่ดื้อแพ่ง 3 ราย ได้ขนย้ายทรัพย์สินออกก่อนครบเงื่อนเวลา เหลือผู้เช่า 2 รายไม่ยอมออก ส่งผลให้บริษัท กิจการร่วมค้า เอสพีทีเค จำกัด ซึ่งเป็นผู้รับจ้าง พบปัญหาไม่สามารถนำเครื่องจักรกลเข้าไปปรับพื้นที่ส่วนหนึ่งเป็นแนวเขตก่อสร้างสถานีรถไฟความสูง 3 ชั้น ให้บริการรถไฟความเร็วสูงและรถไฟทางคู่ จึงต้องชะลอการรื้อถอนออกไปก่อน โดยพนักงาน รฟท.ที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในอาคารสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ ได้ย้ายวัสดุอุปกรณ์มาไว้อาคารชั่วคราวด้านข้าง

รวมทั้งผู้รับจ้างได้ทยอยย้ายอาณัติสัญญาณของรถไฟทางคู่เดิม มาติดตั้งที่ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งเป็นสำนักงานชั่วคราว เพื่อเตรียมรื้อถอนอาคารสถานีเก่าอายุกว่า 80 ปี เร็วๆ นี้

ขณะที่ความคืบหน้าล่าสุด เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 67 เจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมาย รฟท.ได้นัดผู้เช่าอาคาร 35 คูหา มาทำบันทึกสละพื้นที่เช่าและการครอบครองสิ่งปลูกสร้างในที่ดินดังกล่าว เพื่อให้ผู้รับจ้างสามารถเข้าพื้นที่ทำการรื้อถอน ปรากฏว่ามีผู้เช่า จำนวน 10 รายไม่ได้มาทำบันทึก ส่วนผู้เช่า 2 รายที่ไม่ย้ายออกไปตามนัด ไม่ยอมทำบันทึกแต่อย่างใด แม้ว่าฝ่ายกฎหมายพยายามชี้แจงขอความร่วมมือก็ไม่เป็นผล ทาง รฟท.จึงได้มอบหมายให้ผู้รับจ้างนำป้ายไปติดประกาศรื้อถอน และขนย้ายทรัพย์สินพร้อมบริวารทั้งหมดออกจากพื้นที่ภายใน 7 วัน นับจากวันที่ติดประกาศ


สำหรับที่มาของที่ดินรถไฟของผู้เช่า 35 คูหานั้น เมื่อปี 2532 นายทุนจากกรุงเทพมหานคร ได้ขอเช่าที่ดินผืนดังกล่าวเพื่อก่อสร้างอาคารพาณิชย์ เนื่องจากอยู่ย่านชุมชนใจกลางเมืองโคราช จึงมีผู้เช่าประกอบการค้า ทั้งตลาดสด ห้างสรรพสินค้า ห้างทอง ร้านอาหาร โรงภาพยนตร์ ร้านขายของชำ สำนักกฎหมาย ร้านซ่อมรถจักรยานยนต์ และร้านขายอุปกรณ์การเรียนการสอน เป็นต้น ต่อมามีการเปลี่ยนการครอบครอบขายสิทธิ์ต่อกันโดยเซ้งกิจการไปคูหาละ 6-8 แสนบาท

จนกระทั่งรัฐบาลมีเมกะโปรเจกต์รถไฟความเร็วสูง และรถไฟทางคู่ เข้ามาในตัวเมืองนครราชสีมา รฟท.จึงไม่ต่อสัญญา พร้อมขอคืนพื้นที่ ซึ่งผู้เช่าส่วนใหญ่ก็ให้ความร่วมมือด้วยดี


โดยตรวจสอบพบผู้เช่ากว่า 10 รายไม่จ่ายค่าเช่านานหลายปี มียอดค้างสะสมรวมหลายแสนบาท ซึ่ง รฟท.ได้เรียกเก็บหนี้ที่ค้างชำระ ส่วนผู้เช่าที่จ่ายครบจะคืนค่าประกันสัญญาเช่าพื้นที่คูหาละ 35,000 บาท ส่วนผู้เช่า 2 รายที่ดื้อแพ่ง รฟท.ได้ยื่นฟ้องให้ศาลจังหวัดนครราชสีมาขอออกหมายบังคับคดีขับไล่ พร้อมให้จ่ายค่าใช้ประโยชน์ที่ดินด้วย

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ทาง รฟท.ได้แจ้งผลงานสะสมถึงสิ้นเดือน มี.ค. 67 สร้างไปแล้ว 10.61% ล่าช้ากว่าแผนงาน 3.92%.


กำลังโหลดความคิดเห็น