xs
xsm
sm
md
lg

พังไม่เป็นท่า! ที่จอดเรืออัจฉริยะเมืองพัทยาละลายงบนับร้อยล้าน เสียหาย 15 ปีไม่มีใครรับผิดชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ศูนย์ข่าวศรีราชา -
โทษพิษ “หว่ามก๋อ” ทำโครงการที่จอดเรืออัจฉริยะเมืองพัทยาพังพินาศ ขณะผลสอบใครต้องรับผิดชอบ 15 ปีไม่คืบหน้า ทำงบแผ่นดินนับร้อยล้านบาทละลายลงทะเล วันนี้เมืองพัทยาฮึดสู้ร้องศาลปกครองสูงสุด เอาผิดผู้ออกแบบอีกครั้ง

อีกหนึ่งโครงการใหญ่ระดับประเทศที่เมืองพัทยาฝากความหวังในการยกระดับการจัดระเบียบเรือท่องเที่ยวกว่า 800 ลำ ให้เป็นต้นแบบการส่งเสริมท่องเที่ยวทางน้ำ ซึ่งเดิมทีใช้ลานอเนกประสงค์ท่าเทียยบเรือบาลีฮาย พัทยาใต้ เป็นที่จอด แต่กลับประสบปัญหาเรื่องความสกปรกจนส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยว

กระทั่งในยุค คสช.ได้มีการระดมกำลังพลเข้าจัดระเบียบด้วยการออกคำสั่งให้ย้ายเรือทั้งหมดออกจากลานอเนกประสงค์ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวสามารถใช้งานได้อย่างเต็มที่ และผลักดันให้เรือทั้งหมดย้ายไปจอดใน “โครงการที่จอดเรือพัทยา” ซึ่งเมืองพัทยาตั้งงบประมาณการก่อสร้างดังกล่าว 300 ล้านบาท เพื่อให้เป็นที่จอดเรือแบบไฮดรอริกซึ่งจะสามารถรองรับเรือได้กว่า 300 ลำ

และได้กำหนดแผนงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 โดยว่าจ้างทีมที่ปรึกษา คณะอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญจากกิจการร่วมค้า Ping เข้าดำเนินงานและกำหนดสเปกการก่อสร้าง ทั้งแนวกันคลื่น กันลม และที่จอดเรือมาตรฐาน เพื่อให้เกิดความสวยงามและเป็นระเบียบ รวมทั้งยกระดับให้เป็นท่าเรือที่มีความทันสมัยที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย

โดยเมืองพัทยายังมีแผนที่จะพ่วงการจัดสร้างอาคารที่จอดรถแบบใหม่ขึ้นที่หน้าท่าเทียบเรือแหลมบาลีฮาย และกำหนดให้มีลักษณะเป็นไฮดรอริกที่สามารถยกรถขึ้นไปเก็บไว้ด้านบน ซึ่งงบประมาณโดยรวมทั้ง 2 โครงการมีมูลค่ารวมกว่า 733 ล้านบาท และโครงการนี้ได้มีการส่งมอบงานไปแล้วตั้งแต่เดือน พ.ย.2556


แต่สุดท้ายกลับพบว่าจะมีเพียงอาคารจอดรถเท่านั้นที่ยังพอเปิดให้งานได้ ส่วนท่าจอดเรือที่มีแผนให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย กลับยังไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริง อีกทั้งยังปล่อยให้มีสภาพชำรุดทรุดโทรมลงอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการเรือระบุว่า สาเหตุที่ไม่สามารถนำเรือเข้ามาจอดจุดที่เมืองพัทยากำหนดให้ได้ เป็นเพราะก่อนหน้าที่โครงการจะแล้วเสร็จ ได้มีการทดลองนำเรือเข้ามาจอดในท่าและยกเรือด้วยระบบไฮดรอริก แต่กลับไม่สามารถรองรับและใช้งานจอดเรือได้จริง

