สมุทรสงคราม - สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม แจ้งเกษตรกรปลูกลิ้นจี่ได้รับความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุที่ลิ้นจี่ไม่ติดผลในปี 2567 ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่ไม่มีรายได้ หวั่นถูกโค่นทิ้งทำให้พื้นที่ปลูกลดลง
นายประสิทธิ์ สิงห์ชา เกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาลิ้นจี่ซึ่งเป็นผลไม้ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสงครามในเรื่องของความอร่อยให้ผลผลิตไม่คงเส้นคงวา โดยบางปีให้ผลผลิต บางปีก็ไม่ให้ผลผลิต เช่น ปีนี้ไม่ให้ผลผลิตเลย เนื่องจากสภาพอากาศช่วงเดือนธันวาคมและมกราคม ซึ่งเป็นช่วงที่ลิ้นจี่ต้องการอากาศเย็นเพื่อแทงช่อดอก แม้จากการสำรวจในพื้นที่หลายตำบลช่วงนั้น เช่น ต.เมืองใหม่ ต.แควอ้อม ต.บางสะแก ต. บางกุ้ง และ ต.บางพรม ซึ่งเป็นแหล่งปลูกลิ้นจี่ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสงคราม พบว่ามีการออกดอกแต่ดอกไม่สมบูรณ์ จึงร่วงหล่นจนหมดไม่ติดผลและแตกใบอ่อนแทน
ยังมีปัจจัยอีกหลายสาเหตุที่ทำให้ลิ้นจี่ไม่ให้ผลผลิต เช่น จากปรากฏการณ์เอลนีโญทำให้สภาพอากาศแปรปรวนโลกร้อนขึ้น เพราะลิ้นจี่จะติดผลต่อเมื่ออากาศเย็นต่ำกว่า 18 องศาเซลเซียสติดต่อกันอย่างน้อย 5 วันขึ้นไป อีกทั้งลำต้นสะสมอาหารไม่เพียงพอ เป็นต้น จึงทำให้เกษตรกรขาดรายได้ บางรายจึงตัดสินใจโค่นต้นลิ้นจี่ทิ้งทำให้พื้นที่ปลูกลดลงจากเดิมจากเคยมีนับหมื่นไร่ ปัจจุบันเหลือ 5,117 ไร่ แล้วหันไปปลูกพืชอย่างอื่นทดแทน เช่น มะพร้าวน้ำหอม และส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ ที่ให้ผลผลิตที่ดีกว่า
นายประสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงครามได้เสนอทางจังหวัด สมุทรสงครามให้ช่วยส่งเสริมการอนุรักษ์พันธุ์ลิ้นจี่ กับให้มีการชดเชยรายได้ให้ชาวสวนลิ้นจี่เป็นทางออกเพื่อช่วยเหลือค่าปุ๋ย ค่าดูแลรักษาต้นในปีที่ลิ้นจี่ไม่ให้ผลผลิต เนื่องจากเกรงว่าต้นลิ้นจี่จะถูกโค่นทิ้งจนหมด และอาจทำให้ลิ้นจี่ผลไม้ที่มีชื่อเสียงในเรื่องความอร่อยของจังหวัดสมุทรสงครามจะสูญพันธุ์ จังหวัดสมุทรสงครามจึงได้มอบหมายให้สำนักงานเกษตรจังหวัดศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลตามหนังสือสภาเกษตรจังหวัด จึงได้นำเสนอผู้บังคับบัญชาในลำดับต่อไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม หากมีการช่วยเหลือค่าชดเชย เกษตรกรที่จะได้รับการช่วยเหลือ จะต้องเป็นผู้ที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเท่านั้น แต่ปัจจุบันจากข้อมูลจริง จังหวัดสมุทรสงครามมีครัวเรือนประชาชนรวมกว่า 75,000 ครัวเรือน แต่มีข้อมูลการขึ้นทะเบียน 14,600 ครอบครัวเท่านั้น ซึ่งไม่ครอบคลุมและไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่เกษตรกรไม่มาขึ้นทะเบียนอาจเป็นเพราะยังไม่เกิดผลกระทบที่รุนแรงจึงไม่เห็นความสำคัญของการขึ้นทะเบียนก็เป็นได้
ดังนั้น จึงขอให้เกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนได้ที่สำนักงานเกษตรอำเภอที่ใกล้บ้าน เนื่องจากต่อไปหากทางราชการจะมีการช่วยเหลือชดเชยกรณีใดๆ จะพิจารณาเฉพาะเกษตรกรรายที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรเท่านั้น โดยสามารถแจ้งขึ้นทะเบียนพืชที่ปลูกไว้ ตั้งแต่อายุ 15 วันขึ้นไป และแจ้งพื้นที่ทำการเกษตรตามความจริงให้เป็นปัจจุบันด้วย