พร้อมเรียกร้องให้เมืองพัทยาควรศึกษาและสอบถามความคิดเห็นจากผู้ประกอบการก่อนออกแบบ เพราะเป็นผู้ใช้งานจริง นอกจากนั้นยังพบปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของตะกอนทรายใต้น้ำ ซึ่งได้รับการกล่าวอ้างจากผู้ดำเนินโครงการว่า สาเหตุที่ท่าจอดเรืออัจฉริยะไม่สามารถเปิดใช้งานได้จริงเพราะปัญหาภัยธรรมชาติคือ “พายุหว่ามก๋อ” ที่ได้สร้างความเสียหายต่อโครงการอย่างหนักในช่วงปี 2558 จนทำให้โครงการเกิดการพังเสียหาย และอุปกรณ์ชำรุดเกินกว่า 50%

และสุดท้ายยังไม่มีการแก้ไขปัญหาใดๆ ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องต่างโยนความผิดกันไป จนกลายเป็นปัญหาคาราคาซังมาจนถึงปัจจุบัน กระทั่งมีการตั้งคณะกรรมการจากหลายฝ่ายขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งในส่วนของ ป.ป.ช. และ สตง.


ขณะที่สภาเมืองพัทยาเคยนำเสนอเป็นญัตติเพื่อของบปรมาณซ่อมแซม แต่สุดท้ายไม่มีการอนุมัติงบประมาณในการซ่อมแซมท่าเรือที่เสียหาย เพราะเกรงว่าจะถูกสังคมมองว่าใช้งบประมาณไปเอื้อผู้ประกอบการที่ไม่เข้ามาดำเนินการแก้ไขรับผิดชอบโครงการที่เสียหายไป

และแม้ในยุค คสช. ที่ได้รับการแต่งตั้งเข้ามาบริหารราชการเมืองพัทยา จะได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกหนึ่งชุดเพื่อสำรวจความเสียหาย และข้อเท็จจริงว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุของภัยธรรมชาติ หรือปัญหาเรื่องของหลักทางวิศวกรรม โดยขอความร่วมมือจาก 3 หน่วยงานหลักด้านวิศวกรรมทะเลและชายฝั่ง จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กองทัพเรือ และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมแกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง ที่เข้ามาร่วมตรวจสอบ

และได้มีการเปิดเผยจาก พ.ต.ต.อนันต์ เจริญชาศรี นายกเมืองพัทยาว่า ผลสอบเสร็จสิ้นโดยแยกความผิดออกเป็น 2 ประเด็นคือ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าข่ายการละเมิด ผิดพลาด ปล่อยปละละเลยโดยไม่เปิดใช้งานจริง ก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินราชการ และส่วนที่สองคือ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ

แต่จนถึงปัจจุบันเรื่องดังกล่าวเงียบหายเข้ากลีบเมฆเช่นเดิม และยังยังคงมีภาพของเศษวัสดุทุ่นลอยไปถูกกองทิ้งไว้เหมือนกองขยะไม่ต่างจากโครงการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งชาติภาคตะวันออก


ทั้งนี้ มีรายงานว่าปัจจุบันเมืองพัทยาได้ส่งเรื่องฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง เพื่อเอาผิดกับบริษัทผู้ออกแบบให้กลับมารับผิดชอบกรณีที่เกิดความเสียหาย โดยระบุว่าการออกแบบไม่รัดกุม แต่ล่าสุดศาลปกครองกลางได้พิพากษาออกมาแล้วว่าผู้รับจ้างไม่มีความผิดต่อความเสียหายของโครงการที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะความผิดจากการออกแบบโครงสร้างของโครงการตามที่เมืองพัทยาฟ้องร้อง

ทำให้เมืองพัทยาจำเป็นที่จะต้องทิ้งสภาพโครงการและวัสดุไว้ก่อนชั่วคราว เพื่อรอผลการพิจารณาใหม่ โดยเมืองพัทยายืนยันที่จะขอต่อสู้ต่อไปตามขั้นตอนของกฎหมาย และได้ยื่นอุทธรณ์และส่งเรื่องฟ้องร้องต่อไปยังศาลปกครองสูงสุดแล้ว หลังจากนี้จึงต้องจับตากันให้ดี




กำลังโหลดความคิดเห็น